ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สมศ.ยกอุดมศึกษาเทียบอาเซียนพัฒนาผ่านกรอบประกันเอคิวเอเอฟ

วันที่ลงข่าว: 14/09/15

              “การประเมินคุณภาพการศึกษา” อีกหนึ่งกลไกการันตีถึงคุณภาพการจัดการศึกษาแต่ละประเทศ ภายใต้กระบวนการประกันคุณภาพที่แตกต่างกันตามบริบท และในปลายปี 2558 จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. หน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินคุณภาพภายนอกของประเทศไทย และในฐานะประธานเครือข่ายประกันคุณภาพอุดมศึกษาอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Network : AQAN) จึงได้ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานคุณภาพการศึกษาใน 10 ประเทศอาเซียน จัดการประชุมเครือข่ายเอคิวเอเอ็น เมื่อวันที่ 1-3 กันยายน ที่ผ่านมา ณ ประเทศฟิลิปปินส์

              เครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียนเอคิวเอเอ็น มีข้อตกลงร่วมกันในการยอมรับความหลากหลายของระบบประกันคุณภาพ สร้างความกลมกลืนด้านการอุดมศึกษาอาเซียน ภายใต้การจัดทำกรอบการประกันคุณภาพอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Framework : AQAF) เพื่อเป็นแนวทางสร้างระบบประกันคุณภาพที่มีมาตรฐานเดียวกัน นำไปสู่การแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์ การถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

              ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า เครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียนรวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2551 โดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาความร่วมมือด้านการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภูมิภาคอาเซียนให้มีความเป็นสากล มีความกลมกลืน และเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ซึ่งได้กำหนดกรอบประกันคุณภาพการศึกษาอาเซียน ประกอบด้วยหลักการ 4 ประการ ได้แก่ 1.หลักการของหน่วยประเมินคุณภาพภายนอก ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนต้องมีเป้าหมายและพันธกิจร่วมกัน จัดตั้งตามกฎหมายและได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่นจากหน่วยงานภาครัฐในประเทศ มีความเป็นอิสระในความรับผิดชอบการดำเนินงาน กระบวนการตัดสินใจและคำตัดสินปลอดจากอิทธิพลแทรกแซง รวมถึงมีมาตรฐาน มีหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีระบบการควบคุม ประเมินผลการดำเนินงานในทุกขั้นตอนที่น่าเชื่อถือ

              2.หลักการการประเมินคุณภาพภายนอก ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เรียนและของสังคมเป็นสำคัญ มีมาตรฐานเทียบเท่าการปฏิบัตินานาชาติและเชื่อมโยงการประกันคุณภาพภายในของสถาบันอุดมศึกษา พัฒนามาตรฐานต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และตอบสนองความต้องการ ผู้ประเมินภายนอกมีความเป็นมืออาชีพและปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ต้องมีกลไกการอุทธรณ์ ที่ทุกคนเข้าถึง 3.หลักการการประกันคุณภาพภายใน สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องคุณภาพ การประกันคุณภาพส่งเสริมการสร้างความสมดุลระหว่างความอิสระกับการตรวจสอบโดยสาธารณะ เป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งคณาจารย์ นิสิต/นักศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

              และ 4.หลักการกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ ช่วยกำหนดการเลื่อนคุณวุฒิระดับหนึ่งไปสู่ระดับที่สูงขึ้นจากผลการเรียนรู้และการฝึกอบรม รวมทั้งการเทียบโอนประสบการณ์ก่อนเข้าการศึกษา สนับสนุนแลกเปลี่ยนนักศึกษา เคลื่อนย้ายบุคลากรอาชีพต่างๆ ด้วยกระบวนการยอมรับคุณวุฒิการศึกษา รวมทั้งการศึกษาตลอดชีพ ตั้งอยู่บนผลการเรียนรู้ โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและสมรรถนะผู้เรียน ทั้งนี้ ที่ประชุมจะมีการจัดทำคู่มือที่นำไปสู่การปฏิบัติ โดยคาดว่าแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้

              ปัจจุบันอาเซียนมีจำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา 18-20 ล้านคน มีจำนวนสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียนประมาณกว่า 6,000 แห่ง เป็นสถาบันเอกชน 5,500 แห่ง การประกันคุณภาพอาเซียนมีกระบวนการแตกต่างกัน แบ่งออกเป็น การรับรองมาตรฐาน (accreditation) การติดตามผล (audit) และการประเมิน (assessment) โดยขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ

              “ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้อนาคตระบบการประเมินคุณภาพในอาเซียนเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายของอาเซียนในการสร้างระบบประกันคุณภาพให้มีคุณภาพสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างทัดเทียม ด้วยการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูล เพื่อความสะดวกในการสืบค้นและอ้างอิงข้อมูลด้านการประกันคุณภาพของแต่ละประเทศในกลุ่มสมาชิก อีกทั้งตอนนี้สหภาพยุโรปได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่อาเซียน ภายใต้โครงการชื่อ European Union Support to Higher Education in the ASEAN Region (EU-SHARE) ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 โดยถ่ายทอดประสบการณ์สร้างความกลมกลืนระบบการอุดมศึกษา ระบบประกันคุณภาพที่เทียบเคียงกันได้ ระบบการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และการถ่ายโอนหน่วยกิต การดำเนินการต่างๆ จะส่งผลให้ระบบการประกันคุณภาพในระดับอาเซียนเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น”

              อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าวได้จัดทำธรรมนูญอาเซียนของเครือข่ายเอคิวเอเอ็นเพื่อขับเคลื่อนการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอาเซียน โดยขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว และคาดว่าจะเสนอเลขาธิการอาเซียนได้เร็วๆ นี้

              “จากกรอบข้อตกลงทั้ง 4 ประการนั้น สมศ.จะนำมาเป็นแนวทางในการปรับรูปแบบ หลักเกณฑ์ ตัวบ่งชี้ การประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบข้อตกลงดังกล่าว เป็นการยกระดับคุณภาพของอุดมศึกษาไทยให้มีมาตรฐานเทียบเคียงในกลุ่มประเทศอาเซียน ระดับสากลมากขึ้น ซึ่งการประกันคุณภาพภายนอกมีความสำคัญในการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพบัณฑิต สถานศึกษา ทำให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ” ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว

 

โดย : ชุลีพร อร่ามเนตร

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 14 กันยายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก