มข. ร่วมสานรอยยิ้ม สร้างอาชีพ เด็กผู้มีภาวะพิเศษ ปากแหว่งเพดานโหว่
มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศูนย์ตะวันฉาย (มูลนิธิตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และพิการทางศีรษะ และใบหน้า และศูนย์การดูแล/วิจัยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการ การเรียนรู้การเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน และรศ.ดร.ทพ. พูนศักดิ์ ภิเศก ผู้อำนวยการศูนย์ตะวันฉาย กล่าวรายงาน ณ อุทยานเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โครงการการเรียนรู้การเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ด้านการเกษตรยั่งยืน ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพภายในตัวของผู้มีภาวะพิเศษปากแหว่งเพดานโหว่ ให้สามารถสร้างสุนทรียะ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดความเครียด ความวิตกกังวล นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ ให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งส่งมอบความรู้สร้างความเข้าใจของสังคมที่มีต่อผู้มีภาวะพิเศษเพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
รศ.ดร.ทพ. พูนศักดิ์ ภิเศก ผู้อำนวยการศูนย์ตะวันฉาย เผยว่า ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัวทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ด้านร่างกาย (Physical health) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั้งสุขภาพทั่วไป และการสื่อสาร ด้านจิตใจ (Psychological health) ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดและความภาคภูมิใจในตนเอง พฤติกรรมและภาพลักษณ์ภายนอก และด้านสังคม (Social health) ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ทางสังคมและครอบครัว จากการวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มักมีความพึงพอใจในความสวยงามต่ำ มีความพึงพอใจในตนเอง ต่อใบหน้า ริมฝีปาก เสียงพูด ฟัน และการได้ยินปานกลาง พึงพอใจในส่วนของจมูกน้อยที่สุด มีความกังวลในเรื่องเจ็บป่วย และบางรายมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่อการเข้าสังคม ศูนย์ตะวันฉาย โดยการทำงานร่วมกันของ มูลนิธิตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า ศูนย์การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า และศูนย์วิจัยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ได้บูรณาการการดูแลผู้ป่วยร่วมกันโดยทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล รักษา ผ่าตัด และฟื้นฟูสภาพตามช่วงอายุที่สมบูรณ์แบบ มีเป้าหมายของทีมร่วมกันคือ ผู้ป่วยมีความปลอดภัย พึงพอใจในผลลัพธ์การรักษา สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถตอบแทนสู่สังคมได้ ผ่านโครงการการเรียนรู้การเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ที่รวบรวมเอาองค์ความรู้จาก 4 สหวิชา ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บูรณาการร่วมกันเพื่อให้ผู้มีภาวะพิเศษพัฒนาศักยภาพตนเอง ตลอดจนมอบองค์ความรู้สร้างความเข้าใจของสังคม ให้ผู้มีภาวะพิเศษสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพ เพิ่มความมั่นใจในรูปลักษณ์ภายนอก โดยทีมแพทย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว เราจำเป็นต้องส่งเสริมด้านกิจกรรมหรือสุนทรียภาพ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางใจ สร้างสัมพันธ์ในครอบครัว โดยกิจกรรมฐานการเรียนรู้ดุ๊กดิ๊กไส้เดือนดินเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมหกขาน่ารักโลกของแมลง ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทำให้สามารถต่อยอดความรู้ไปสู่การสร้างรายได้ และผ่อนคลายความเครียด ไม่เพียงแค่รักษาหายทางกายภาพและจบไป แต่เด็กและเยาวชนผู้มีภาวะพิเศษปากแหว่งเพดานโหว่ จะเติบโตอย่างมีศักยภาพ ใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข
รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเสริมว่า ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ส่วนใหญ่มักมีการรักษาเกี่ยวเนื่องกับช่องปากและฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ จึงทำหน้าที่ดูแล ตั้งแต่แรกเกิดจนโต อาทิ จัดฟัน อุดฟัน โดยบูรณาการการเรียนการสอนให้นักศึกษาทุกระดับชั้น ได้มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมาใช้ในการรักษาอย่างดีที่สุด เมื่อดูแลด้านกายภาพ เสริมภาพลักษณ์ภายนอกให้เด็กมั่นใจแล้ว จึงส่งต่อไปคณะอื่น ๆ เรียกว่าทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อเป็นองค์รวมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมมือกันเพื่อจะส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดให้แก่เด็กและเยาวชนไทย
รศ.นพ.พลากร สุรกุลประภา รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศ และศูนย์กลางบริการสุขภาพ กล่าวว่า โดยปกติ ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ในต่างประเทศพบน้อยมากประมาณ ร้อยละ 0.12 แต่ในประเทศไทยพบสูงมากโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การรักษาจะได้รับสิทธิ์บัตรทอง หรือแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่ที่พบคือมีปัญหาเกี่ยวกับการเดินทาง ผู้ปกครองอย่างน้อย 2 คนจะเป็นผู้พามา ซึ่งจะสูญเสียโอกาสในการหารายได้ ทำให้เป็นจุดอ่อน มีคนไข้เข้ามารักษาน้อย เพราะกลัวสูญเสียรายได้ ทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์จึงพยายามแก้ไขปัญหานี้ ร่วมกับฝ่ายอื่น ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาดูแลผู้ป่วยให้รวดเร็วขึ้น อาทิ เพดานเทียม ที่ขยายรูจมูก พัฒนาแอฟพลิเคชั่นฝึกพูด ลดอัตราการเดินทางมาพบแพทย์บ่อยครั้ง เราพยายามพัฒนาให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการดูแลมากขึ้น อำนวยความสะดวกให้ผู้ปกครอง และเด็ก มีภาพลักษณ์ที่ดี สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมโดยไม่มีปัญหา ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าสังคมเริ่มเปิดโอกาสมากขึ้น เด็ก ๆ สามารถใช้ชีวิตโดยไม่เป็นจุดด้อยของสังคมได้แล้วในปัจจุบัน
ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ เผยว่า 35 ปี เรามองว่ามูลนิธิตะวันฉาย ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งช่วยฟื้นฟูคนไข้ เป้าหมายคืออยากให้เด็กไทยโตขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในสังคมได้อย่างปกติสุข มูลนิธิ ฯ ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมด รวมถึงค่าใช้จ่ายช่วยในการเดินทาง ทางมูลนิธิ ฯ ได้เปิดระดมทุนเอง และได้รับทุนสนับสนุนจากในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยัง ช่วยส่งเสริมการประกอบอาชีพ การศึกษา ประสานหาที่ทำงาน ในบางรายเป็นผู้ป่วยยากไร้ไม่มีที่อยู่อาศัย ทางมูลนิธิ ฯ ก็สร้างบ้านให้มากกว่า 10 กว่าหลังแล้ว โดยขณะนี้มีผู้ป่วยในการดูแล 5,000 คน ในปัจจุบันมูลนิธิตะวันฉาย นับเป็นโมเดลการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า เป็นตัวอย่างระดับภูมิภาคเอเชีย และระดับโลก ที่ต่างประเทศไม่สามารถทำได้ แต่เราทำได้ ยอดเยี่ยม เพราะทีมเราเข้มแข็งมาก เพราะเราดูแลตั้งแต่แรกเกิดจากคณะทันตแพทย์และคณะแพทย์ จนถึงทำงานโดยคณะเกษตรศาสตร์ เสริมสร้างภาวะความเข้มแข็งภายในใจโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ ต่อยอดการหาสถานที่ปรึกษาการทำงานโดยมูลนิธิตะวันฉาย เราดูแลเด็กคนหนึ่งที่แม้ร่างกายผิดปกติ แต่ใจเขาปกติดีให้เติบโตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ มูลนิธิตะวันฉาย เป็นจุดเชื่อมโยงทุกมิติ ทุกคณะ ให้ทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือช่วยให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเติบโตสมบูรณ์มากที่สุด
“ เด็กบางคนมีภาวะซ้ำซ้อน ซึ่งแบ่งเป็นซ้ำซ้อนแรกคือ จากแม่ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่มีโอกาสที่จะทำให้ลูกที่เกิดใหม่มีภาวะนี้ตามไปด้วย โดยเราทำงานวิจัยต่อเนื่องดูแลเด็กเกิดใหม่ด้วย ติดตามดูกระทั่งตอนเขาสร้างครอบครัวว่าทำอย่างไรที่จะลดปัจจัยเสี่ยงเด็กเกิดใหม่ในแม่ที่เคยเป็นแล้ว ต่อมาปากแหว่งซ้ำซ้อนทางสมอง คือเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ มักมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ตรงนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยทุกมิติ ฉะนั้นต้องมี การรักษาดี ติตามผลเสียงพูดดี เพราะถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ดีใน 3 ขวบปีแรก จะพูดไม่ชัด ไม่กล้าเข้าสังคม เขาจะหลบหลังชั้นทันที มูลนิธิจึงพยายามช่วยดึงศักยภาพเด็กกลุ่มนี้ออกมา ผู้มีภาวะพิเศษ บางทีอยู่โรงเรียน เขาไม่มั่นใจ แต่มูลนิธิช่วยส่งเสริมศักยภาพผ่านกิจกรรมการฝึกพูด การร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น เขาสามารถแสดงออกได้ ดึงศักยภาพเขาออกมา สร้างความมั่นใจ สนับสนุนศิลปะ ดนตรี เราเชื่อว่าประสบการณ์ที่เราส่งต่อเด็ก จะสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมาเขาจะมอบสิ่งดีให้สังคมต่อไปไม่มีสิ้นสุด” ประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ กล่าวในที่สุด