ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รู้หรือไม่? วันที่ 3 ธ.ค.เป็น "วันคนพิการสากล"

วันที่ลงข่าว: 03/12/20

          เดลินิวส์ออนไลน์ พาทำความรู้จักกับวันคนพิการสากล จะมีความสำคัญและที่มาอย่างไร ห้ามพลาด

ปัจจุบันในประเทศไทยและทั่วโลกมีผู้พิการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในอดีตสาธารณูปโภคพื้นฐานในสังคมจะไม่เอื้ออำนวยต่อผู้ที่พิการมากนัก แต่ในปัจจุบันในทุกประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับผู้พิการอย่างมาก และมีการปรับปรุงและเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข เหมือนคนทั่วไป

          วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวันที่ 3 ธ.ค.กัน ซึ่งเป็นวันคนพิการสากล ที่กำหนดขึ้นมามุ่งสร้างความเข้าใจและให้ตระหนักรวมถึงความสำคัญของผู้พิการในทุกแง่มุม

          โดยองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันคนพิการสากล" เพื่อเป็นการระลึกถึงวันครบรอบที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติมีมติรับแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ และได้ให้ประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจของสังคมต่อคนพิการ และยอมรับให้เข้าร่วมกิจกรรมในด้านต่างๆ และประเทศไทยในฐานะองค์การสมาชิก โดยคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการได้มีการขานรับวันคนพิการสากลและกีฬาเฟสปิกเกมส์ โดยจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมคนพิการในด้านต่างๆ ทั่วประเทศ วันคนพิการสากล มีเป้าหมายเพื่อสร้างกระแสความเข้าใจต่อคนพิการและระดมการสนับสนุนแก่คนพิการเพื่อศักดิ์ศรีและความเป็นอยู่ของคนพิการ นอกจากนี้ก็ยังช่วยสร้างความตื่นตัวของประชาชนต่อคนพิการในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

          ความเป็นมาของวันคนพิการสากล เกิดขึ้นนับตั้งแต่องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้ปี พุทธศักราช 2526-2535 เป็นทศวรรษคนพิการแห่งสหประชาชาติ หรือ UNITED NATION DECADE OF DISABLED PERSONS,1983-1992. ยังผลให้ประเทศต่างๆ รวมไปถึงองค์การต่างๆในทุกภูมิภาคทั่วโลก ได้ตื่นตัวในการส่งเสริมฟื้นฟูสมรรถถาพคนพิการอย่างกว้างขวาง มีการติดต่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างประเทศองค์การสมาชิกอย่างเป็นรูปธรรม การเสนอแนะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ให้ใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์สูงสุง การป้องกันความพิการ การสนองความต้องการของคนพิการ การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ในทุกรูปแบบต่อประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนรณรงค์เรื่องสิทธิ และความเท่าเทียมกันในสังคนเพื่อคนพิการ รวมไปถึงมรการจัดกิจกรรมคนพิการ เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนา ทักษะการช่วยตัวเอง การเพิ่มพุนสมรรถภาพทางกาย จิตใจ อารมณ์และสังคมของคนพิการ และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีร่วมกัน ระหว่างคนพิการและคนปกติ

          จากการสำรวจทางสถิติขององค์การสหประชาชาติพบว่า กลุ่มประเทศแถบเอเชีย และแปซิฟิคนี้มีจำนวนประชากรที่เป็นบุคคลพิการมากที่สุดในโลก ทั้งนี้สาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาของความยากจน นอกเหนือจากนั้นก็เป็นเพราะสาเหตุของความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุและผลของสงคราม และด้วยความพิการทุพพลภาพนี้เองที่เริ่มแพร่มากขึ้นทุกขณะ ทางองค์การสหประชาชาติจึงเร่งตระหนักที่หาหนทางวิธีการแก้ไขป้องกันโดยเร็ว ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะลดจำนวนของผู้พิการลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยทางคณะกรรมธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค ก็ได้มีแนวนโยบายที่จะเร่งผลักดันแหนส่งเสริมคนพิการให้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละชาติ ตั้งคณะกรรมการประสานงานให้ความร่วมมือช่วยเหลือคนพิการและองค์การต่างๆ ที่จะร่วมมือสร้างชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น ทั้งในระดับชาติและระดับสากล ตลอดจนเร่งพัฒนาส่งเสริมให้คนพิการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้ได้รับการฟื้นฟูบำบัดรักษา การศึกษา การฝึกฝีมือและอาชีพหรือแม้กระทั่งมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทั้งทางการกีฬา วัฒนธรรมประเพณีและสิ่งแวดล้อม

           องค์การสหประชาติได้ส่งเสริมคนพิการในด้านต่างๆ มากมายด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ส่งเสริมให้คนพิการได้มีโอกาสอยู่ร่วมกับคนในสังคมและมีโอกาสได้รับการศึกษาในด้านต่างๆ เช่นเดียวกับคนปกติ และให้คนพิการมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายซึ่งสามารถจำแนกออกมาในด้านต่างๆ อาทิเช่น ในด้านสังคม  คนพิการสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมต่างๆ ได้สามารถช่วยเหลือตนเองได้  และทำตนไม่ให้เป็นภาระแก่คนในสังคมนั้น  ซึ่งนานาประชาชาติได้มอบ อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้คนพิการได้ช่วยเหลือตนเอง เช่น การคิดค้นประดิษฐ์หุ่นยนต์สุนัขเพื่อช่วยคนตาบอดในการเดินทาง หรือการประดิษฐ์เครื่องช่วยฟังสำหรับคนหูหนวก เป็นต้น ซึ่งช่วยให้คนพิการเหล่านั้นสามารถช่วยเหลือตนเองได้ รวมทั้งประดิษฐ์ขาเทียมเพื่อคนพิการทางขาอีกด้วย

           ด้านอาชีพได้มีการเล็งเห็นความสำคัญในการประกอบอาชีพของคนพิการด้วย เพื่อให้คนพิการได้นำเงินมาจุนเจือตนเองและครอบครัว จึงได้สนับสนุนคนพิการในด้านต่างๆ เช่น งานหัตถกรรม เป็นต้น ขายล๊อตเตอรี่ พนักงานรับโทรศัพท์ งานช่างต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างกระจก เป็นต้น ทำให้คนพิการได้มีโอกาสประกอบอาชีพต่างๆ ได้มากขึ้น ส่วนงานที่เกี่ยวกับการศึกษานั้นเพื่อให้คนพิการได้นำเอาวิชาความรู้ไปใช้ในด้านการประกอบอาชีพและป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งได้ให้โอกาสในการศึกษาของคนพิการในด้านต่างๆ เช่น การให้ทุนเกี่ยวกับการศึกษาแก่คนพิการ และการผลิตอุปกรณ์ทางการศึกษาแก่คนพิการต่างๆอีกด้วย

 

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

 

ที่มาของข่าว https://www.dailynews.co.th/article/810253
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก