ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เจาะใจ!! เหยื่อความแค้น-ลูกหลงคนแปลกหน้า “ถึงโลกมืด แต่ใจไม่เคยบอด”

วันที่ลงข่าว: 03/07/18
        “โลกมืด” เพราะแค้นของคนแปลกหน้า
“วันนั้นเป็นวันที่คุณพ่อมารับหนูที่โรงเรียน เพราะต้องกลับมาช่วยทำเอกสารเสนอราคาลูกค้าช่วยคุณพ่อ พอทำเสร็จ หนูก็บอกคุณแม่ว่า พอดีมีพี่ที่รู้จักโทร.มา รู้จักกัน 7 กว่าปีแล้ว หนูขอไปกับพี่เขานะ ไปกินข้าวแป๊บเดียว เพราะเขาไม่ค่อยรู้จักแถวนี้ 
 
ตอนนั้นประมาณ 6 โมงเย็นค่ะ พอออกไปหน้าปากซอยปุ๊บ ก็ได้ยินเสียงดังปังๆๆ!! ตอนแรกนึกว่าเป็นเสียงประทัด หรืออาจจะเป็นเสียงปืน แต่พอไม่ทันสิ้นเสียง หนูก็ล้มลงไป แล้วหนูก็ได้ยินพี่เขาร้องบอกคนอื่นว่า "ช่วยด้วยๆ มีคนถูกยิง" หนูก็เลยเพิ่งรู้ว่าหนูโดนยิง
 
วินาทีนั้นหนูก็มองไม่เห็นอะไรแล้วค่ะ ทุกอย่างเป็น “สีเทา-สีดำ” หมดเลย แต่สติเรายังดีอยู่ สักพักรถป่อเต็กตึ๊งก็มา เขาอุ้มหนูไปในรถ หนูก็ถามพี่เขาว่า “ทำไมหนูมองไม่เห็นน่ะพี่” พี่เขาก็พูดเสียงเบาๆ ว่า “ไม่น่าโดนตาเลย” พอได้ยินแบบนั้นเราก็ใจเสียเลยค่ะ คิดเลยว่าสงสัยเราต้องมองไม่เห็นแล้วแน่ๆ เลย”
โชคร้ายที่การคาดการณ์ของเธอในวันนั้นกลายเป็นจริง น้องวันใหม่-ณัฏฐ์ธมน ธนไตรสิทธิ์ จึงกลายเป็น “เหยื่อกระสุนจากการยิงคู่อริผิดคน” ที่ต้องสูญเสียการมองเห็นมาจนถึงวันนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2 ปี แต่ดูเหมือนว่าเธอยังจดจำความรู้สึกทุกข์ทน สับสน และเจ็บปวด ในวินาทีนั้นได้อย่างชัดเจน
 
“ตอนนั้นรู้สึกชาอย่างเดียวเลยค่ะ เหมือนมันเกินคำว่าเจ็บไปแล้ว ระหว่างที่นอนบนเตียง หนูก็ดิ้นทุรนทุราย สับสนในใจไปหมดว่า ตกลงเราเป็นอะไรกันแน่ กระสุนมันโดนหรือไม่โดนตาเรา เราอยากจะรู้เดี๋ยวนั้นเลย หนูเอาแต่ถามว่า "หมอ..หนูเป็นอะไร" ซ้ำๆ อยู่แบบนั้น”
 
สุดท้าย น้องวันใหม่และครอบครัวก็ได้รับคำตอบพร้อมๆ กันว่า ผลจากการถูกชักปืนยิงถล่ม “ใบหน้า 1 นัดและลำคออีก 4 นัด” ในระยะ 5 เมตร ส่งให้เบ้าตาขวาของเธอแตก จนต้องผ่าตัดทิ้ง ส่วนดวงตาด้านซ้าย แม้จะไม่ถูกลูกกระสุนจังๆ แต่เส้นประสาทตาด้านหลังเสียหายหนักมากจากแรงกระแทกของลูกเหล็ก ประสาทส่วนที่เชื่อมระหว่างสมองกับตาจึงไม่อาจประสานและทำงานได้เหมือนเดิมอีกต่อไป 
 
“หมอบอกว่าขนาดคนอื่น ไปโดนเส้นประสาทตรงนั้นนิดเดียว ยังตาบอดได้ แต่นี่กระสุนมันทะลุไปโดนถึงเส้นประสาทข้างใน ยังไงโอกาสที่จะกลับมามองเห็นได้อีกคงยาก คงต้องรอเทคโนโลยีในวันข้างหน้า ต้องรอวิวัฒนาการ หรือรอปาฏิหาริย์อย่างเดียว
ถึงตอนนี้ก็ยังมีกระสุนอีกหลายลูกที่ฝังอยู่ในตัวหนูอยู่เลยค่ะ เพราะคุณหมอบอกว่าผ่าออกไม่ได้ มันอันตรายมาก โดยเฉพาะตรงก้านสมองเนี่ย เอาออกไม่ได้เลย ถ้าเอาออกปุ๊บ มีสิทธิที่จะโดนเส้นประสาท และเราอาจจะน็อกหรือพูดไม่ได้ไปเลย
 
กลายเป็นว่าทุกวันนี้ ลูกกระสุนพวกนั้นมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหนูไปแล้ว และหนูก็ยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับมันต่อไป...”
 
เจ้าของเรื่องเล่าจากประสบการณ์ ปิดท้ายประโยคด้วยรอยยิ้มปลงๆ คล้ายไม่รู้สึกเจ็บแค้นจากความหลังอย่างที่เคยรู้สึกอีกต่อไป และหนึ่งในแรงผลักสำคัญที่ทำให้เธอผ่านมรสุมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนั้นมาได้ ก็คือเหล่าคนสำคัญที่ถูกเรียกว่า “ครอบครัว” ของเธอนั่นเอง
“ตอนที่ครอบครัวรู้ว่าตาหนูต้องมองไม่เห็นทั้ง 2 ข้าง พี่สาวหนูเขาก็บอกเลยว่า จะยอมสละตาข้างนึงให้ และพ่อหนูก็บอกว่าจะให้เหมือนกันค่ะ วันที่เกิดอุบัติเหตุ พอมาถึงโรงพยาบาล พ่อก็ล้มลงไปกับพื้น แล้วก็บอกหมอว่า "เอาตาผมไปเลย ผมไม่ใช้แล้ว ให้ลูกผมใช้เถอะ" แต่หมอบอกว่าคงทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะหนูมีปัญหาตรงเส้นประสาทตา ไม่ได้มีปัญหาที่กระจกตา หรือดวงตา มันเลยเปลี่ยนไม่ได้
 
แต่ถึงหนูจะรู้แล้วว่ามันเปลี่ยนไม่ได้ แต่เราก็ดีใจมากนะ ที่พี่สาว ที่ครอบครัวของเรา เขายอมที่จะเสียสละให้เราขนาดนั้น ยอมที่จะมีตาข้างเดียวเพื่อเรา แค่รู้แค่นั้น หนูก็รู้สึกดีแค่ไหนแล้ว
 
ตอนที่เหตุการณ์มันเกิดขึ้น และรู้ว่าเราโดนยิงที่ตา หน้าพ่อแม่หนูก็ลอยมาเลยนะ หนูคิดแค่ว่าคนที่จะอยู่กับเรา สุดท้ายแล้วก็คือพ่อแม่ ตั้งแต่หนูเกิดมา จนถึงตอนโต หนูว่าพ่อแม่นี่แหละค่ะที่ดูแลหนูได้ดีที่สุดแล้ว” 
 
“ครอบครัว” คือกำลังใจสำคัญ
ตัดใจจาก “ความฝัน” เก็บไว้เป็น “ความทรงจำ”
“ตัวหนูเองเคยวาดฝันไว้เยอะเลยค่ะ ตอนอยู่ ม.6 ก่อนจะเกิดเรื่อง ยังพูดกับแม่อยู่เลยว่า หนูจะไปสอบเป็น “ทหาร” นะแม่ หรือถ้าสอบไม่ติดทหาร หนูขอไปเป็น “แอร์โฮสเตส” ดีกว่า แต่พอมาเป็นแบบนี้ปุ๊บ หนูก็รู้เลยว่าเราเป็นทั้งทหาร ทั้งแอร์ฯ ไม่ได้แล้ว และเราก็เสียใจมาก เพราะเราเคยวาดฝันเอาไว้แบบนี้ตลอด
 
ตอนนั้นหนูก็ได้แต่ร้องไห้ค่ะ รู้สึกเสียใจ..เสียใจมาก หนูร้องแบบนั้นถึง 5-6 เดือน แล้วก็รู้สึกเจ็บปวดมาเป็นปีเลย เพียงแต่ช่วงปีหลังๆ อาจจะไม่ได้ร้องไห้ออกมาแล้ว แต่ความเสียใจของหนูก็ยังอยู่มาเป็นปี เพราะมันทำใจยากมากจริงๆ”
 
นอกจากต้องยอมรับชะตากรรม ต่อสู้กับความทุกข์ทรมานจากอยู่ใน “โลกแห่งความมืด” แล้ว เด็กสาว ม.6 คนนึงยังจำต้องทิ้ง “โลกแห่งความฝัน” ที่เธอเคยกอดเอาไว้แนบอกไปพร้อมๆ กัน หัวใจที่แตกสลายของเจ้าของร่างกาย จึงได้แต่พยายามระบายทุกความสูญเสียหลั่งออกมาเป็นน้ำตา กระทั่งเวลาช่วยเคลื่อนผ่านเข้ามาเยียวยา เธอจึงยินยอมให้ “โลกแห่งความหวัง” เริ่มเคลื่อนไหวขึ้นมาอีกครั้งนึง
“ตอนนั้น หนูอารมณ์ดรามาเยอะมาก คิดตลอดว่าแล้วเราจะอยู่ยังไง จากเคยมองเห็นสีสันต่างๆ แต่ตอนนี้เรามองไม่เห็นแล้ว แม้กระทั่งหนังสือที่หนูจะติวสอบเข้ามหาวิทยาลัย หนูยังอ่านมันไม่ได้แล้ว 
 
ทุกอย่างมันกลายเป็นภาพในอดีตไปหมดเลย และเราก็เกิดความรู้สึกว่า ต่อไปเราจะไม่ได้เห็นสิ่งเหล่านั้นอีกแล้ว จะไม่ได้เห็นทะเล ไม่ได้เห็นดอกกุหลาบ ไม่ได้เห็นหน้าพ่อหน้าแม่เราอีกแล้วนะ
 
หลังจากที่ตาหนูต้องเป็นแบบนี้ หนูก็โกรธคนที่ทำมากๆ นะคะ โกรธมากๆ (ย้ำอีกครั้ง) รู้สึกเจ็บใจ เราไม่เคยไปทำอะไรให้เขาเลย ทำไมเขาต้องมาทำเรา แต่หนูก็คิดว่าหนูก็อโหสิกรรมให้เขาดีกว่า ในเมื่อเรื่องมันผ่านไปแล้วก็ช่างมัน 
 
และถึงหนูจะเสียใจมาก แต่ไม่เคยคิดจะฆ่าตัวตายนะ ไม่เคยคิดจะเอาเชือกมารัดคอ หรือเอามีดมาปาดคอตาย แค่เคยมีความคิดว่า ทำไมวันนั้นเราไม่ตายไปเลยมากกว่า “ไหนๆ จะยิงฉันให้ตาบอดแบบนี้แล้ว ทำไมไม่ทำให้ฉันตายไปเลยดีกว่า” 
แต่พอเราอยู่มาได้สักพัก หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นไปได้ปีนึง เราก็เริ่มคิดได้ว่า "ดีแล้วล่ะที่ฉันยังไม่ตาย ดีแล้วล่ะที่ฉันยังได้อยู่กับพ่อแม่” จนมาถึงวันนี้ หนูก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจแบบเดิมแล้วค่ะ รู้สึกแค่ว่าเราต้องทำวันนี้ให้ดี 
 
หนูคิดว่าถ้าหนูยังไปโกรธเขาแบบนั้นต่อไป ก็เหมือนหนูไปนั่งจำแต่เรื่องในอดีต แต่ถ้าหนูลืมมันไปได้ และทำวันนี้ให้ดี อนาคตหนูจะต้องดีได้ 
 
สิ่งที่ทำให้ความคิดเราเปลี่ยนไปได้ จากอยากให้เหตุการณ์นั้นมันจบชีวิตเราไปเลย มาเป็นอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะหนูคิดถึงพ่อแม่ค่ะ หนูต้องทำเพื่อพ่อแม่ เพราะพวกเขาเป็นกำลังใจสำคัญของหนูเลย ทุกวันนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็ยังชอบพาหนูไปทำบุญ เพราะเขาไม่อยากให้หนูคิดมาก อยากให้เราอโหสิกรรม อยากให้หนูมีจิตใจที่ดีขึ้น
ทุกครั้งที่หนูไปเรียน เขาก็จะบอกหนูว่า หนูทำได้อยู่แล้วนะ หนูเก่ง หนูก็เอากำลังใจจากตรงนั้นแหละค่ะมาเติมให้ตัวเอง รวมถึง “กำลังใจจากตัวเอง” ด้วย 
 
หรือแม้แต่เพื่อนๆ หนูก็ดีมากค่ะ เขาจะบอกเราตลอดว่าไม่ต้องคิดมากนะ แกทำได้อยู่แล้ว คนอื่นทำได้ แกก็ต้องทำได้ เพื่อนหนูจะให้กำลังใจอยู่เสมอ ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะกำลังใจจากทุกคนเลยค่ะ ที่ทำให้หนูก้าวข้ามผ่านหลายๆ อย่างมาได้
 
ส่วนเรื่องความรู้สึกเสียใจที่จะไม่สามารถมองเห็นหลายๆ อย่างได้อีกแล้ว รวมถึงหน้าคุณพ่อคุณแม่ด้วย หนูก็ไม่ได้คิดแบบนั้นแล้วค่ะ แต่หนูมองอีกมุมนึงว่า เราเคยเห็นหน้าคุณพ่อคุณแม่แล้ว มาจนถึงตอนนี้ เราก็ยังจำเขาได้ และหนูก็คิดแค่ว่าเราเก็บทุกอย่างเป็น "ความทรงจำ" ก็พอแล้ว” 
 
 
 
“วันใหม่” ชื่อใหม่ เพื่อนับหนึ่งใหม่
จริงๆ แล้วชื่อ “วันใหม่” เป็นชื่อเล่นใหม่ของ “น้องสี่” ที่ถูกตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นสัญลักษณ์ในการ “เริ่มต้นชีวิตใหม่” ด้วยรอยยิ้มสดใส ภายใต้โลกที่ไร้การมองเห็นของเธอ เช่นเดียวกับอาชีพ “นักสังคมสงเคราะห์” ที่กลายมาเป็นความฝันบนเส้นทางชีวิตใหม่ ความฝันที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากแรงบันดาลใจในชีวิตจริง
 
“ทุกวันนี้ หนูเลือกเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ (ม.ธรรมศาสตร์) ค่ะ เพราะหนูมีความรู้สึกว่า ถ้าหนูจบไป หนูอยากจะช่วยเหลือคนอื่น อยากให้คนอีกหลายๆ มีที่ยืนในสังคม หมายความว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เขาต้องได้รับชะตากรรมอะไรแบบหนู เขาต้องสามารถยืนในสังคมได้ต่อไป”
และแน่นอนว่าการจะลุกขึ้นมาเป็น “คนกรุยทาง” ให้คนอื่นๆ ได้มีที่ยืนนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ คืออย่างน้อยที่สุด คนคนนั้นก็ต้องมีแรงที่จะสามารถหยัดยืนได้อย่างเข้มแข็งด้วยตัวเองให้ได้ก่อน จึงเป็นที่มาของความพยายามก้าวข้ามผ่านทุกอุปสรรคระหว่างทาง ที่เธอยังคงพิสูจน์ตัวเองอยู่ในทุกวันนี้ เริ่มจากเรื่องการช่วยเหลือดูแลตัวเองให้ได้ หลังย้ายมาอยู่หอพัก ใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
 
“ตอนแรกๆ ก็มีอุปสรรคมากค่ะ เพราะหนูพักที่หอ และห้องน้ำก็เป็นห้องน้ำรวม แถมตั้งอยู่ไกลจากห้องพักด้วย ช่วงแรกๆ ที่มาอยู่ ระหว่างคลำทางเดินไป ก็มีเดินไปชนประตู ชนกำแพง เดินหลงตอนตี 2 ตี 3 ก็มี (ยิ้มเนือยๆ) กว่าจะเดินกลับมาถึงห้องได้ ผ่านไปแล้วเป็นครึ่งชั่วโมง 
 
ตอนนั้นก็รู้สึกหงุดหงิดตัวเองมากค่ะ เพราะเดินชนกำแพง หัวโนด้วย เดินกลับมาถึงห้องก็แอบไปร้องไห้ที่ตรงระเบียงตากผ้าเลยค่ะ เพราะไม่อยากให้เพื่อนคนอื่นได้ยิน 
 
หนูไปร้องไห้กับตัวเองว่า ทำไมต้องมาเกิดเรื่องอะไรกับเราแบบนี้ด้วย แล้วฉันจะอยู่ไหวไหม แล้วก็โทษชะตากรรมไป แต่พอหลังจากนั้น ผ่านไปได้สักปีนึง หนูก็เดินจนชินแล้วค่ะ ตอนนี้ชิลมาก อยู่ในหอก็สามารถไปห้องน้ำเองได้สบายๆ ไม่ต้องให้ใครช่วยเลย”
แม้ต้องกลายเป็น “ผู้พิการทางสายตา” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่น้องวันใหม่ก็ไม่คิดที่จะหลบหนี หรือยอมแพ้แก่โชคชะตา เธอยังคงเข้าเกียร์เดินหน้า นับ 1 ใหม่ในทุกๆ เรื่อง แม้แต่เรื่องการฝึกการใช้ชีวิตประจำวันขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงเรื่องการศึกษาที่ค่อนข้างซับซ้อนอย่าง ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ตามวิถีผู้ไร้การมองเห็น และอักษรเบรลล์ที่มีโค้ดเฉพาะตัวให้ต้องจำไม่หวาดไม่ไหว
 
“หลังจากมีข่าวกรณีของหนูออกไปตอนนั้น ทางกระทรวงก็ส่งมูลนิธิที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน เข้ามาช่วยเหลือหนูด้วยค่ะ เริ่มตั้งแต่ฝึกการใช้ชีวิตประจำวัน การซักผ้า รีดผ้า เดินทาง ฯลฯ ตอนนี้ก็ทำได้หมดแล้วค่ะ และมันก็ง่ายตรงที่ว่า หนูเคยทำสิ่งเหล่านี้เป็นอยู่แล้ว พอเรามองไม่เห็นปุ๊บ มันเลยยังสัมผัสได้
 
ทุกวันนี้ พอกลับมาบ้านก็จะมานั่งคุยกับคุณพ่อคุณแม่ แล้วก็ทำงานบ้านนิดหน่อย ส่วนใหญ่หนูจะไม่เก็บกวาดค่ะ เพราะหนูกลัวไม่สะอาด แต่หนูจะรับหน้าที่ล้างจานเป็นหลัก เพราะจานเราสัมผัสด้วยมือเราได้ว่าสะอาดหรือยัง หรือถ้าเหลือเศษอาหาร เราก็เก็บทิ้งได้ มันง่ายกว่า 
ต้องปรับตัวขนานใหญ่หลังการเปลี่ยนแปลง ต้องหัดใช้คอมพิวเตอร์ด้วยระบบสั่งการเสียง
นอกนั้น ทุกอย่างในบ้านก็จะอยู่ที่เดิมค่ะ หรือถ้ามีอะไรเปลี่ยนไปวางตรงไหน คุณพ่อคุณแม่ก็จะบอกหนูว่าย้ายไปตรงไหน ทำให้หนูสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ด้วยตัวเอง
จะมีที่ยากหน่อยก็คงเป็นเรื่องเรียน “อักษรเบรลล์” กับ “คอมพิวเตอร์” ค่ะ ที่ใช้ได้ยากมาก อาจจะเพราะเราเคยมองเห็นทุกอย่าง พอต้องมาอาศัยการเล่นคอมพ์แบบใช้เสียงใหม่หมด 

อีกหนึ่งความท้าทายของชีวิต ต้องเริ่มนับ 1 ศึกษา "อักษรเบรลล์" ใหม่
อย่างตอนเรียนอักษรเบรลล์ก็ยากมากจริงๆ ค่ะ เพราะมันต้องใช้การสัมผัสเยอะมาก และเราก็ต้องจำโค้ดใหม่หมดเลย เวลาเราไปสัมผัสตัวอักษรเบรลล์ เราก็ต้องรู้ว่า ตรงนี้มีรหัสโค้ดอะไรบ้าง ที่เป็นตัวแทนของตัวอักษรแต่ละตัว เช่น ตัว "ก ไก่" จะเขียนเป็นโค้ด "1-2-4-5" นะ ส่วนตัว "ข ไข่" จะเป็นโค้ด "1-3" แต่ก็ยังดีค่ะที่เรามีพื้นฐานเรื่องการสะกดคำว่า คำนี้สะกดยังไง 

ไม่สิ้นความพยายาม ศึกษาระบบปฏิบัติการสำหรับผู้ไร้การมองเห็นบนมือถือ ทำให้สามารถใช้ชีวิตเล่นสมาร์ทโฟนได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป
กว่าจะผ่านมาได้นี่ ตอนแรกก็รู้สึกท้อมากเลยค่ะ ถึงกับคิดกับตัวเองในใจเลยว่า จะไม่สู้ดีไหมวะ แต่เราก็คิดได้ว่า ยังไงเราก็ต้องสู้ว่ะ เพราะเรามาถึงจุดนี้แล้ว ถ้าเกิดเราท้อไป มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรอยู่ดี หนูก็เลยลุกขึ้นสู้อีกครั้งนึง แล้วก็ตั้งใจเรียนทุกอย่างค่ะ อักษรเบรลล์ด้วย แล้วพอหนูจำได้ เราก็พร้อมทำทุกอย่างเองได้หมดแล้วค่ะ”
ถึงวันนี้ สิ่งที่น้องวันใหม่ต้องการ ไม่ได้หยุดอยู่ที่การ “ได้รับกำลังใจ” จากคนอื่นๆ อย่างที่เคยรู้สึกอีกต่อไป แต่คือการ “ได้เป็นแรงบันดาลใจ” ให้อีกหลายๆ คนเท่าที่พอจะทำได้ โดยเฉพาะเจ้าของลมหายใจไหนก็ตาม ที่รู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่บนโลกอันแสนโหดร้ายใบนี้อีกต่อไป ในฐานะคนที่ก้าวข้ามผ่านหุบเหวแห่งฝันร้ายรอดมาได้รายนึง เธอแค่อยากให้รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้มีทางออกของมันเสมอ
หน้าที่หลักในบ้านทุกวันนี้ คือช่วยล้างจาน ตรวจสอบความสะอาดผ่านการสัมผัสด้วยมือ
 
“หนูเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่อาจจะมีชีวิตเป็นเหมือนๆ กันหนู หรืออาจจะสูญเสียอะไรสักอย่างนึง หนูก็แค่ไม่อยากให้เขาคิดมาก ให้นึกถึงตัวเอง นึกถึงคนรอบข้างเราให้มากๆ 
 
คือ "ล้มได้ แต่ต้องลุกให้ไว" ค่ะ และอยากให้รู้ว่า ทุกอย่างมันมีทางออกเสมอ แม้ว่าทางออกนั้นเราอาจจะยังมองไม่เห็น หรือมันอาจจะเลือนรางมากขนาดไหนก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่าสักวันนึง มันจะหาทางออกของมันได้เอง”
สัมภาษณ์โดย รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง: ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ที่มาของข่าว https://mgronline.com/live/detail/9610000064777

Video ประกอบข่าวประจำวัน

^ กลับสู่เนื้อหาหลัก