ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับ ‘สร้างสังคมไทย ไร้ความรุนแรง : Zero Violence Society’

วันที่ลงข่าว: 04/12/17
          คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ได้จัดการสัมมนาวิชาการขึ้น โดยศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนา นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง และประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรีกล่าวรายงาน
          การสัมมนาครั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความร่วมมือกันทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชนร่วมกันป้องกันการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีปฏิบัติการเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals-SDGs) เป้าหมายที่ ๕ (SDG-5) บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน และเพื่อให้สังคมร่วมจัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรง
          การกล่าวสุนทรพจน์ เรื่อง“พม.กับการสร้างสังคมไทย ไร้ความรุนแรง : Zero Violence Society” โดยพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวว่า “ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกสังคม ทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งต่างก็ตื่นตัว ตระหนัก และให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในสังคมไทย ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เป็นปัญหาที่พบอยู่เสมอ และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเด็ก และสตรี รวมไปถึงผู้สูงอายุ และคนพิการ ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกทำร้ายทารุณ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และเพศ โดยไม่เลือกสถานที่ ทั้งในบ้าน ในโรงเรียน ในสถานที่ทำงาน และแม้แต่ในที่สาธารณะทั่วไป ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวเป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่เกี่ยวพันกับบุคคลใกล้ชิด ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก และสตรี ส่งผลกระทบต่อครอบครัว ทำให้ขาดความอบอุ่น สถาบันครอบครัวมีความแตกแยก ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่ ทำให้เด็กติดยาเสพติด ก่ออาชญากรรมฆ่าตัวตาย การประพฤติผิดทางเพศ มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เป็นปัญหาของสังคมที่รัฐต้องแบกรับและปัญหานี้ยังบั่นทอนการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต
 
ในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมดังกล่าว
          กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และเพื่อให้เป็นไปตาม “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ ๕ คือการบรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน โดยกระทรวงฯได้บรรจุปัญหาดังกล่าวไว้ในนโยบายเร่งด่วน กระทรวงได้มุ่งดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้งกับครอบครัวทั่วไปที่ไม่มีปัญหา ครอบครัวกลุ่มเสี่ยง และครอบครัวที่มีปัญหา โดยได้ดำเนินงานในการยุติหรือแก้ไขปัญหาความรุนแรง ด้วย ๓ แนวทาง ดังนี้
 
๑) การสร้างภูมิคุ้มกันครอบครัวจากความรุนแรง พม.ได้ดำเนินการสร้างความตระหนัก เข้าใจ เข้าถึงสิทธิของประชาชน การรณรงค์ปรับทัศนคติของสังคมและครอบครัว สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และเครือข่ายในการเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัวภายในพื้นที่ การสร้างเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีบทบาทสำคัญในด้านการขับเคลื่อนในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการสร้างความตระหนัก ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงฯ รวมทั้งการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในพื้นที่ชุมชนของตนเอง
 
๒) การคุ้มครองช่วยเหลือ พม.ได้วางระบบงาน และปฏิบัติงานร่วมกับสหวิชาชีพในการคุ้มครองช่วยเหลือครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ คุ้มครองผู้ถูกกระทำให้อยู่ได้อย่างปลอดภัยสงบสุขทั้งในครอบครัวและสังคม พร้อมทั้งบำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำแทนการลงโทษจำคุก เพื่อไม่ให้กลับมากระทำซ้ำอีก เพื่อเป็นหัวหน้าหรือสมาชิกที่ดี ที่รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเองในครอบครัว อันเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว
 
๓) การเสริมพลัง พม.ได้ดำเนินการทางสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ ความช่วยเหลือ อาทิ การติดตามเยี่ยมบ้าน การสร้างอาชีพ รายได้ ให้ความรู้เรื่องสิทธิและกฎหมาย อันเป็นการเสริมสร้างให้ครอบครัวเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และรู้จักถึงสิทธิของตนเองอันพึงมีพึงได้ ในฐานะสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัวและสังคม
 
          วันนี้ การที่เครือข่ายทุกภาคส่วนมาร่วมกันในการประชุมเชิงปฏิบัติการมีความสำคัญอย่างยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า เครือข่ายทุกภาคส่วนเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงดังกล่าว จึงได้มาร่วมรณรงค์ สร้างความตระหนักรู้และความร่วมมือกันป้องกันการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว พม.เพียงองค์กรเดียวไม่สามารถดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้ครบถ้วน จึงให้ความสำคัญกับการบูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานองค์กรภาครัฐและเอกชน ชุมชน ทีมสหวิชาชีพรวมถึงประชาชนทุกคนในสังคม
          พม.ได้ดำเนินการเสริมสร้างความรู้ สร้างความตระหนัก และวางระบบการทำงานร่วมกันโดยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นพื้นฐาน ซึ่งทุกภาคส่วน มีบทบาทสำคัญยิ่ง ประชาชนทั่วไปก็มีบทบาทหน้าที่ในการสอดส่องครอบครัวที่มีปัญหาความรุนแรงฯ รอบบ้านและในพื้นที่ ประสานแจ้งหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยบริสุทธิ์ใจ จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เมื่อรอบบ้านไม่มีความรุนแรง ชุมชนของท่านก็จะมีความสงบสุขด้วย หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องก็มีบทบาทหน้าที่อันสำคัญและโดดเด่นยิ่งในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง โดยการรับแจ้ง ดูแล และคุ้มครองครอบครัวที่ประสบปัญหาความรุนแรง พร้อมทั้งปรับเปลี่ยน แก้ไขครอบครัวเหล่านั้นให้กลับคืนเป็นครอบครัวที่เป็นปกติสุข ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อเป้าหมายอันสูงสุด คือ การสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว การสร้างความสมานฉันท์ และการแก้ไขปัญหาความรุนแรง ทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำความรุนแรง และสมาชิกในครอบครัวที่เกี่ยวข้องสามารถกลับคืนสู่สังคมและเสริมพลังในการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข อันนำไปสู่ความเข้มแข็งมั่นคงของสังคมและประเทศชาติสืบไป
          การเสวนาหัวข้อ “มุมมองในการสร้างสังคมไทย ไร้ความรุนแรง : Zero Violence Society”
          นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ทำหน้าที่พัฒนาศักยภาพสตรีการส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายๆ คนให้ความสนใจ โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว การส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิสตรี การสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัว การคุ้มครองพัฒนาอาชีพ มีกระบวนการในเรื่องที่จะดูแลสตรีให้กับกลุ่มที่ขาดโอกาส เช่น ขาดโอกาสทางด้านการศึกษา ขาดโอกาสทางด้านรายได้ ขาดโอกาสทางด้านทักษะ ฝีมือและอาชีพ ซึ่งมีหน่วยงานที่จะดูแลพัฒนาสตรีที่เกิดปัญหาทางสังคม หรือกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่กระบวนการค้าประเวณี (ซึ่งกลุ่มนี้มีความสำคัญ) ดังนั้น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวจะมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับศักยภาพ การคุ้มครองสิทธิของสตรีและครอบครัว การชดเชยและเยียวยาเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมถึงผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ซึ่งเป็นองค์กรของภาครัฐ
          ปัญหาความรุนแรง ที่ผ่านมาหากอ่านข่าวหรือติดตามข่าวตามสื่อต่างๆจนถึงปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่จัดทำเป็นข้อมูลสถิติไว้ จึงต้องยอมรับว่าข้อมูลสถิติบางครั้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่จริงซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ในเรื่องของการทำงานระดับชาติ ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ เป็นผู้ที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ในเรื่องครอบครัวโดยมี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ (กยค.) โดยมีผู้แทนจากกระทรวงต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นฝ่ายเลขานุการ ได้มีการกำหนดร่างแผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมและประสานงานสถาบันครอบครัว พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ซึ่งกำลังเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีว่าจะมีการขับเคลื่อนอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการในระดับจังหวัด สามารถนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติในพื้นที่ได้ ได้แก่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เป็นฝ่ายเลขานุการ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นกรรมการ งานด้านครอบครับไม่ใช่ว่าหน่วยงานใดจะรับผิดชอบก็ได้จะต้องมีคณะกรรมการที่กำกับดูแลด้วย ซึ่งในระดับพื้นที่จะทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการและศาลร่วมกันทั้งหมด สำหรับในพื้นที่จะมีองค์กรภาคประชาสังคมที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมา เรียกว่า “ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน” เป็นองค์กรของภาคประชาสังคม ซึ่งมีคณะทำงานเป็นบุคคลผู้นำในท้องถิ่น และเป็นคณะทำงานภาคสังคม ทุกภาค เช่น ภาคเอกชน ภาครัฐ จะร่วมเป็นคณะทำงาน
          พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ถือเป็นกลไกที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับการทำงานของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพราะความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาระหว่างบุคคลในครอบครัวที่มีความสลับซับซ้อนซึ่งเป็นปัญหาละเอียดอ่อนซับซ้อนเกี่ยวพันกับบุคคลในครอบครัวที่มีโอกาสในการกระทำความรุนแรงหรือกระทำผิดซ้ำๆ ได้อีก เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน อาชีพการงาน สิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของผู้ถูกกระทำที่เป็นบุคคลในครอบครัว ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีข้อจำกัดในการบังคับใช้หลายประการ ประกอบกับการบังคับใช้มาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ถูกกระทำความรุนแรง และวิธีการฟื้นฟู บำบัดรักษา ควบคุมความประพฤติผู้กระทำความรุนแรงยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ยังไม่สามารถทำให้ผู้กระทำความผิดได้กลับตัวและยับยั้งการกระทำผิดซ้ำได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวไว้ได้ กฎหมายที่มีอยู่ยังไม่สามารถบังคับใช้ให้บรรลุตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวได้ อีกทั้ง ยังไม่มีบทบัญญัติในเรื่องกระบวนการส่งเสริมและพัฒนาสุขภาวะของบุคคลในครอบครัวและความมั่นคงของครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่งของสังคม
 
ที่มาของข่าว http://www.naewna.com/lady/columnist/32874
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก