ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ออทิสติก แอพพลิเคชั่นเพื่อเด็กพิเศษ - ฉลาดสุดๆ

วันที่ลงข่าว: 11/06/13

“เด็กออทิสติก” ที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการหรือการเรียนรู้ ถือเป็นเด็กที่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการเลี้ยงดูเอาใจใส่มากกว่าเด็กปกติทั่ว ๆ ไป เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการทักษะด้านต่าง ๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือตนเองและดำรงชีวิตประจำวันในสังคมได้

 

การเสริมทักษะและเพิ่มสมรรถภาพทั้งทางร่างกาย สติปัญญาและจิตใจแก่เด็กออทิสติก จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องศึกษาหาความรู้และวิธีการต่าง ๆ เพื่อนำมาฝึกทักษะให้กับเด็ก ซึ่งหากทำอย่างถูกวิธีจะช่วยฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพของเด็กให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน ซึ่งล่าสุดทางกลุ่มทรู ได้ร่วมกับ มูลนิธิออทิสติกไทย สร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการพัฒนา ออทิสติกแอพพลิเคชั่น (Autistic Application) ขึ้นเพื่อใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาทักษะและความสามารถทั้งด้านร่างกายและสติปัญญาแก่เด็กออทิสติกโดยเฉพาะ 

 

ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการด้านสื่อสารองค์กร ประชาสัมพันธ์การตลาดและกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอกลุ่มทรู ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนวัตกรรมเป็นอย่างมาก โดยมีความประสงค์ที่จะนำเทคโนโลยีที่ทางทรูมีอยู่มาใช้เพื่อให้การดำรงชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้ คิดค้นและพัฒนาโดยพนักงานของทรู มุ่งมั่นใช้เทคโนโลยี เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองในการพัฒนาทักษะของเด็กออทิสติกที่มีจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยให้สามารถช่วยเหลือตนเองและดำรงชีวิตประจำได้ และในเร็ว ๆ นี้กลุ่มทรูจะร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ สร้างนวัตกรรมให้กับกลุ่มบุคคลอื่น ๆ เช่น ผู้พิการทางสายตา ฯลฯ

 

นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีเด็กออทิสติกประมาณ 3.7 แสนราย แต่เป็นเด็กอยู่ในระบบที่มีบัตรทองได้รับการบริการและการช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐเพียง 1.2 หมื่นราย ทำให้มีเด็กอยู่นอกระบบที่ไม่ได้รับสิทธิมากกว่า 3 แสนคน จึงอยากให้ผู้ปกครองเข้ามาใช้สิทธิเพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลือและรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทักษะที่สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ สำหรับแอพพลิเคชั่นที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นเหมาะสมกับการเพิ่มทักษะด้านพื้นฐานแก่เด็กผ่านการใช้แอพพลิเคชั่นในแท็บเล็ต โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด ซึ่งจากการทดลองกับเด็ก 30 คนเป็นเวลา 6 เดือน เด็กทุกคนมีพัฒนาการทักษะด้านต่าง ๆ ดีขึ้นอย่างชัดเจน

 

ด้าน นายปรีดิ์ หวังเจริญ ผู้คิดค้นและพัฒนาแอพพลิเคชั่น กล่าวว่า ใช้เวลาในการพัฒนากว่า 1 ปี ประกอบด้วย แอพพลิเคชั่น 3 ส่วน คือ 1. Daily Tasks ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสอนกิจวัตรประจำวัน อาทิ แปรงฟัน อาบน้ำ ส่งเสริมให้เกิดทักษะความสนใจ ทักษะกล้ามเนื้อ และการเลียนแบบ 2. Trace&Share สอนทักษะการลากเส้น เสริมทักษะด้านวิชาการและ สังคม และ 3. Communication มีเนื้อหาสอนการสื่อสารขั้นพื้นฐาน โดยใช้สมุดภาพ ช่วยเพิ่มทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร ซึ่งในอนาคตเตรียมพัฒนาเนื้อหาอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก

 

“จุดเริ่มต้นของโครงการมาจากได้ศึกษาตลาดแอพพลิเคชั่นในสหรัฐอเมริกามีการนำไอแพดมาใช้กับกลุ่มเด็กออทิสติกอย่างแพร่หลายและมีผลวิจัยระบุว่ามีส่วนในการช่วยพัฒนาทักษะให้เด็ก ๆ ได้ จึงได้เสนอโครงการไปยังผู้บริหาร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเด็กในไทย หลังจากนั้นจึงได้เข้าไปตามโรงเรียน และเข้าไปใช้ชีวิตเรียนรู้พฤติกรรมกับเด็กออทิสติกประมาณ 4-5 เดือน เพื่อให้ทราบแนวทางการพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้เหมาะกับเด็กว่าเป็นอย่างไร โดยสิ่งที่ยากก็คือการถามผลตอบรับจากเด็ก ๆ ว่าใช้เครื่องมือแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากเด็กจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร การเข้าสังคม และการใช้ชีวิตประจำวัน จึงต้องเข้าไปทำงานร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อให้ทราบว่าผลตอบรับเป็นอย่างไร”

 

นายพิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ออทิสติก แอพพลิเคชั่น เปิดให้ดาวน์โหลดตั้งแต่เดือน ส.ค.  2555 และได้รับความนิยมเป็นแอพพลิเคชั่นการศึกษาที่ติดอันดับหนึ่งในประเทศแถบตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และติดอันดับ 1 ใน 10 แอพพลิเคชั่นเพื่อการศึกษาใน 25 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแล้วจำนวน 198,200 ครั้ง เชื่อว่าหลังเปิดตัวในไทยจะมียอดเพิ่มขึ้นอีกมาก

 

สำหรับผู้ที่สนใจและใช้ไอแพดสามารถดาวน์โหลดได้ที่ แอปเปิล แอพสโตร์ พิมพ์ค้นหาคำว่า True Autistic หรือ Thai Autistic ส่วนผู้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ดาวน์โหลดได้ที่ กูเกิล เพลย์ พิมพ์ค้นหาคำว่า True Thai Autistic เป็นแอพพลิเคชั่นฟรีไม่เสียเงินในการดาวน์โหลด

 

พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นเด็กออทิสติกอยากมีเครื่องมือพัฒนาทักษะของลูกดาวน์โหลดมาใช้กันได้.

 

จิราวัฒน์ จารุพันธ์

 

jirawatJ@dailynews.co.th

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก