ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นาฏศิลปเชียงใหม่ จัดแสดง "โขนคนพิการ" ครั้งแรกของประเทศ

วันที่ลงข่าว: 23/06/17

       วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จัดการแสดง "โขนคนพิการ" โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสได้แสดงความรู้ ความสามารถด้านนาฏศิลป์และดนตรี ร่วมสืบสาน วัฒนธรรมไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่นักแสดงเป็นผู้พิการทางการได้ยิน

       วานนี้ (21 มิ.ย. 2560) ที่โรงละครวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ร่วมกับโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทรและโรงเรียนกาวิละอนุกูล จัดการแสดงนาฏศิลป์ ดนตรีไทย สำหรับผู้พิการประจำปี 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนผู้พิการ เยาวชน และผู้ด้อยโอกาส ได้แสดงความรู้ ความสามารถด้านนาฏศิลป์และดนตรี ซึ่งถือเป็นการจัดแสดงโขนครั้งแรกของประเทศไทย ที่นักแสดงเป็นผู้พิการทางการได้ยิน โดยผู้แสดงประกอบด้วย นักเรียนผู้พิการจากโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร โรงเรียนกาวิละอนุกูล เยาวชนผู้พิการทางสายตาในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงนักเรียน นักศึกษา จากวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จำนวนกว่า 100 คน สร้างความฮือฮาและเสียงปรบมือดังสนั่นโรงละคร สำหรับรูปแบบการแสดงจะเป็นการบูรณาการจัดการแสดงและบรรเลงร่วมกัน ซึ่งเป็นการแสดงโขนรามเกียรติ์ ตอน “จับนางสุวรรณมัจฉา” และ ตอน “ยกรบ” ซึ่งเป็นเรื่องราวการต่อสู้ของกองทัพลิงและเหล่ายักษ์ที่ต่อสู้โรมรันกันอย่างตื่นเต้นเร้าใจ
       ด้าน ดร.กษมา ประสงค์เจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ กล่าวว่า นักแสดงโขนผู้พิการใช้เวลานานประมาณ 4 เดือน ใช้เทคนิคการฝึกสอนพิเศษที่ต่างไปจากการฝึกแสดงโขนทั่วไป มีการใช้ภาษามือและครูผู้ชำนาญการแสดงโขนชั้นครูมาฝึกสอน และจัดแสดงภายในโรงละคร ซึ่งทุกคนแสดงออกมาได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่ได้ยิน แต่สามารถบังคับจังหวะด้วยหัวใจ
       ทั้งนี้ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ให้ดำเนินการจัดโครงการสอนนาฏศิลป์ ดนตรีไทยให้แก่นักเรียนผู้พิการในจังหวัดเชียงใหม่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ได้จัดส่งครูผู้สอนด้านนาฏศิลป์ไทย (โขน – ละคร) ไปสอนและฝึกซ้อมให้แก่นักเรียนผู้พิการ ที่โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร และโรงเรียนกาวิละอนุกูล มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความสามารถและมีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนฝึกประสบการณ์ของนักเรียนผู้พิการ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก