ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

วันที่ลงข่าว: 18/05/16

วันนี้ (17 พ.ค.2559) เวลา 09.26 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการในพระราชดำริ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคำสะอาด หมู่ที่ 5 ตำบลยางใหญ่ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ปี 2525 ในระดับก่อนประถมถึงระดับประถมศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียน 92 คน มีครูตำรวจตระเวนชายแดน 8 นาย และครูอัตราจ้าง 2 คน

ในการนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งมีพระราชดำริให้จัดทำขึ้นด้วยทรงห่วงใยเด็กนักเรียนเหล่านั้น โดยทำได้หลายแนวทาง ขณะนี้กรมการปกครองได้ร่วมกับทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ไร้สัญชาติ จำนวน 88,815 คน

จากนั้น ทอดพระเนตรการเรียนการสอนและกิจกรรมของโรงเรียน อาทิ การฝึกอาชีพ โดยมีปราชญ์ชาวบ้านและกลุ่มศิษย์เก่ามาสอนการทอเสื่อกกลายประยุกต์เพื่อเพิ่มมูลค่า แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ให้เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวหลังฤดูทำนา โดยจำหน่ายผืนละ 400 ถึง 700 บาท

ด้านโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีการเลี้ยงสัตว์ อาทิ ไก่ไข่ เป็ดเทศ และปลาดุก ได้ผลผลิตเกินความต้องการ ส่วนการเกษตรปลูกผัก ผลไม้ และถั่วเมล็ดแห้ง ไม่เพียงพอต้องจัดซื้อเพิ่มเติม เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดและมีปัญหาน้ำน้อย ทั้งนี้ กรมชลประทานได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยขุดสระน้ำโรงเรียนเดิมเพิ่มความลึกอีก 2 เมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มความจุน้ำเป็น 7,500 ลูกบากศ์เมตร

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง ซึ่งโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช โรงเรียนประจำจังหวัดอุบลราชธานี ได้ส่งนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ มาจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรแก่นักเรียน พร้อมส่งครูเข้ามาจัดสอนด้านวิชาการแก่ครูในโรงเรียนปีละ 2 ครั้ง ส่งผลให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลสอบโอเน็ตในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ อันเป็นพระราชดำริ ในการแบ่งปันสิ่งที่มีแก่ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า ให้มีโอกาสด้านศึกษา สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ

โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปตรวจรักษาโรคทั่วไปและด้านทันตกรรมแก่ราษฎร โดยมีผู้ไปรับบริการด้านทันตกรรม 60 คน มีผู้เจ็บป่วยไปรักษาโรคทั่วไปและขอคำแนะนำด้านสุขภาพ 107 คน ส่วนมากป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อและกระดูก รองลงมาคือระบบทางเดินอาหาร และขอพระราชทานเป็นผู้ป่วยในพระราชานุเคราะห์ 8 คน อาทิ สมองพิการแต่กำเนิด วัณโรคกระดูกสันหลัง ไตวายเรื้อรัง และไข้สมองอักเสบ จากนั้น ทรงเยี่ยมราษฎรที่ไปเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จอย่างทั่วถึง

เวลา 11.23 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการในพระราชดำริ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านท่าแสนคูณ ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โรงเรียนนี้ มีผลการสอบ ONET ระดับสูงสุดลำดับ 3 ของโรงเรียน ต.ช.ด.ทั้งหมด 11 โรง ในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 22 และได้รับรางวัลเหรียญทองเขียนตามคำบอกระดับประถมศึกษาปีที่ 2 จากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 22 โดยมีโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี เข้าไปดำเนินโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง จัดกิจกรรมพาน้องไปดูโครงงานวิชาการที่โรงเรียนพี่ ส่วนพี่ศึกษาแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรรมในโรงเรียน ต.ช.ด. ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง เป็นต้น

ทางโรงเรียน ได้ดำเนินกิจกรรมการงานพื้นฐานอาชีพ โดยมีนายลำแพน ภาโจ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ไปสอนการจักสานที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และยังเป็นนักศึกษาพิเศษของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน.อำเภอน้ำยืน มีความสามารถในการจักสานไม้ไผ่และได้คิดลายเป็นลิขสิทธิ์ของตัวเอง อาทิ ลายสอง ลายลูกแก้วลำแพนจันทร์ส่องแสง ลายลูกแก้วลำแพนสี่ทิศ และลายลูกแก้วลำแพนกลุ่มใหญ่ และมี ก.ศ.น.อำเภอน้ำยืน มาช่วยพัฒนาต่อยอดการสอนจักสาน นอกจากนี้ ก.ศ.น.อำเภอน้ำยืน ยังได้ส่งเสริมให้นักเรียนนำลวดลายจากเดคูพาจ มาทำเครื่องจักสานไม้ไผ่

ส่วนโครงการฝึกอาชีพ มีวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี สอนตัดผมนักเรียน สอนทำผมเปีย และเกล้าผม ทั้งยังสอนจรรยาบรรณในขณะประกอบอาชีพช่างตัดผมด้วย

ด้านโครงการเกษตรอาหารกลางวัน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี อุบลราชธานี ส่งเสริมนักเรียนและผู้ปกครอง ทำโครงการเพาะเห็ดบด ซึ่งเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่ชาวจังหวัดอุบลราชธานีชอบรับประทาน และสำนักงานเกษตรจังหวัดฯ สอนยุวเกษตรในโรงเรียน ทำปุ๋ยหมัก และปลูกผักเครือเถาในฤดูร้อนและผักกินใบในฤดูหนาว ทั้งยังมีหน่วยงานต่างๆ เข้าไปส่งเสริมการเลี้ยงสุกรเหมยซานและเลี้ยงปลา

โรงเรียนยังได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรสมเด็จย่า เพื่อสอนให้นักเรียนได้ตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับโรงเรียน ต.ช.ด. ไว้ในพระราชูปถัมภ์ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างอาคารเรียน รวมทั้งมีพระราชดำริให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการพัฒนาโรงเรียน ต.ช.ด. เพื่อสืบสานพระราชปณิธานต่อไป

ในด้านการส่งเสริมสุขภาพอนามัยนักเรียน ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโดมประดิษฐ์ บ้านกุดเชียงมุน ได้สร้างเครือข่ายชุมชน และจัดหน่วยเคลื่อนที่ออกให้ความรู้แก่นักเรียนและราษฎร เพื่อป้องกันการกลับมาระบาดของโรคไข้มาลาเลีย โรคพยาธิ และท้องร่วง โดยให้บริการตรวจสุขภาพนักเรียน และแจกจ่ายยาสามัญเบื้องต้น สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

สำหรับกิจกรรมห้องเรียน Smart kid บูรณาการสอนระหว่างสุภาษิตพื้นบ้าน หรือผญา กับภาษาอังกฤษ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และอนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณ

โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับผู้เจ็บป่วยไว้ในพระราชานุเคราะห์ จากนั้นทรงเยี่ยมราษฎรที่ไปเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ

เวลา 13.34 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองบัวพัฒนา ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน ซึ่งก่อตั้งขึ้นและเปิดทำการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2557 จากความต้องการของคนในชุมชน เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือใกล้บ้าน เนื่องจากการคมนาคมในการเดินทางไปเรียนยังต่างชุมชนไม่สะดวก และไม่ปลอดภัย ปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนระดับปฐมวัย ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีนักเรียนรวมจำนวน 73 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 7 คน

ในการนี้ ทรงเปิดแพรคลุมป้าย "ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองบัวพัฒนา" และทรงเปิด "อาคารเรียนบ้านหนองบัวพัฒนา" ซึ่งกลุ่มเครือข่ายบริษัทเซ็นทรัล จำกัด บริจาคเงินในการก่อสร้าง เพื่อเป็นอาคารเรียนถาวร ขนาด 1 ชั้น 13 ห้องเรียน

จากนั้น ทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์ฯ และความก้าวหน้าโครงการตามพระราชดำริ โดยด้านการศึกษา ในปีการศึกษาที่ผ่านมา ผลการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่3 พบว่าผลคะแนนเฉลี่ยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าระดับสังกัดและระดับประเทศ ซึ่งในปีการศึกษานี้ จะแก้ไขด้วยการปรับวิธีการสอนใหม่ จากเดิมที่ครูรับผิดชอบสอนเป็นระดับชั้น เปลี่ยนไปเป็นการสอนประจำวิชาตามความถนัดและมีการสอนซ่อมเสริม รวมถึงการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนนักเรียนก่อนชั้นประถมศึกษา มีการจัดการเรียนการสอนควบคู่ไปกับกิจกรรมต่างๆ ที่พัฒนาทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพื่อเตรียมความพร้อมขึ้นสู่ระดับชั้นประถมศึกษา

ส่วนด้านการฝึกอาชีพ มีกลุ่มแม่บ้านในชุมชน เข้าไปสอนภูมิปัญญาท้องถิ่น เกี่ยวกับการจักสานไม้ไผ่ เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ กระด้ง กระติบข้าว หวด และเสื่อ

ด้านกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน แบ่งเป็น 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมร้านค้า โดยเด็กนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนทุกคนเป็นผู้ถือหุ้น กิจกรรมออมทรัพย์ และกิจกรรมการเรียนการสอนเกี่ยวกับระบบบัญชี

จากนั้น ทอดพระเนตรโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน รวมถึงห้องอาหาร และห้องครัว ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารประกอบเลี้ยง ทางศูนย์ฯ ได้ส่งเสริมให้นักเรียนช่วยกันปลูกพืชผัก และเลี้ยงสัตว์ ผ่านวิชาเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้เกษตร บูรณาการร่วมกับเกษตรทฤษฎีใหม่ บนเนื้อที่ 3 ไร่ โดยปลูกถั่วเมล็ดแห้ง พืชผักสวนครัว ผักตามฤดูกาล เลี้ยงสุกร เป็ดเทศ ไก่ไข่ ไก่พันธุ์พื้นเมือง และปลาดุกในบ่อซีเมนต์ แล้วขายเข้าโครงการฯ ผ่านระบบสหกรณ์ ผลผลิตที่ได้เพียงพอต่อการบริโภค ยกเว้นพืชผัก เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด ขาดแหล่งน้ำ และดินไม่ดี แก้ปัญหาด้วยการทำปุ๋ยหมักช่วยเรื่องดิน และซื้อเพิ่ม โดยเน้นซื้อจากชาวบ้านในชุมชน ในการนี้ พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทาน และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. ร่วมกันจัดหาแหล่งน้ำให้ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองบัวพัฒนา และชุมชนใกล้เคียง ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภค-บริโภค

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองบัวพัฒนา ซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่ศาลาประชาคมของหมู่บ้าน เปิดรับเด็กอายุ 3 ถึง 5 ขวบ ปัจจุบันมีเด็กจำนวน 30 คน ครูและผู้ดูแล รวม 3 คน โดยการเรียนการสอนในแต่ละวัน จะมีด้วยกัน 6 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมเคลื่อนไหว การเสริมประสบการณ์ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมเสรี และเกมการศึกษา นอกจากนี้ ในแต่ละภาคการศึกษา จะมีการตรวจฟัน ตรวจสุขภาพ และวัดระดับความฉลาดทางสติปัญญา หรือ IQ (ไอคิว) ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีการพัฒนาตามวัย

สำหรับชุมชนบ้านหนองบัวพัฒนา มี 132 ครัวเรือน ประชากร รวมจำนวน 490 คน ทุกคนนับถือศาสนาพุทธและใช้ภาษาอีสาน ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นกับภาษาเขมร ในการสื่อสาร

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก