ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

LESS IS MORE เมื่อความบกพร่องทางกาย ไม่ใช่ข้อจำกัดของพลังใจอันแข็งแกร่ง

วันที่ลงข่าว: 28/09/18
มอบรางวัลชนะเลิศ จากโครงการ LESS IS MORE การอมรมผลิตภาพยนตร์สั้น
 
          กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และโครงการ Amazing ไทยเท่ห์ เปิดงานมหกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มอบรางวัลชนะเลิศ จากโครงการ LESS IS MORE การอมรมผลิตภาพยนตร์สั้น โดยเยาวชนผู้พิการหลากประเภท จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยผู้ชนะรางวัลจะได้รับโอกาสไปศึกษาดูงานในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 2018 ประเทศเกาหลีใต้
          นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “โครงการ LESS IS MORE จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนกลุ่มผู้พิการในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ในการผลิตสื่ออย่างมืออาชีพ สร้างโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค และการพัฒนาตนเองของให้กับเยาวชนกลุ่มนี้ให้เติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต”
โดยผู้เข้าร่วมโครงการมีโอกาสเรียนรู้ภาคปฏิบัติด้านการผลิตสื่อภาพยนตร์นำโดยบัณฑิต ทองดี ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ตั้งแต่การเขียนบท นำแสดง ถ่ายทำ และตัดต่อ และเรียนรู้ด้านการแสดงจากวริศรา บำรุงเวช ครูสอนการแสดงที่โรงเรียนสอนการแสดง The Drama Academy by Kru Ngor ส่งเสริมสร้างพลังบวกเพื่อทลายทุกข้อจำกัดการสร้างสื่อ ก่อนที่จะได้รับโจทย์ในการตีความความพิการทุกอย่างด้วยมุมมองใหม่ และสร้างสรรค์ผลงานมาประกวดกัน โดยทีมชนะเลิศได้รับโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 2018 ประเทศเกาหลีใต้ เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน
          น้องธันย์-ณิชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ หัวหน้าทีม Filmdom เจ้าของผลงานภาพยนตร์สั้นเรื่อง “แกร่ง” ซึ่งได้รับรางวัล กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ว่า “ทีมเราได้รับโจทย์มาเป็นคำว่า “โอกาส” เลยมาตีความว่าเป็นอะไรได้บ้าง และนำเรื่องใกล้ตัวมาเล่าในเรื่อง “แกร่ง” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่สนใจการเต้นลีลาสซึ่งมีโอกาสได้ดูทาง Youtube จึงอยากลองดู แม้จะมีอุปสรรคจากการเป็นออทิสติก และครอบครัวที่มองว่าการเต้นเป็นเรื่องไร้สาระ จนในที่สุดสามารถเข้าใจกันและอยู่ร่วมกันได้ จากจุดเปลี่ยนภายหลังที่เห็นเด็กคนนั้นได้ลงมือทำในสิ่งที่เค้ารัก”
          น้องธันย์ ซึ่งปัจจุบันศึกษาอยู่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยประสบอุบัติเหตุจากรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์จนต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างเมื่อปี 2554 แม้ทุกวันนี้ต้องใส่ขาเทียม แต่ความสามารถและพลังใจของธันย์ยังมีล้นเหลือ และไม่เห็นว่าความบกพร่องทางกายจะเป็นข้อจำกัดในการใช้ชีวิต ที่ผ่านมาได้รับโอกาสให้เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจจากชีวิตจริง และได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ LESS IS MORE โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
“การทำงานร่วมกันในทีมที่สมาชิกมีความบกพร่องด้านร่างกาย ต้องพยายามทำเรื่องราวให้มีบทไม่เยอะมาก แต่เข้าใจง่าย เพื่อสื่อว่าแม้คนที่มีความบกพร่องก็สามารถที่จะทำในสิ่งที่รักได้ ธันย์อยากสื่อให้คนที่ไม่ว่าจะมีความบกพร่องด้านใดก็ตาม สามารถสร้างโอกาสได้จากสื่อออนไลน์ เช่นการฝึกซ้อมลีลาส ที่นำเสนอในภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้” ธันย์เสริม
          สารสำคัญธันย์และทีม Flimdom อยากสื่อให้คนดูได้เห็นจากผลงานชิ้นนี้คือ “กำลังใจ” ธันย์เชื่อว่าคนพิการต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ และโอกาสที่ได้รับไม่เป็นจำเป็นต้องเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตเรา อยากให้ทุกคนให้โอกาส และกำลังใจตัวเองในการยอมรับในจุดเปลี่ยน และก้าวเดินต่อไปในอนาคตได้ ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้คนดูเข้าใจว่าคนพิการไม่ได้อ่อนแอ และสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่สื่อนำเสนอ
          ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับชื่อดัง กับผลงานภาพยนตร์สร้างชื่อมากมาย อาทิ องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง ในฐานะตัวแทนจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และหนึ่งในผู้ร่วมมอบรางวัลโครงการ LESS IS MORE กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้สัมผัสกับกลุ่มคนที่เราอาจจะมองข้ามในการทำงานภาพยนตร์ในการสื่อสารเรื่องที่เกี่ยวกับพวกเขา เราจะได้เห็นว่าเรื่องสื่อนั้น ทุกคนเท่าเทียมกันหมด งานที่น้องทำออกมาอาจไม่สมบูรณ์ แต่กินใจได้มากกว่า มันยิ่งใหญ่กว่า เราอาจต้องมองที่เนื้อหามากกว่าเทคนิค เช่น เรื่องสิ่งซ่อนเร้นในน้ำหมึก เกี่ยวกับน้องคนตาบอดที่อยากวาดภาพ ก็ตั้งคำถามต่างๆ ให้กับเรา หรือแม้แต่น้องมีเป็นออทิสทิคที่เคลื่อนไหวด้วยการเต้นรำก็ได้ความรู้สึกที่ดี”
          “ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือที่ดีที่สามารถช่วยน้องๆ ทำประโยชน์ให้กับสังคม ในฐานะผู้กำกับ เราอยากสนับสนุนในทุกรูปแบบ เช่น การอบรมให้รู้จักการใช้สื่อ การใช้เครื่องมือ และการใช้ภาษาภาพยนตร์ แนะนำถึงการสร้างเรื่องราว ถ่ายทอดตัวตน และการใช้ชีวิตของน้องๆ เล่าถึงปัญหาหรืออุปสรรคของตัวละครหลัก และวิธีการแก้ปัญหา โดยน้องๆ ก็ได้นำเสนอสิ่งที่ใกล้ตัว ส่วนภาคสังคมน่าจะส่งเสริมให้เป็นรูปธรรมด้วยกิจกรรมลักษณะนี้ให้เกิดขึ้นบ่อยๆ” ปรัชญากล่าวทิ้งท้าย
 
ที่มาของข่าว https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000094054
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก