ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับ ‘สร้างสังคมไทย ไร้ความรุนแรง : Zero Violence Society’

วันที่ลงข่าว: 04/12/17

          และกระบวนการให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวตลอดจนกระบวนการดำเนินคดีและวิธีพิจารณาคดีที่มีลักษณะความผิดฐานกระทำความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว และการกำหนดให้มีมาตรการทางสังคมเกี่ยวกับการส่งเสริม พัฒนา และคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว โดยบูรณาการความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของชุมชน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเด็ก สตรี และสังคมภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยแยกต่างหากจากการใช้มาตรการทางอาญา เพื่อจะนำไปสู่การป้องกัน แก้ไข และบำบัดฟื้นฟู ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวและช่วยเหลือเยียวยาบำบัดฟื้นฟูผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวอย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว อยู่ในชั้นของการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านการเห็นชอบและมีผลบังคับใช้จะทำให้การทำงานเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวโดยเฉพาะศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนสามารถที่จะทำงาน ตามกฎหมายฉบับนี้ได้โดยตรง

           การทำงานของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ไม่ได้ทำงานเพียงหน่วยงานเดียวได้มีการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่เป็นองค์กรภาครัฐ เช่น สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมถึงองค์กรภาคเอกชน จำนวน ๔๓ องค์กร ที่ผ่านมาวิธีการทำงานจะทำการประสานกันระหว่างภายในหน่วยงานเท่านั้น โดยไม่มีการรับรู้ข้อมูลจากประชาชนเท่าที่ควร ดังนั้น ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวจึงต้องการที่จะทำการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น

          กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประชาบดี สายด่วน ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และบริการ การรับเรื่องราวร้องทุกข์ และความเดือดร้อนจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทางสังคมและกลุ่มผู้อยู่ในภาวะยากลำบาก กลุ่มผู้ประสบปัญหาทางสังคม ด้อยโอกาส ให้ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที โดยเป็นศูนย์ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ปัญหาต่างๆ พร้อมดำเนินการประสานงานไปยังหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และติดตามผลเพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการบรรเทา คลี่คลาย และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ซึ่งจะมีศูนย์ปฏิบัติการของกรม (ศปกสค.) ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ โดยในต่างจังหวัดจะมีเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดซึ่งจะรับเรื่องทุกวัน เมื่อพบกรณีปัญหาเกิดขึ้นจริงจะทำการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนชายและหญิงซึ่งมีจำนวนผู้เข้ารับการอบรม มากกว่า ๑,๐๐๐ คน แต่ปัญหาคือเมื่ออบรมเสร็จก็ถูกโยกย้ายไปอยู่หน่วยอื่นและมีผู้ที่ไม่เคยอบรมเข้ามาประจำแทนทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจ

          การรณรงค์ยุติความรุนแรงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในปีนี้เน้นการสื่อสารเป็นลำดับแรก ว่าจะสื่อสารอย่างไรให้ครอบครัวไร้ความรุนแรง มีคำขวัญว่า “หยุดทำร้าย ทำลายครอบครัว” คำที่ครอบครัวไม่อยากได้ยิน เช่น คำว่าไปไหนก็ไป ไปตายซะ ไม่ต้องมายุ่ง น่าเบื่อ น่ารำคาญ ตัวซวย ตัวปัญหา เชื้อพ่อหรือเชื้อแม่แรง ไม่เห็นเหมือนลูกข้างบ้าน ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่พูดกันทุกวันที่ผู้ใหญ่ไม่ได้คิดอะไรแต่คนที่รับฟังคิดมาก จึงมีการรณรงค์ว่าคำเหล่านี้หากหยุดได้จะช่วยกันสร้างสังคมที่ดีขึ้น คำที่ครอบครัวอยากได้ยิน คือ เหนื่อยมั้ย ขอบคุณนะ ไม่เป็นไรนะ ขอโทษ คิดถึงนะ รักนะ คำพวกนี้ผู้ฟังฟังแล้วรู้สึกดี

         นายชาติชาย โฆษิตวัฒนฤกษ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้กล่าวว่า ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมมีความตระหนักถึงปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นจากบุคคลที่ใกล้ชิดกัน หากไม่มีการระงับยับยั้งหรือการทำให้สิ่งเหล่านี้หมดสิ้นไปโดยเร็วตั้งแต่ยังไม่รุนแรงมาก ก็จะมีการพัฒนาไปสู่ความผิดที่รุนแรงยิ่งขึ้นต่อไป เช่น ลูกเห็นพ่อทำร้ายแม่ทุกวัน และในขณะเดียวกันแม่ถูกพ่อทำร้ายทุกวัน อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาฝ่ายชายในเศรษฐกิจ การเลี้ยงดู ก็อดทนไปเรื่อยๆ ก็จะมีความรุนแรงเกิดขึ้น อาจมีความเจ็บแค้นภายในจิตใจรวมทั้งลูกตนเอง วันหนึ่งที่ทนไม่ได้จะบานปลายกลายเป็นคดีทำร้ายร่างกายที่รุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหานี้ทางศาลเยาวชนตระหนักเป็นอย่างดีเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดังนั้น การอบรมสัมมนาผู้พิพากษาที่จะย้ายไปดำรงตำแหน่งในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ตลอดจนผู้พิพากษาศาลเยาวชนทั่วประเทศได้ฝากประเด็นในการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องพระราชบัญญัติผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ให้เป็นข้อพิจารณาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่นอกจากคดีหย่าร้าง หรือคดีเด็กที่กระทำความผิดโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวยังมีหมวดหนึ่งที่เสริมพระราชบัญญัติผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ คือ หมวดว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ ผู้ที่กระทำความรุนแรงในครอบครัวจะถูกดำเนินมาตรการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมายื่นคดีคุ้มครองสวัสดิภาพได้ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว แสดงให้เห็นว่า ตระหนักดีถึงความสำคัญเรื่องนี้ การทำงานของทุกภาคส่วนให้เห็นถึงภัยและตระหนักดีถึงปัญหาในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ในสมัยอดีตที่ผ่านมาเมื่อเห็นสุภาพบุรุษทำร้ายสุภาพสตรี หรือเห็นพ่อตีลูก หรือเรื่องของผัวเมีย จะไม่มีใครกล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะถูกสอนไว้ว่าถ้าผัวเมียตีกันอย่าเข้าไปยุ่ง ถ้าเขาคืนดีกันเมื่อใดเราก็จะแย่ แต่ในสมัยปัจจุบันนี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าพ่อตีลูกรุนแรงเกินไปก็ไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องปลุกเร้าให้สังคมเข้าใจว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญซึ่งจะนำมาถึงปัญหาที่บานปลายต่อไป กฎหมายถึงบัญญัติให้ผู้ถูกกระทำ ผู้กระทำเอง หรือผู้เห็นเหตุการณ์จะต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานทราบเพื่อให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงโดยตรงซึ่งเป็นไปตามกฎหมายอย่างชัดเจน ซึ่งในพระราชบัญญัติผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖ บัญญัติไว้ว่า การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕ อาจกระทำโดยวาจา เป็นหนังสือทางโทรศัพท์ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้พบเห็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือได้รับแจ้งตามมาตรา ๕ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ที่เกิดเหตุ เพื่อสอบถามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือบุคคลอื่นที่อยู่ในสถานที่นั้นเกี่ยวกับการกระทำที่ได้รับแจ้ง รวมทั้งให้มีอำนาจจัดให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ และขอรับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวประสงค์จะดำเนินคดีให้จัดให้ผู้นั้นร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าผู้นั้นไม่อยู่ในวิสัยหรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ร้องทุกข์แทนได้

          พระราชบัญญัติผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ มีหลักการที่สำคัญ คือ ต้องการให้ผู้กระทำสำนึกที่ตัวเองทำไม่ถูกต้อง และรู้จักยับยั้งชั่งใจที่จะไม่กระทำต่อไป รวมทั้งปกป้องผู้ถูกกระทำไม่ให้ถูกกระทำซ้ำอีก และในขณะเดียวกันเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางครั้งผู้ถูกกระทำ หรือผู้กระทำยังมีจิตที่จะผูกพันกันอยู่ ยังมีความรักกันอยู่ ในประเด็นนี้ควรที่ ผู้พิพากษาทุกคนได้มีการพิจารณาอย่างละเอียดอ่อน เพื่อไม่ต้องการให้เลิกกันถ้าฝ่ายสตรีจะต้องพึ่งพาค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูจะทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาทันที ศาลจึงมีอำนาจหน้าที่สั่งให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถที่จะเข้าใกล้อีกฝ่ายหนึ่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือสั่งให้สามีห้ามดื่มสุรา แต่หากไม่กระทำตามศาลสามารถมีหมายจับมาฝากขังไว้เป็นระยะเวลา ๑ เดือน ถ้าไม่สามารถทำตามได้ก็จะต้องมีเงื่อนไขต่างๆ ที่จะต้องเป็นข้อตกลงกันต่อไป อีกกรณีหนึ่งที่สำคัญ คือ กรณีผู้ที่เคยเป็นสามีภรรยากัน พอเลิกกันไปแล้วแต่อีกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมเลิกรา จะตามรังควานอีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สังคมจะต้องตระหนักให้ดี กฎหมายนี้ยังเปิดช่องให้มีการยอมความกันได้ ถ้าไม่เป็นความผิดรุนแรงเกินกว่ามาตรา ๒๙๕ คือ การทำร้ายร่างกายทั่วไป แต่หากเกินกว่านี้ถือว่าเกินเหตุ ศาลจะไม่ให้ยอมความแต่ต้องเป็นดุลยพินิจของศาลว่าจะดำเนินการอย่างไรจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมเป็นคดีๆ ไป คดีเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายคำนึงถึงความสัมพันธ์ของครอบครัวที่จะอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขต่อไป

          สำคัญที่สุด เรื่องบุตรจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดว่าการเจรจา การประนีประนอมเรื่องความรุนแรงในครอบครัวจะเป็นประโยชน์แก่บุตรทางไหนหรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วว่าคู่สามี ภรรยาจะไปกันไม่รอด ต่างฝ่ายต่างไม่ให้อภัยกันก็ให้หย่ากันแต่ขอให้หย่ากันโดยดี อย่าหย่ากันโดยปราศจากความแค้น เพื่อจะได้ต่างฝ่ายต่างแยกกันอยู่กับครอบครัวใหม่โดยปกติสุข ศาลยังมีมาตรการในการตั้งผู้ประนีประนอมคดีไกล่เกลี่ยตามมาตรา ๑๖ บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการยอมความในคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือศาล แล้วแต่กรณี อาจตั้งผู้ประนีประนอม ประกอบด้วย บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งเป็นบิดา มารดาผู้ปกครอง ญาติของคู่ความ หรือบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลเห็นสมควร เพื่อให้คำปรึกษาหรือช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ยอมความกัน หรืออาจมอบหมายให้นักสังคมสงเคราะห์ หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลใดช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ยอมความกันก็ได้ เมื่อผู้ประนีประนอมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่งได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลแล้ว ให้รายงานผลการไกล่เกลี่ยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลแล้วแต่กรณีด้วย ในกรณีที่การไกล่เกลี่ยเป็นผลสำเร็จ บุคคลดังกล่าวจะจัดให้มีการทำสัญญายอมความขึ้น หรือจะขอให้เรียกคู่ความมาทำสัญญายอมความกันต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลก็ได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลเห็นว่า 

สัญญายอมความไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญายอมความนั้น

          ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีการเปิดอบรมสัมมนาผู้ที่จะเป็นผู้ประนีประนอม ไกล่เกลี่ยคดีความรุนแรงในครอบครัวขึ้นทั่วประเทศ ตามภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีหลักสูตรการจัดอบรมผู้พิพากษาและหัวหน้าศาลที่ย้ายมารับราชการที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางทุกปี รวมถึงนำนิติกรซึ่งเป็นผู้ร่างคำร้องคุ้มครองสวัสดิภาพ มาอบรมด้วยเช่นกัน ซึ่งในศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีการจัดตั้งเป็นคณะพิเศษคดีที่ยื่นเรื่องความรุนแรงในครอบครัวอย่างครบถ้วน

          การหย่าร้างของคู่ชีวิตนั้นเกิดจากการไม่เข้าใจซึ่งกันและกันตั้งแต่แรกก่อนที่จะมาอาศัยอยู่ด้วยกัน ซึ่งคดีหย่าเป็นคดีที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของมนุษย์ที่สุด เพราะเมื่อรักกันแล้วอะไรก็ไม่พูด เมื่อหมดรักกันและเกลียดกันแล้วก็พูดทุกอย่างออกมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรมีการจัดอบรมระหว่างหนุ่มสาวก่อนการแต่งงานน่าจะเป็นเรื่องที่ดี

ที่มาของข่าว http://www.naewna.com/lady/columnist/32978
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก