ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การผลิตและเผยแพร่สื่อ

การผลิตสื่อ

นับตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้เร่งผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ศท.) ได้วางแผน ผลิต และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยาลัยราชสุดา (มหาวิทยาลัยมหิดล), ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), สมาคม / มูลนิธิต่างๆ ด้านคนพิการ เป็นต้น เพื่อผลิตและเผยแพร่สื่อเสริมการเรียนการสอนและสื่อเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัยสำหรับคนพิการทุกประเภท โดยเน้นสื่ออิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่มคนพิการแต่ละประเภท เช่น หนังสือเสียง หนังสืออักษรเบรลล์และภาพนูน รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ รายการวีดิทัศน์ เป็นต้น
ศท. ได้เริ่มผลิตสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการเมื่อกลางปี 2542 และเริ่มเผยแพร่สื่อชุดแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม 2543 นับถึงปัจจุบันนี้ หน่วยงานได้ดำเนินการผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการไปแล้วจำนวนมาก เช่น

  • หนังสือเสียงรูปแบบซีดี MP3 ผลิตแล้วมากกว่า 4,000 รายการ (รายการละ 30 นาที)
  • สื่อภาพนูน ประกอบหนังสือเรียนหรือหนังสือเสียง
  • รายการวีดิทัศน์/โทรทัศน์
  • รายการวิทยุเพื่อคนพิการ ผลิตและออกอากาศโดยสถานีวิทยุศึกษา
  • หนังสืออักษรเบรลล์ ผลิตและเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ
นอกจากนี้ หน่วยงานยังได้เผยแพร่ข่าวสารข้อมูลด้านสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการผ่านเว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ และจดหมายข่าวสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการด้วย ซึ่งภายในเว็บไซต์ ผู้สนใจสามารถรับชม-รับฟังรายการวีดิทัศน์ และหนังสือเสียงออนไลน์ได้
ในอนาคต การผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการยังคงดำเนินการต่อไป โดยจะพัฒนารูปแบบสื่อให้เหมาะสมกับสภาพความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น 

 

การเผยแพร่กระจายสื่อ

  1. วิธีการเผยแพร่
    การเผยแพร่กระจายสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการของ ศท. มีหลายวิธีการตามความเหมาะสมกับสื่อที่มีรูปแบบหลากหลาย ดังนี้
  • สื่อประเภทรายการวิทยุและรายการโทรทัศน์ นำออกอากาศทางสถานีวิทยุ/สถานีโทรทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์บางรายการอาจนำมาจัดทำสำเนาเป็น CD และ VCD เผยแพร่โดยตรงด้วย
  • หนังสืออักษรเบรลล์ ให้บริการสื่อในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายนำไปจัดพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ที่สามารถขอรับบริการได้จากศูนย์การศึกษาพิเศษเขต 13 แห่งทั่วประเทศ คือที่ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง นครปฐม ยะลา สงขลา ตรัง สุพรรณบุรี ลพบุรี พิษณุโลก เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมาและชลบุรี
  • สื่อรูปแบบอื่นๆ ได้แก่ หนังสือเสียง และรายการวีดิทัศน์ เมื่อผลิตต้นฉบับเสร็จแล้ว จะให้บริการรับชมผ่านทางเว็บไซต์ฯ และสำเนาต้นฉบับจำนวน 500-550 ชุด เพื่อจัดส่งไปยังหน่วยงานเครือข่ายทั่วประเทศ แห่งละ 1-3 ชุดตามความเหมาะสม เพื่อใช้เป็นต้นฉบับในการสำเนาเพิ่มเติมสำหรับการเผยแพร่ไปยังหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายในความรับผิดชอบของหน่วยงานปลายทางนั้นๆ และสำหรับบริการกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
  • สื่อรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ และสื่อรูปแบบต่างๆ ที่ได้จัดออกอากาศ และ/หรือสำเนาเผยแพร่ไปยังหน่วยงานเครือข่ายแล้ว จะมีบริการสำเนาแก่ผู้สนใจทั่วไปที่ส่วนจัดการทรัพยากร ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา โทร. 0 2354 5730-40

2.  หน่วยงานเครือข่ายหลักที่ ศท. จัดส่งสื่อให้
  •  ศูนย์การศึกษาพิเศษเขต/ประจำจังหวัด รวม 77 แห่ง
  • สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาค/สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด (รวมกรุงเทพฯ) และศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ รวมกว่า 200 แห่ง
  • ห้องสมุดประชาชนจังหวัด และห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" รวมประมาณ 200 แห่ง
  • สถานศึกษาเฉพาะความพิการ เช่น โรงเรียนสอนคนตาบอด, โรงเรียนสอนคนหูหนวก, โรงเรียนศึกษาพิเศษ เป็นต้น - มูลนิธิ/สมาคม/ชมรม/ห้องสมุดเพื่อคนพิการต่างๆ เช่น สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ, มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดฯ,สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย, ชมรมคนหูหนวกต่างๆ, สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึ่ม (ไทย), ฯลฯ
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น วิทยาลัยราชสุดา, สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ, สำนักส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการ, หอสมุดแห่งชาติ เป็นต้น
 
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก