สภากาชาดไทยเปิด “โครงการชุดธารน้ำใจ” เพื่อผู้ประสบภัยกลุ่มเปราะบาง นำร่อง 4 จังหวัด ยกระดับการช่วยเหลือแบบเฉพาะบุคคล
วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม The Hall B ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายเดชาธร เชาว์เลขา ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย โดยมีนายพลโท นายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯเป็นประธานเปิด “โครงการชุดธารน้ำใจสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ประสบภัยพิบัติ” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อยกระดับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายกว่า 19 หน่วยงาน โดยมีการใช้แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” เพื่อระบุตำแหน่งและข้อมูลของกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ พร้อมทั้งบูรณาการการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
(อสม.) ในการเยี่ยมบ้านและปักหมุดข้อมูลผ่านระบบ GPS อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 สภากาชาดไทยได้จัดส่งชุดธารน้ำใจไปยังพื้นที่ประสบภัยแล้วกว่า 2.3 ล้านชุด โดยร่วมกับบริษัท ซีพี แอ๊กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งสามารถส่งมอบได้ภายใน 24 ชั่วโมง ในสัดส่วนความแม่นยำและทันเวลาสูงถึง 99.99% เพื่อให้การช่วยเหลือมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น สภากาชาดไทยจึงเปิดโครงการนำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย อุบลราชธานี และสงขลา ผู้ประสบภัยกลุ่มเปราะบางที่ได้รับการปักหมุดข้อมูลไม่น้อยกว่า 1 เดือน สามารถเลือกสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาทต่อราย ผ่านระบบแอปพลิเคชัน โดย อสม. จะเป็นผู้ช่วยประสานและนำส่งของถึงบ้านผู้รับอย่างรวดเร็ว
ซึ่งอสม.ทั่วไทยร่วมใจปักหมุดกลุ่มเปราะบางผ่านแอปพลิเคชันพ้นภัย เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ 6 รอบ 72 พรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแต่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทั้งนี้ ได้ดำเนินการปักหมุดพิกัดที่อยู่ไปแล้วมากกว่า ห้าแสนหกหมื่นคน นอกจากนี้ได้ทำความตกลงกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่จะนำข้อมูลมูลผู้เปราะบางดังกล่าวไปบรรจุในแผนเผชิญเหตุรับภัยพิบัติของหน่วยงานทุกระดับ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอไปจนถึงระดับจังหวัดทุกจังหวัด
โดยสภากาชาดไทย ให้ความสำคัญในการพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพิ่มเติมจากเดิมที่แจกจ่ายชุดธารน้ำใจตามรายการมาตรฐานที่เหมือนกันทุกชุดเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ตรงตามความจำเป็นของผู้ประสบภัยมากขึ้น ผู้ประสบภัยกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่ กลุ่มผู้เปราะบางที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกิดภัยที่ได้รับอนุมัติชุดธารน้ำใจตามรายการมาตรฐาน และได้รับการปักหมุดโดย อสม.ในแอปพลิเคชัน "พ้นภัย" ไว้แล้ว ไม่ต่ำกว่า 1 เดือน สามารถเลือกสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้ตรงตามต้องการพิเศษของตนโดยความช่วยเหลือของ อสม.ผ่านแอปพลิเคชันพ้นภัย ตามรายการที่สภากาชาดไทยและและกระทรวงสาธารณสุขร่วมกำหนดไว้ล่วงหน้า ในวงเงิน 1,500 บาทต่อราย และผู้ประกอบการจะจัดส่งไปยังพื้นที่ประสบภัยและให้ อสม. หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้เปราะบาง นำส่งสิ่งของดังกล่าวให้แก่ผู้เปราะบางถึงบ้าน ทำให้ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้เปราะบางได้รับสิ่งของตามความต้องการพิเศษได้อย่างรวดเร็ว ทันการใช้งาน ส่งเสริมความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)