กรมสุขภาพจิต แนะชาวใต้ เตรียมพร้อมรับมือ“พายุดีเปรสชั่น” ไว้ล่วงหน้า จะช่วยลดเครียดจากการสูญเสียได้ !!
อธิบดีกรมสุขภาพจิต สั่งสถานพยาบาลในสังกัดในภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือภาวะน้ำท่วมจากพายุดีเปรสชั่น ประชาชนที่ไปพบจิตแพทย์ตามนัดไม่ได้ ให้แจ้งประสานเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พร้อมแนะนำให้ประชาชนเตรียมความพร้อมป้องกันไว้ล่วงหน้า ช่วยลดความเครียดได้ ส่วนพื้นที่น้ำท่วมขณะนี้ ในวันนี้ส่งทีมจิตแพทย์เอ็มแคทลงดูแลจิตใจผู้ประสบภัยที่บ้านปลาปัด อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ผลการประเมินสุขภาพจิตผู้ประสบภัย พบที่จ.ขอนแก่น เครียด กังวล 19 คน ส่วนที่ 5 จังหวัดในภาคกลาง เช่นพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี พบเครียดระดับปานกลาง-สูงรวม 391 คน ซึมเศร้า 23 คน จะติดตามดูแลต่อเนื่องจนกว่าจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ
วันนี้ 1 พฤศจิกายน 2560 นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยเกี่ยวกับการเตรียมรับมือน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ จากพายุดีเปรสชั่น ในช่วงวันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน 2560 ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า ได้ให้สถานพยาบาลในสังกัดที่อยู่ในภาคใต้จำนวน 5 แห่ง เตรียมความพร้อมทีมจิตแพทย์เอ็มแคทพร้อมเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็นอย่างน้อยแห่งละ 3 ทีม เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานร่วมกับทีมจิตแพทย์เอ็มแคทของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ดูแลจิตใจผู้ประสบภัยในภาวะฉุกเฉินอย่างเต็มที่ และให้โรงพยาบาลจิตเวชฯสำรองเตียงเพื่อรับผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้หากประชาชนมีความเครียด ไม่สบายใจ สามารถรับบริการปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน อสม. หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมเตรียมแผนการรับมือไว้ล่วงหน้า หากเกิดน้ำท่วมขึ้นจริงจะสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ทันที จะช่วยลดความเครียดจากการสูญเสียได้ โดยขอให้สำรองสิ่งของยังชีพทั้งอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อย 3 วัน จัดเก็บเอกสารสำคัญไว้ในหีบห่อที่กันน้ำหยิบฉวยได้ง่ายเมื่อเกิดเหตุ วางแผนการเคลื่อนย้ายผู้ที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อยเช่นผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และสิ่งของมีค่าไว้ให้พร้อมสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวทุกโรคให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว หยิบฉวยได้ง่ายหากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช ห้ามขาดยา เนื่องจากอาการจะกำเริบได้
“พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสานขณะนี้ กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมจิตแพทย์เอ็มแคทดูแลจิตใจร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ผลการตรวจคัดกรองความเครียดผู้ประสบภัยในจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี รวม 1,330 คน พบมีความเครียดระดับปานกลางถึงระดับสูง มีอาการนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ รวม 391 คน และมีภาวะซึมเศร้า ต้องให้การดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ 23 คน ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะให้การดูแลต่อเนื่องและประเมินสุขภาพจิตเป็นระยะๆจนกว่าจะกลับมาสู่ระดับปกติ” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ด้านนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า โรงพยาบาลฯ ได้จัดทีมจิตแพทย์เอ็มแคท ออกให้บริการผู้ประสบภัยในเขตเทศบาลขอนแก่น 3 ครั้ง ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจิต พบมีความเครียด วิตกกังวล จำนวน 19 คนแต่อยู่ระดับที่ไม่รุนแรง ซึ่งรพ.จะให้การดูแลฟื้นฟูจิตใจร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นอย่างต่อเนื่อง สำหรับในบ่ายวันนี้ รพ.จิตเวชขอนแก่นฯได้จัดทีมจิตเอ็มแคทพร้อมเวชภัณฑ์ยาสามัญประจำบ้าน ยาจิตเวช ให้บริการผู้ประสบภัยที่หมู่บ้านปลาปัด อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เพื่อเสริมสร้างพลังใจ และตรวจประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจิตด้วย
ทางด้านนายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา ผู้อำนวยการรพ.สวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ได้จัดเตรียมแผนและทีมจิตแพทย์เอ็มแคทๆไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ทีม พร้อมทั้งสำรองเตียงเพื่อรับผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินไว้ 30 -60 เตียง ขณะเดียวกันสามารถปรับพื้นที่ของรพ.ให้เป็นจุดพักพิงประชาชนได้ประมาณ 500 คน และเพิ่มได้ตามความจำเป็น อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ป่วยจิตเวช ที่จิตแพทย์นัดพบแพทย์ในช่วงสัปดาห์นี้ หากไม่สามารถเดินทางตามนัดได้ ขอให้แจ้งที่โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่อยู่ใกล้บ้านได้ ซึ่งขณะนี้มีระบบการประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนอย่างเต็มที่