ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: สภาพสังคมและสถานการณ์หลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุไทย

วันที่ลงข่าว: 17/04/19

          คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการผู้สูงอายุ ได้พิจารณาศึกษา เรื่องการ "การสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุไทย" ซึ่งคณะกรรมาธิการ ได้นำเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงขอนำเสนอข้อมูลบางส่วนจากรายงานดังกล่าว ซึ่งได้นำเสนอในฉบับก่อนๆ ไปบ้างแล้ว ในเรื่องของข้อเสนอแนะ และในฉบับนี้ขอเสนอในเรื่องสถานการณ์หลักประกันรายได้ผู้สูงอายุไทย ดังนี้

          ภาวะสังคมผู้สูงอายุและสถานการณ์หลักประกัน รายได้ผู้สูงอายุไทย

ภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เป็นกระแสทางสังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เป็นกระแสที่เป็นประเด็นปัญหา ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ สืบเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะสาขาการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนความสำเร็จด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากรของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จากสถิติอัตราการเกิดที่ลดลง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานสูงสุด ร้อยละ ๖๗ ของประชากรทั้งประเทศ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยมีประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๑๐.๒ และ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) จะมีประชากรอายุ ๖๐ปี มากกว่า ร้อยละ ๒๐

          ในบางจังหวัดของประเทศไทย ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ขณะเดียวกันในบางอำเภอ เช่น อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้วเช่นกัน ดังนั้น การเตรียมพร้อมในเรื่องของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรจะมีการบูรณาการของหน่วยงานที่รับผิดชอบ

          * ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานสถิติ จังหวัด และรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง "สังคมผู้สูงอายุ : ระเบียบวาระแห่งชาติ"

ประเด็นสำคัญสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ประชากร คือ ลักษณะการพึ่งพิงกันระหว่างกลุ่มประชากรกลุ่มต่างๆ (กลุ่มวัยเด็ก วัยเรียน กลุ่มผู้สูงอายุ ต้องพึ่งพิงกลุ่มวัยแรงงาน) มีการเปลี่ยนแปลง โดยพบว่า อัตราการพึ่งพิง (Dependency Ratio) ของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ มีอัตราการพึ่งพิงเท่ากับ ๔๒ คน ต่อประชากรวัยแรงงาน ๑๐๐ คน และจะเพิ่มเป็น ๖๐ คนต่อประชากรวัยแรงงาน ๑๐๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๕๙๓ นั่นคือ สัญญาณอันตรายอย่างยิ่ง ต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ การประเมินรายได้ของประชากรสูงอายุ พบว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อน ที่มีระดับรายได้สูง กล่าวคือ เกาหลีใต้และสิงคโปร์ มีรายได้ต่อหัว ๑๐,๑๖๐ และ ๒๓,๔๒๐ เหรียญสหรัฐฯ ส่วนไทยเรา มีรายได้ต่อหัวเพียง ๑,๙๐๐ เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด พบว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง แต่มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงกว่าประเทศอื่นในประชาคมอาเซียน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และ เป็นข้อจำกัดที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ๒๕๕๘.)

           ภาวะความเป็นอยู่ผู้สูงอายุไทย จากการสำรวจประชากร สูงอายุของไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ ๓๐.๗ และ จากการประเมินความเพียงพอของรายได้ผู้สูงอายุ โดยใช้ความรู้สึกของตนเองในการตอบ ไม่ได้ ใช้เงินรายได้มาเป็นเกณฑ์ในการวัดความเพียงพอ พบว่า

          ร้อยละ   ๒.๐ มีรายได้เกินเพียงพอร้อยละ ๑๗.๐ มีรายได้ไม่เพียงพอร้อยละ ๒๑.๖ เพียงพอเป็นบางครั้งร้อยละ ๕๙.๔ มีรายได้เพียงพอ          จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ความยากจนในประเทศโดยภาพรวมลดลง แต่ความยากจนยังเป็นปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาความยากจนผู้สูงอายุ จากการประเมินความยากจน จากรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ย ต่อคนต่อเดือน ที่เส้นความยากจน พบว่าความยากจนของ ผู้สูงอายุไทยลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งจำนวนและสัดส่วน จำนวนผู้สูงอายุยากจนลดลงจาก ๒.๓ ล้านคน หรือ ร้อยละ ๒๖.๓๗ ของประชากรสูงอายุทั้งหมด ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เหลือ ๑.๗ ล้านคน หรือ ร้อยละ ๑๖.๐๓ ของประชากรสูงอายุทั้งหมด ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ทั้งนี้ เห็นชัดเจนในเขตชนบทกว่าในเขตเมือง

          หนี้ในครัวเรือนของผู้สูงอายุยากจน ในรอบ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔) พบว่าในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ครัวเรือนผู้สูงอายุยากจน มีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย ๖๑,๐๑๐ บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งครัวเรือนผู้สูงอายุยากจนมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย ๕๓,๕๕๔ บาท/ครัวเรือน นอกจากนี้ ผลการประเมินสภาพการดูแลผู้สูงอายุจากครัวเรือนยากจนที่มีผู้สูงอายุในครอบครัว ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ พบว่า คนจนมากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว และ ไม่มีบุตรหลานดูแลสูงสุด ร้อยละ ๑๗.๙ และ ร้อยละ ๑๑.๒ มีครอบครัวดูแลเอาใจใส่ดี และปานกลาง ต่ำสุด ร้อยละ ๓๕.๑ และ ๓๕.๘

          การเข้าถึงสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากการสำรวจ พบว่า ผู้สูงอายุที่ยากจนได้รับเบี้ยยังชีพในสัดส่วนที่สูงกว่า ผู้สูงอายุไม่ยากจน เนื่องจากผู้สูงอายุที่ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจดี จะไม่ไปขึ้นทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๕ ผู้สูงอายุยากจนได้รับเบี้ยยังชีพ ร้อยละ ๘๙.๙๔ ของผู้สูงอายุยากจนทั้งหมด ผู้สูงอายุไม่ยากจนได้รับเบี้ยยังชีพ ร้อยละ ๘๐.๐ ของผู้สูงอายุไม่ยากจนทั้งหมด และ พบว่าผู้สูงอายุ ในเขตชนบทได้รับเบี้ยยังชีพในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้สูงอายุในเขตเมือง

          สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นอกจากการประเมินผลความยากจนโดยใช้เส้นความยากจน (Poverty Line) ในกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว ยังได้จัดทำดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multi - Dimension Poverty Index : MPI) ของกลุ่มผู้สูงอายุไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ แสดงความขัดสนในมิติต่าง ๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน โดยพิจารณาจาก ๔ มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา และ ด้านความเป็นอยู่ พบว่าดัชนีวัดความยากจนหลายมิติของผู้สูงอายุ ในภาพรวม เท่ากับ ร้อยละ ๒๕ มีผู้สูงอายุที่ยากจน ร้อยละ ๘๕.๖ ค่าเฉลี่ยของความขัดสนทุกมิติของผู้สูงอายุยากจน ร้อยละ ๒๙.๒ พิจารณาในระดับพื้นที่พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่า MPI สูงสุด ร้อยละ ๒๘.๙ รองลงมา ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กรุงเทพมหานคร โดยมีค่า MPI ร้อยละ ๒๕.๒, ๒๔.๕, ๒๒.๖ และ ๑๗.๘ ตามลำดับ

          หากพิจารณาสัดส่วนความขัดสนของผู้สูงอายุยากจน ในมิติต่างๆ ต่อประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด ที่ระดับ Poverty Cutoff ร้อยละ ๑๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ พบว่าผู้สูงอายุยากจนมีสัดส่วนความขัดสนในมิติด้านการศึกษาสูงสุด ร้อยละ ๙๔.๔ รองลงมา ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ ด้านความเป็นอยู่ และ ด้านสุขภาพ มีสัดส่วนความขัดสนอยู่ที่ ร้อยละ ๓๗.๓, ๓๕.๓๒, และ ๖.๗๗ ตามลำดับ พิจารณาระดับพื้นที่ ความขัดสนของผู้สูงอายุยากจนในแต่ละมิติ พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคเหนือมีสัดส่วน ความขัดสนของผู้สูงอายุยากจนสูงสุด ๓ ด้าน ได้แก่ มิติด้านการศึกษา ด้านความเป็นอยู่ และ ด้านเศรษฐกิจ สำหรับกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และ ภาคใต้ มีสัดส่วนความขัดสนของผู้สูงอายุยากจน สูงสุด ๒ ด้าน ได้แก่ มิติด้านการศึกษา และ ด้านเศรษฐกิจ

 

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม

 

หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

 

หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- เสาร์ที่ 13 เมษายน 2562 

 

 

 

ที่มาของข่าว https://www.ryt9.com/s/nnd/2979028
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก