ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“สถาบันสุขภาพเด็ก” มุ่งสู่ความเป็นหนึ่ง ยกระดับความเป็นเลิศด้านหัวใจพิการในเด็กระดับอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 23/02/15

“ทุกวันนี้ค่าเฉลี่ยเด็กแรกเกิดในประเทศไทย พบว่าทุก 1,000 คน จะเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 6-8 คน ซึ่งนับเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงเมื่อคิดคำนวณถึงจำนวนการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์พร้อมซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อนประเทศชาติสู่อนาคต คงดีไม่น้อยถ้าเราสามารถป้องกันและมีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กให้ห่างไกลความเสี่ยงจากแพทย์เฉพาะทางผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเด็กโดยเฉพาะ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ จึงได้ยกระดับศูนย์ความเลิศด้านหัวใจพิการแต่กำเนิด เพื่อดูแลรักษาเด็กไทย และพร้อมก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาการ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ “ด้านหัวใจพิการในเด็ก” ระดับอาเซียน

 

รศ.คลินิก พ.ญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันฯ ได้ดำเนินการบริหารและดูแลรักษาสุขภาพเด็กไทย ภายใต้บทบาทสำคัญในฐานะเป็นสถาบันการแพทย์ของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลด้านการรักษาบริการโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางในเด็ก ครอบคลุมถึงการวิจัย ค้นคว้า และร่วมพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยให้มีความรู้เท่าทันโรคเด็ก ซึ่งในปีนี้ สถาบันฯ ได้มุ่งเน้นในการดำเนินการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องสุขภาพ การดูแล และเทคโนโลยีในการรักษาผู้ป่วยเด็กและวิจัยโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการแพทย์เด็กในระดับโลก ซึ่งสถาบันฯ นับว่าเป็นศูนย์กลางของความเป็นเลิศและมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคเด็กในด้านต่างๆ ทั้งศูนย์เชี่ยวชาญพิเศษจักษุวิทยาเด็ก ศูนย์เชี่ยวชาญพิเศษ โสต ศอ นา สิก ศูนย์ความเป็นเลิศศัลยกรรมทารกแรกเกิด โดยเฉพาะศูนย์ความเป็นเลิศด้านหัวใจพิการในเด็ก ที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญด้านการดูแลและรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดให้กับเด็กไทยถึงปี 1,300-1,400 คนต่อปี

 

ด้าน ผศ.น.พ.วรการ พรหมพันธุ์ นายแพทย์ชำนาญการด้านกุมารเวชกรรม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่าใน 1 ปี ประเทศไทยมีเด็กป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดถึง 6,000 ราย หรือคิดเป็น 6-8 รายในเด็ก 1,000 ราย ซึ่งสถาบันฯ และหน่วยงานได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยใหม่ประมาณ 1,300-1,400 รายต่อปี และคาดการณ์ว่าในเด็กกลุ่มนี้มีมากกว่า 700-800 ราย จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดและสวนหัวใจ โดยผู้ป่วยทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับการรักษาซ้ำหรือเพิ่มเติมเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอกปีละ 11,200-15,000 ครั้ง และผู้ป่วยในเฉลี่ยสูงถึง 1,600-1,800 ครั้ง ซึ่งสถาบันสุขภาพเด็กฯ นับว่าเป็นสถาบันหลักในการให้การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดทั้งด้านการผ่าตัดการสวนหัวใจและการรักษาด้วยยา ปัจจุบันสามารถให้การผ่าตัดหัวใจปีละ 500 รายและให้การสวนหัวใจปีละ 450 ราย โดยจะเป็นการสวนหัวใจเพื่อการรักษาปีละ 250 ราย ซึ่งถือว่าสถาบันสุขภาพเด็กฯ เป็นหน่วยงานอันดับต้นๆ ที่มีบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหัวใจโดยเฉพาะ

 

 

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยกระดับสู่ความเป็นหนึ่งด้านโรคหัวใจพิการในเด็กในอาเซียน ล่าสุด สถาบันฯ ยังได้รับเกียรติประชุมนานาชาติ “The 5th Congress of Congenital Heart Disease: Right Heart Intervention from A to Z” ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม โดยมีแพทย์จากประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย ตุรกี ปากีสถาน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน พม่า อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย รวมกว่า 400 คน เข้าร่วม ให้ถ่ายทอดสดสาธิตเปลี่ยนลิ้นหัวใจและปิดรูรั่วในหัวใจด้วยสายสวนผ่านดาวเทียมจากห้องสวนหัวใจไฮบริด ศูนย์โรคหัวใจเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ภายใต้การดำเนินการสาธิตโดยทีมคณะแพทย์ ได้แก่ น.พ.ธนะรัตน์ ลยางกูร หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจเด็ก, ผศ.นพ.วรการ พรหมพันธุ์, พ.ญ.พิมพ์ภัค ประชาศิลป์ชัย หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจเด็กที่ร่วมเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ โดยใช้ไมล์การบิน ซึ่งเป็นผลจากการร่วมมือโครงการบริจาคไมล์ “Miles Give Kids A Smile” ระหว่างสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเดินทางเข้าร่วมดำเนินการสาธิตการผ่าตัดในครั้งนี้จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และได้รับคำชื่นชมจากคณะกรรมการจัดการประชุม ตลอดจนผู้เข้าร่วมประชุมถึงความเป็นมืออาชีพของทีมศูนย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กฯ ที่พร้อมเป็นหนึ่งหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเด็กในระดับอาเซียน

 

 

“อาการเพียงเล็กน้อย อาทิ เด็กหอบเหนื่อย ดูดนมได้น้อย ดูดแล้วต้องพัก น้ำหนักขึ้นช้า ตัวเล็ก เลี้ยงไม่โต หรือมีอาการเขียวร่วมด้วย โดยเฉพาะเวลาร้องอาจเห็นว่าเขียวคล้ำทั้งตัว เห็นชัดบริเวณหน้า ปาก มือ เท้า รายที่รุนแรงมากแม้เวลาอยู่เฉยๆ ก็เขียว ก็นับเป็นจุดเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ ควรรีบนำเด็กเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที” พ.ญ.พิมพ์ภัค กล่าว 

 

 

ทั้งนี้สถาบันสุขภาพเด็กฯ สามารถให้บริการด้านหัวใจพิการแต่กำเนิด แต่ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับของจำนวนเด็กป่วยที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งการเพิ่มเติมหอผู้ป่วยหนักโรคหัวใจ ตลอดจนครุภัณฑ์ทางการแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ อาทิ เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจ เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจแบบชั่วคราว เครื่องตรวจอัตราการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น ประกอบกับการทะนุบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์เก่าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน สถาบันสุขภาพเด็กฯ จึงขอเชิญชวนผู้ใหญ่ใจดีและผู้มีเมตตาจิตร่วมกันสร้างอนาคตของชาติ สร้างสุขภาพเด็กไทยให้แข็งแรง ด้วยการร่วมสมทบทุนในการจัดหาครุภัณฑ์การแพทย์ และพัฒนาบุคลากรให้พร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต โดยสามารถร่วมบริจาคเงินได้โดยสั่งจ่ายเช็คในนามมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก กองทุนอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ แจ้งรหัสบริจาคมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก หรือ www.childrenhospital.go.th (ใบเสร็จนำไปลดหย่อนภาษีได้) หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.1415 หรือ 0-2640-9363 มือถือ 08-8874-4671 หรือสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส สามารถร่วมบริจาคไมล์ ได้ที่โครงการบริจาคไมล์ “Miles Give Kids A Smile” www.thaiairways.com/rop

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก