ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คำถามที่พบบ่อย

คำถาม: 
ภารกิจของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาด้านสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ
คำตอบ: 
ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาได้เริ่มงานด้านผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการอย่างจริงจังเมื่อปี 2542 เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเร่งรัดพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการขึ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542 และคณะกรรมการดังกล่าว ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการผลิตสื่อและเทคโนโลยีการเรียนการสอนเพื่อคนพิการ ขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2542 โดยคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้มีอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียนเป็นประธาน มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและนอกกระทรวงศึกษาธิการเป็นกรรมการ และศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาเป็นฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และวางแผนการผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษาสำหรับคนพิการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ตลอดจนรับผิดชอบการผลิตและเผยแพร่สื่อสำหรับคนพิการด้วย สืบเนื่องจากภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบกับในพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ได้ระบุให้ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตสื่อการศึกษาสำหรับคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาจึงได้ขยายการผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษารูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมสำหรับคนพิการอย่างจริงจังนับตั้งแต่ปี 2542 "ปีแห่งการศึกษาเพื่อคนพิการ" จนถึงปัจจุบันโดยได้จัดตั้ง "ส่วนส่งเสริมการผลิตสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ" (ชื่อเดิม) เพื่อรองรับภารกิจดังกล่าว จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาได้ร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการวางแผน ผลิต และกระจายสื่อไปยังกลุ่มเป้าหมายคนพิการทุกประเภท โดยเน้นสื่ออิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่มคนพิการแต่ละประเภท สื่อรูปแบบต่างๆ ที่ได้ผลิตและเผยแพร่ไปจะมีทั้งที่เป็นเนื้อหาวิชาที่เสริมการเรียนการสอนตามหลักสูตรทั้งในและนอกระบบ และเป็นสาระความรู้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันและเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย การเผยแพร่กระจายสื่อมีหลายวิธีการ กล่าวคือ สื่อประเภทรายการวิทยุและโทรทัศน์จะนำออกอากาศเป็นประจำโดยจะเน้นการให้สาระความรู้เกี่ยวกับการศึกษาของคนพิการแก่สังคมในภาพรวม ส่วนสื่อประเภทอื่นๆ เมื่อผลิตต้นฉบับเสร็จแล้วจะนำขึ้นเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการและสำเนาต้นฉบับเพื่อส่งไปยังหน่วยงานเครือข่ายในการเผยแพร่แก่กลุ่มเป้าหมายต่อไป งานด้านการผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการนี้ ศูนย์ฯ ได้ร่วมมือและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ, วิทยาลัยราชสุดา, โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ ของ NECTEC, สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เป็นต้น
คำถาม: 
ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ
คำตอบ: 
ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ คือ ชื่อเว็บไซต์ซึ่งจัดทำโดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ (สสพ.) ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ศท.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กระทรวงศึกษาธิการ โดยเว็บไซต์นี้จะให้บริการสื่อการศึกษาของคนพิการประเภทต่างๆ ได้แก่ สื่ออักษรเบรลล์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับคนตาบอด หนังสือเสียงออนไลน์สำหรับผู้พิการสื่อสิ่งพิมพ์ รายการวีดีทัศน์/โทรทัศน์ออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น บทความวิชาการ งานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาของคนพิการ และจดหมายข่าวของ สสพ. รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการทั้งที่ผลิตโดย สสพ./ศท. และหน่วยงานอื่นๆ
คำถาม: 
ศูนย์ผลิตสื่ออักษรเบรลล์อยู่ที่ไหน ทำอะไร
คำตอบ: 
ศูนย์ผลิตสื่ออักษรเบรลล์ตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ชั้น 4) ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ รับผิดชอบโดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์ฯ นี้ทำหน้าที่ผลิตต้นฉบับหนังสืออักษรเบรลล์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกลุ่มเป้าหมายจำต้องดาวน์โหลดสื่อเหล่านี้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาผ่านเว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ (ศูนย์ฯ นี้ไม่มีบริการพิมพ์และจัดทำสื่ออักษรเบรลล์ออกมาเป็นรูปเล่ม จะให้บริการต้นฉบับอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น)
คำถาม: 
สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการที่ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาผลิตและเผยแพร่มีอะไรบ้าง
คำตอบ: 
ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาผลิตและเผยแพร่สื่อในรูปแบบที่เรียกว่า สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ รายการวีดิทัศน์ หนังสือเสียง สื่อภาพนูน สื่ออักษรเบรลล์ เป็นต้น ส่วนสื่อรูปแบบอื่นๆ เช่น สื่อเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ หรือสื่อประเภทวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นๆ (โปรดติดต่อสอบถามที่สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ หรือ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ)
คำถาม: 
จะขอสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการได้ที่ไหน อย่างไร
คำตอบ: 
ถ้าท่านเป็นคนพิการ ผู้ปกครองของคนพิการ หรือทำงานในสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการ สามารถติดต่อขอรับบริการสื่อได้ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษเขต/ประจำจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด/ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ ห้องสมุดประชาชนต่างๆ หรือหน่วยงานด้านคนพิการใกล้บ้านท่าน ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาเป็นหน่วยงานผลิตต้นฉบับสื่อ แล้วส่งไปให้ศูนย์การศึกษาพิเศษ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด/ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ ห้องสมุดประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่บริการคนพิการต่อไป สำหรับผู้ที่ประสงค์จะขอบริการสำเนาสื่อจากศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (โดยเสียค่าบริการสำเนา) โปรดติดต่อส่วนจัดการทรัพยากร ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กทม. 10400 โทร. 0 2354 5730-40 ต่อ 114, 115
คำถาม: 
หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ต้องทำอย่างไร
คำตอบ: 
หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ท่านสามารถสอบถามผ่านช่องทางติดต่อออนไลน์ของเว็บไซต์ http://www.facebook.com/braille.cet E-mail :braille.cet@gmail.com หรือติดต่อโดยตรงที่ส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ โทร. 0 2354 5730-40 ต่อ 525, 545
คำถาม: 
คำแนะนำในการจัดการส่งพิมพ์หนังสือเบรลล์อิเล็กทรอนิกส์
คำตอบ: 
คำแนะนำในการจัดการส่งพิมพ์หนังสือเบรลล์อิเล็กทรอนิกส์ CET EMBOSSING MANAGER ตามที่ ส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ (สสพ.) ได้ผลิตหนังสือเบรลล์อิเล็กทรอนิกส์และดำเนินการเผยแพร่สื่อเหล่านี้ผ่านทางเว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการตั้งแต่ปี 2545 นั้น สสพ. ได้รับทราบจากกลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับปัญหาและข้อจำกัดในการจัดการการส่งพิมพ์ไฟล์หนังสือเบรลล์ที่ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์หลายประการ อาทิเช่น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากในการส่งพิมพ์ ไม่สามารถตรวจดูต้นฉบับก่อนการส่งพิมพ์ได้ บ่อยครั้งต้องส่งพิมพ์รวดเดียวทั้งเล่มตั้งแต่ต้นจนจบในแต่ละครั้ง โดยไม่สามารถเลือกพิมพ์ซ่อมหรือส่งพิมพ์เฉพาะหน้า/ตอนที่ต้องการได้ ก่อให้เกิดความสับสนที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่สามารถอ่านเบรลล์ได้ในระหว่างการจัดการส่งพิมพ์หนังสือที่มีไฟล์ขนาดใหญ่และแบ่งออกเป็นหลายๆ ตอน ด้วยเหตุนี้ สสพ. จึงได้พัฒนาชุดโปรแกรม CET EMBOSSING MANAGER V1.2.4 ซึ่งเป็นชุดโปรแกรมที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการงานส่งพิมพ์หนังสือเบรลล์อิเล็กทรอนิกส์ของเว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ โดยชุดโปรแกรมนี้ มีความสามารถหลัก 2 ประการ กล่าวคือ ช่วยให้กลุ่มเป้าหมาย/ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงไฟล์เอกสารหรือหนังสือเบรลล์อิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบได้โดยสะดวก สามารถแสดงเนื้อหาของหนังสือเบรลล์ได้หลายรูปแบบตามความสามารถในการอ่านเบรลล์ของผู้ใช้งาน อำนวยความสะดวกในการจัดการการส่งพิมพ์หนังสือเบรลล์อิเล็กทรอนิกส์ และสามารถรองรับการทำงานกับเครื่องพิมพ์เบรลล์ทุกประเภทที่เชื่อมต่อโดย USB หรือ Pararel port สามารถแปลงไฟล์เอกสารหรือหนังสือเบรลล์ให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อสะดวกต่อการเผยแพร่บริการผ่านทางเว็บไซต์ ได้แก่ การบีบอัดต้นฉบับที่มีหลายตอน การแนบข้อมูลจากสำนักพิมพ์หรือผู้ผลิตต้นฉบับไปพร้อมกับไฟล์เอกสาร การกำหนดสิทธิหรือจำนวนครั้งในการส่งพิมพ์ และอื่นๆในแต่ละไฟล์ การติดตั้งชุดโปรแกรม CET EMBOSSING MANAGER เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ติดตั้งชุดโปรแกรม CET EMBOSSING MANAGER จะต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้ ทำงานภายใต้ระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows และติดตั้ง Microsoft .NET Framework เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านสามารถตรวจสอบว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ของท่านได้มีการติดตั้ง Microsoft .Net Framework แล้วหรือไม่ โดยให้เลือกดูรายการติดตั้งของชุดโปรแกรมบริเวณ Control Panel และ Add/remove program (สำหรับ Microsoft .NET Framework สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีผ่านทางเว็บไซต์ของ Microsoft หรือเลือกที่ตัวเลือกของ Windows Update ที่ปรากฏบริเวณรายการหลักของ Windows) ขั้นตอนการติดตั้ง ตรวจสอบให้แน่ใจว่า ใน Control Panel และ Printer Options มีตัวเลือกของ Generic Text Only driver อยู่ในรายการที่สามารถเลือกได้ ท่านสามารถเลือกที่จะติดตั้ง Driver นี้ก่อนการติดตั้ง CET EMBOSSING MANAGER ได้เช่นกัน (หากไม่พบประเภทของเครื่องพิมพ์ที่เป็น Generic ให้เลือกติดตั้งซ้ำจากแผ่นซีดีของ Windows) และดำเนินตามขั้นตอนการติดตั้งของชุดโปรแกรม ภายหลังจากการติดตั้ง ท่านจะสังเกตเห็น ตัวเลือกของ CET EMBOSSING MANAGER ปรากฏบริเวณรายการหลักของ Windows ดาวน์โหลด CET EMBOSSING MANAGER V1.2.4 และทำการติดตั้ง ถึงแม้ว่า ชุดโปรแกรมนี้จะสามารถทำงานร่วมกับเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ได้ทุกรุ่นและสามารถส่งพิมพ์ต้นฉบับที่มีรูปแบบหน้ากระดาษทั้ง 8.4*11.8 นิ้ว (ขนาด A4) และ 11.5*11 นิ้ว (ขนาดมาตรฐานของหนังสือเบรลล์) ส่วนประกอบของหนังสือเบรลล์อิเล็กทรอนิกส์ของ สสพ. ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย ใช้อักษรเบรลล์มาตรฐาน 6 ตำแหน่ง จำนวน 40 ตัวอักษรต่อบรรทัด, 25 บรรทัดต่อหน้า จัดวางเลขหน้าเบรลล์บริเวณมุมซ้ายบนและเลขหน้าอ้างอิงบริเวณมุมขวาบน เริ่มพิมพ์ที่หัวกระดาษตั้งแต่หน้าที่ 2 บริเวณกึ่งกลางบรรทัดแรกของทุกหน้าจนจบตอน ทั้งนี้ ทางทีมผู้พัฒนาชุดโปรแกรมของ สสพ. หวังว่า CET EMBOSSING MANAGER จะสามารถอำนวยประโยชน์ในการบริหารจัดการการส่งพิมพ์หนังสือเบรลล์อิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ซึ่งตลอดเวลาที่ได้เปิดให้กลุ่มเป้าหมายดาวน์โหลดไปเพื่อทดลองใช้งานนั้น ทางผู้พัฒนาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อการศึกษาของคนพิการทางการเห็น เช่น โรงเรียนสอนคนตาบอดในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้เขียนคู่มือการใช้งานโปรแกรมและใช้ชุดโปรแกรมนี้ในการอบรมเจ้าหน้าที่ในการผลิตสื่อในโรงเรียนตลอดมา ทั้งนี้ แนวทางการออกแบบและพัฒนาชุดโปรแกรมนี้ได้รับการตีพิมพ์และปรากฏในบทความวิชาการ เรื่อง "Using advanced encryption standard to secure the content dissemination of electronic Braille books" ของทีมผู้พัฒนา หากมีข้อสงสัยหรือต้องการให้ข้อแนะนำกับทางทีมผู้พัฒนาชุดโปรแกรม สามารถติดต่อได้ที่ อ. เอกชัย เจริญชัยมงคล โทร. 08-9889-8907 ที่มา:http://www.braille-cet.in.th/Braille-new/?q=braille-print-instruction
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก