ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สมคิด เรียกเอกชนช่วยรับมือสังคมผู้สูงอายุ

วันที่ลงข่าว: 30/06/17

        "สมคิด"ลุยกวักมือเรียกบริษัทเอกชนร่วมตอบแทนรับมือสังคมผู้สูงอายุ-ผู้พิการ ขณะที่"อดุลย์"ปลื้มยอดจ้างงานพิการ-สูงอายุ ทะลุเป้า "สสส."เสนอขยายผลมาตรการความปลอดภัยทางถนน กำหนด"เมาแล้วขับ" นับผิดวินัยองค์กร คุมพฤติกรรมงดซิ่ง

 

28 มิ.ย.60 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม(E6) ครั้งที่ 2/2560 เพื่อหารือและติดตามความก้าวหน้า ประเด็นเร่งด่วนที่คณะทำงานฯ ได้แก่ 1.การจ้างงานผู้พิการ 2.การจ้างงานผู้สูงอายุ 3.การส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ 4.ที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ และ 5.ความปลอดภัยบนท้องถนน หรือ "5 Quick Win" ที่ดำเนินการตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา

 

        ดร.สมคิด กล่าวว่า การดำเนินงานของคณะทำงาน E6 มีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านการจ้างงานผู้พิการและผู้สูงอายุ มีอัตราการจ้างงานมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีหน่วยงาน องค์กรใหม่ๆ สนใจเข้ามาร่วมและขยายการดำเนินงานมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งนายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้มาร่วมนำเสนอรูปแบบการทำงานด้านการจ้างงานผู้พิการ ผู้สูงอายุ และการร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศญี่ปุ่นด้วย

 

        ทั้งนี้ ตนยังได้มอบหมายให้คณะทำงานE6ไปหารือเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือเพิ่มเติมกับกลุ่มองค์กรเหล่านี้ เมื่อมีแนวทางที่ชัดเจนแล้วในส่วนของกระทรวงการคลังจะไปพิจารณาว่าจะต้องมีกระบวนการสนับสนุนอย่างไร เช่น มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี เพื่อเป็นการจูงใจให้หน่วยงาน รวมทั้งฝากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรียกบริษัทที่จดทะเบียน 500 กว่าแห่งจัดประชุมสัมมนาเพื่อชี้เป้าว่าจะเข้ามาช่วยกันอย่างไรบางครั้งบริษัทเอกชนก็อยากช่วยแต่ก็ไม่รู้จะเข้ามาช่วยด้านไหน อย่างไร

 

       "ดังนั้นถึงเวลาแล้วถึงจะต้องมาร่วมมือกันจ้างงานผู้อายุ ผู้พิการ สร้างงานในชุมชน วันนี้บริษัทเอกชนต้องเข้ามา เพราะรัฐบาลเองมีการปรับลดภาษีแล้ว ก็ต้องคืนสู่สังคมบ้าง ส่วนตัวแล้วก็รู้สึกผิดหวังกับภาคส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะได้เคยไปเชิญมาร่วมมือกันทำงานประชารัฐแล้วแต่ผ่านมากว่า 1 ปี ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า ซึ่งประเด็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ ภาคธุรกิจอสังหาฯ สามารถช่วยได้มาก เพียงแต่ลดกำไรลงบ้างและช่วยกันเพื่อสังคม" ดร.สมคิด กล่าว

 

        นพ.ประเวศ วะสี ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นโอกาสของคนไทยที่จะทำเรื่องใหญ่ที่ติดขัดมานาน เมื่อรัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ของประเทศไทย 2 เรื่องคือ 1.เปลี่ยนทิศทางการพัฒนา จากการพัฒนาจากบนลงล่าง เป็นการเน้นให้รากฐานแข็งแรงซึ่งจะเป็นจุดเริ่มสำคัญในการแก้ปัญหาด้านต่างๆ และ 2.เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งรัฐและประชาชน จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนกลไกเครือข่ายจิตอาสาให้เกิดขึ้นเต็มแผ่นดินเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานประเด็นต่างๆ ในพื้นที่ต่อไป

 

        ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ กล่าวว่า การดำเนินงานของคณะทำงาน E6 มีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม และมีผลงานที่วัดได้ทั้งในเชิงมาตรการ และเชิงปริมาณเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันเกิดการจ้างงานผู้พิการภายใต้ความร่วมมือประชารัฐแล้วกว่า 7,500 อัตรา

 

        นอกจากนี้ ยังมีองค์กรใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจเข้าร่วม ทำให้เกิดการต่อยอดไปยังประเด็นอื่นๆ ไม่จำกัดอยู่แค่ 5 ประเด็น quick win และขยายไปสู่พื้นที่โดยอาศัยการเชื่อมประสานกับคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) และกลไกในพื้นที่ของ พม. , มหาดไทย หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ รวมถึงภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการอย่างเต็มที่

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคประชาสังคม กล่าวว่า ภาคประชาสังคมทำหน้าที่สนับสนุนด้านวิชาการ และเครือข่ายการทำงานเชิงประเด็นร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ใน 5 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ 1.การหนุนเสริมข้อมูลและเครือข่ายคนพิการ 2.การสนับสนุนการจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุในภาครัฐ ภาคเอกชน และการทำงานอาชีพอิสระ 3.การประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน ขับเคลื่อนและส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ 4.การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย

 

        และ 5.การสนับสนุนข้อมูลวิชาการและเครือข่ายในการรณรงค์สร้างความตระหนักส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ประชารัฐร่วมใจปลอดภัยทุกเส้นทางร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 55 องค์กร และอยู่ระหว่างผลักดันให้เกิดการแต่งตั้ง “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางถนน (จปถ.) ภายในองค์กรเพื่อกำหนดดูแลการใช้รถใช้ถนนของบุคลากร นอกจากนั้นยังมีการเสนอให้พิจารณาขยายผลนโยบายเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยกำหนดให้การ "เมาแล้วขับ" ถือเป็นความผิดวินัยในองค์กร และต้องมีการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงาน อาทิ ขับรถในอัตราที่กฎหมายกำหนด สวมหมากนิรภัยทุกครั้งที่ขับชี่ คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น

 

         ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับการศึกษาแนวทางการพัฒนากลไกระบบการคลังเพื่อสังคม (Social impact finance) ตามที่รองนายกฯ ได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ ไปศึกษารายละเอียดร่วมกับภาคีวิชาการ เพื่อเป็นทางเลือกของการสนับสนุนงบประมาณในการทำงานด้านการพัฒนาสังคมนั้น จากการวิเคราะห์แนวทางได้มีการเสนอรูปแบบความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม โดยภาคเอกชนและองค์กรที่สนใจจะร่วมลงทุนในโครงการที่มีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสังคม ซึ่งจะต้องมีการกำหนดโจทย์ร่วมกัน ดังนั้นรองนายกฯ จึงได้มอบหมายให้หารือเพิ่มเติมร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมธนาคารมาร่วมหารือแนวทางขับเคลื่อนต่อไป

ด้าน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานอาวุโสหอการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวว่า ก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนงานประชารัฐเพื่อสังคม ภาคเอกชนจะขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายนอกกลุ่มประชารัฐเพื่อสังคม อาทิ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สมาคมการค้า ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค รวมถึงการกำหนดเป้าหมายในการขยายความมือกับบริษัทต่างประเทศในประเทศไทย

 

        โดยเฉพาะการขยายการจ้างงานคนพิการไปยังกลุ่มบริษัทญี่ปุ่น โดยขับเคลื่อนร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ ได้ให้เกียรติเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้จะประสานความร่วมมือระหว่างคณะทำงาน E3 และคณะทำงาน E6 เพื่อขับเคลื่อนการทำงานเชิงพื้นที่ผ่านกลไกการทำงาน และโครงการต่างๆ เช่น บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ที่มีอยู่ทุกจังหวัด โดยเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือของ 2 คณะทำงานตามแนวทางประชารัฐ จะเสริมพลังการทำงานและมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจและสังคมไทยได้ในระดับหนึ่ง

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 28 มิถุนายน 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก