ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จังหวัดยะลา จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสตรีพิการกับ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศและกลไกลการคุ้มครอง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วน รู้ความสำคัญของความเสมอภาคของเพศ

วันที่ลงข่าว: 01/05/19

          วันที่ 30 เมษายน 2562 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายบุญธรรม มุณีกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. (กระทรวงพาณิชย์) เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสตรีพิการกับ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศและกลไกลการคุ้มครอง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นการเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ กับทุกภาคส่วน และเป็นแรงกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมเห็นความสำคัญของความเสมอภาคของเพศและปัญหาความไม่เสมอภาคของเพศที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งจะนำพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่สังคมที่มีความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างแท้จริงต่อไป โดยครั้งนี้มีผู้แทนจากสมาคมคนพิการจังหวัดยะลา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

          นายบุญธรรม มุณีกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (กระทรวงพาณิชย์) ได้เปิดเผยในพิธีเปิดในครั้งนี้ว่า พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีความเข้มแข็งขึ้นอยู่กับองค์กรประกอบหลาย ๆ ด้าน ปัญหากลไกลสำคัญที่สุดคือ การคลายปมปัญหาเรื่องความเลื่อมล้ำจะสามารถแก้ไขและลดความรู้สึกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ก็ต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนจากทุกหน่วยงาน และประชาชนทุกคน ร่วมกันแก้ไขและสร้างผืนแผ่นปลายด้ามขวานให้เกิดความสงบสุขอย่างยั่นยืนตลอดไป

          ทั้งนี้กฎหมายเพื่อสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างเพศได้เริ่มขึ้น เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เสนอร่างกฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อสภานิติบัญญัติแห่งขาติ (สนช.) โดยเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส  ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ” มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา

          อย่างไรก็ตามโครงการที่จัดขึ้นในครั้งนี้มุ่งหวังให้ประชาชนในสังคมเข้าใจในเนื้อหาสาระสำคัญของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 และคุ้มครองป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ควบคู่ไปกับการให้สังคมตระหนัก เรียนรู้ และปรับทัศนคติในการยอมรับในประเด็นความเสมอภาคระหว่างเพศ และยอมรับ ในความหลากหลายทางเพศ บนพื้นฐานหลักสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก