ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เกี่ยวกับเรา

แนวคิดและความเป็นมา

 

ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคนพิการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้สิทธิและโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ทุกคนมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 วรรคสองและสาม ยังได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า "การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญาอารมณ์ สังคม การสื่อสาร และการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแล หรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ การศึกษาสำหรับคนพิการในวรรคสอง ให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"
คนพิการมีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจที่จำเป็นต้องอาศัยการจัดการศึกษารูปแบบพิเศษ ตลอดจนสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อเสริมการเรียนรู้ รูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยทดแทนความบกพร่องของคนพิการแต่ละประเภทอย่างเหมาะสมและตรงกับสภาพและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม พบว่า ในปัจจุบัน สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ยังขาดแคลนสื่อและเทคโนโลยีการศึกษาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ ที่จะช่วยส่งเสริมให้คนพิการได้พัฒนาการเรียนรู้ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อจำกัดสำคัญนี้ส่งผลให้คนพิการต่างๆ ไม่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป ตลอดจนไม่ทันต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา
รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ปี 2542 เป็น “ปีการศึกษาเพื่อคนพิการ” และได้พยายามที่จะเร่งรัดการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการให้กว้างขวางทั่วประเทศ รวมทั้งได้เร่งขจัดปัญหาและข้อบกพร่องนานัปการ อันเป็นสิ่งกีดขวางการพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการ การพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีการศึกษาสำหรับคนพิการเป็นความพยายามอีกด้านหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและเร่งรัดให้ดำเนินการโดยด่วน เนื่องจากเล็งเห็นว่า สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของคนพิการ ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน ตลอดจนการศึกษาตามอัธยาศัย ได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในด้านการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ การศึกษายังสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกสถานที่ ไม่ได้จัดเฉพาะในโรงเรียนเช่นในอดีตเท่านั้น ดังนั้น สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาสำหรับคนพิการจึงนับเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งที่จะช่วยให้การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการทั่วถึงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 

 

จุดเริ่มของส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ (สสพ.) ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

สืบเนื่องจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ และความสำคัญของสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการข้างต้น ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ศท.) ในฐานะหน่วยงานที่มีความรู้ความชำนาญด้านการผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการและกรมการศึกษานอกโรงเรียนให้เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษารูปแบบต่างๆ เพื่อเสริมการเรียนการสอนทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ และเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย สำหรับคนพิการทุกประเภท อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ ศท. จึงได้จัดตั้งส่วนส่งเสริมการผลิตสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ (ชื่อเดิม) หรือ สสพ. ขึ้นเป็นการภายใน และได้มอบให้ สสพ. เร่งพัฒนา ผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษารูปแบบต่างๆ สำหรับคนพิการทุกประเภท ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา

สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการที่ สสพ. ผลิต

 

กฎกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดความหมายของคำว่า สื่อ และคำที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
  • สื่อ หมายถึง วัสดุ อุปกรณ์เครือข่ายเทคโนโลยี หรือเครื่องมือที่ช่วยให้คนพิการเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม
  •  สิ่งอำนวยความสะดวก หมายถึง อุปกรณ์ เครื่องมือ โครงสร้าง สถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อม ที่ช่วยให้คนพิการแต่ละประเภทได้รับการศึกษาโดยสะดวกและสอดคล้องตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล
ในแผนพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีการศึกษาสำหรับคนพิการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดประเภทสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ออกเป็น 4 ประเภทหลัก คือ
  1. สื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ หนังสือเรียน ชุดการเรียน คู่มือครู คู่มือผู้ปกครอง แผ่นพับ โปสเตอร์ เป็นต้น
  2. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ รายการเทปเสียง รายการวีดีทัศน์ รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) เป็นต้น
  3. สื่อวัสดุ-อุปกรณ์ ได้แก่ บัตรคำ บัตรภาพ บล็อคคำศัพท์ เป็นต้น
  4. สื่อประสม
เนื่องจาก ศท. เป็นหน่วยงานที่มีความรู้ความชำนาญและมีเครื่องมืออุปกรณ์ในการผลิตและเผยแพร่สื่อรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ศท. จึงได้รับมอบหมายให้เน้นการผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการในรูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการที่ สสพ./ศท. ได้ผลิตและเผยแพร่นี้มีหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น
  • หนังสือเสียงสำหรับบุคคลผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งรูปแบบเทปคาสเซ็ท (เดิม) ซีดี MP3 
  • สื่อภาพนูนประกอบหนังสือเสียงหรือหนังสือเรียนสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น
  • รายการวิทยุเพื่อคนพิการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ซึ่งผลิตและออกอากาศโดยสถานีวิทยุศึกษา
  • รายการวีดิทัศน์/รายการโทรทัศน์เพื่อคนพิการประเภทต่างๆ เช่น บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน บุคคลออทิสติก บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา บุคคลที่บกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นต้น
  • สื่ออักษรเบรลล์ ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2546 โดยผลิตและเผยแพร่หนังสืออักษรเบรลล์ผ่านทางเว็บไซต์ฯ เพื่อให้หน่วยงานเครือข่ายปลายทางที่มีความพร้อมสามารถดาวน์โหลดหนังสืออักษรเบรลล์ที่ต้องการมาส่งพิมพ์ และบริการแก่กลุ่มเป้าหมายตามที่ต้องการ
 

 

เว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ

ในการผลิตและเผยแพร่สื่ออักษรเบรลล์นั้น จำเป็นต้องมีการจัดตั้งศูนย์ผลิตสื่ออักษรเบรลล์รวมถึงเว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการขึ้นภายใน ศท. เพื่อใช้เป็นช่องทางในการให้บริการดาวน์โหลดสื่ออักษรเบรลล์รวมทั้งให้บริการข่าวสารข้อมูลด้านสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการทุกรูปแบบสำหรับคนพิการทุกประเภท เว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการยังได้ให้บริการรับชมสื่อออนไลน์ประเภทอื่นๆ สำหรับคนพิการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการด้วย เช่น หนังสือเสียง วีดีทัศน์ รายการโทรทัศน์ เป็นต้น

^ กลับสู่เนื้อหาหลัก