ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: 'การสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุไทย'

วันที่ลงข่าว: 09/04/19

          คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา

(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)๕.ปัจจุบันมีกองทุนจัดการระบบบำนาญหลาย กองทุน เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น ควรบูรณาการ เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายเดียวกัน เพื่อฐานข้อมูลและความมีประสิทธิภาพ และควรเป็นภาคการออม ที่รัฐจ่ายสมทบ ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ

          ๖.ฐานข้อมูลผู้สูงอายุ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการหลักประกันรายได้ ดังนั้น ต้องมีการจัดทำ ฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหลักประกันรายได้ของแรงงานในระบบและนอกระบบ รวมถึงฐานข้อมูลผู้สูงอายุเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และประเมินความจำเป็นและความเป็นอยู่ และมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลแห่งชาติ (Linkage Center) ซึ่งกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงาน ที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการ

          ๗.สร้างแรงจูงใจการออมให้กับแรงงานนอกระบบ โดย พัฒนาผลิตภัณฑ์ กำหนดหลักเกณฑ์ สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม เพื่อสร้างแรงจูงใจ โดยการประสาน ความร่วมมือของกองทุนประกันสังคมตามมาตรา ๔๐ และ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเพิ่มสมาชิกให้ มากขึ้น

          ๘.ภาครัฐและภาคเอกชนโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออมต้องประชาสัมพันธ์และอบรมให้ความรู้ การวางแผนการออม ให้กับประชาชนตั้งแต่เยาว์วัยและวัยแรงงาน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการเตรียมความพร้อมในการออม

          ๙.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้กับแรงงาน เช่น ด้านภาษา การบริหาร การจัดการ การเงิน ด้านสุขภาพ ด้านเทคโนโลยี การเข้าถึงแหล่งทุน เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรองรับปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการทำงานในอนาคต

          ๑๐."ชุมชนเข้มแข็ง" ปัจจุบันการพัฒนาชุมชน รุดหน้าไปมากแล้ว ทุนและศักยภาพชุมชนทั้งทางสังคมและทางกายภาพ ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดย การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางปฏิบัติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออม ต้องบูรณาการให้เครือข่าย ชุมชนเป็นตัวแทนนำการออมระดับประเทศไปสู่ภาคประชาชน และภาคแรงงานในระดับชุมชนอย่างทั่วถึง

         สรุปแนวทางการปฏิรูปการสร้างหลักประกัน รายได้

จากการศึกษาจึงขอเสนอแนวทางการปฏิรูปการสร้างหลักประกันรายได้ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า (พ.ศ. ๒๕๗๓ ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่) เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันรายได้ในวัยสูงอายุ ดังนี้

          ๑.การปรับปรุงการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดย จ่ายตามฐานะทางรายได้ และความเป็นอยู่ของครอบครัว โดยแบ่งผู้สูงอายุที่เกิดก่อน และ หลังปี พ.ศ. ๒๕๑๓ กำหนดผู้สูงอายุเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มมีฐานะทั่วไป กลุ่มฐานะเกือบจน และ กลุ่มฐานะยากจน เพื่อให้ผู้สูงอายุ ได้รับเบี้ยยังชีพแตกต่างกันตามความจำเป็น อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

          ๒.การปรับเพิ่มเงินให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ตามมาตรา ๑๕/๓ แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ จะส่งผลให้ผู้สูงอายุที่ยากจน มีรายได้ขั้นต่ำ ๑,๒๐๐ บาท ต่อเดือน เป็นการช่วยเหลือตามสภาพความจำเป็น และ ไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณของรัฐ

          ๓.ปรับหลักเกณฑ์ของกองทุนชราภาพ ภายใต้ระบบประกันสังคม เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินกองทุนชราภาพและภาระบำนาญ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนของกองทุน โดยการเพิ่มเงินสมทบ การเพิ่มอายุการ รับบำนาญ การปรับเกณฑ์การคำนวณค่าจ้างเป็นตลอดช่วงการออม การลดอัตราเพิ่มขึ้นของบำนาญสำหรับ การออมตั้งแต่ ๑๘๐ เดือน และการสมทบเงินสำรองจากภาครัฐ

          ๔.สร้างการออมภาคบังคับให้แรงงานในระบบในรูปแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรมีการดำเนินการ โดยพิจารณาถึงสภาพความจำเป็นในทางเศรษฐกิจและสังคม ควรบูรณาการบริหารกองทุนร่วมกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้เกิดระบบงานเครือข่าย และทรัพยากรของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสมาชิกกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานในกลุ่มเดียวกัน

          ๕.รัฐต้องพัฒนาการออมให้แก่แรงงานนอกระบบอย่างมีประสิทธิผล แรงงานนอกระบบควรมีหลักประกันการออมที่เพียงพอ การปรับหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินงานของกองทุนการออมแห่งชาติ ให้มีการดำเนินการที่สามารถ บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผล หรือการทำงานร่วมกับการประกันตนตามมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓

          ๖.การจัดหางบประมาณสนับสนุนการปฏิรูประบบบำนาญทั้งระบบ ภาครัฐต้องพิจารณาใช้มาตรการทางภาษีสนับสนุน เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยแยกสัดส่วนจำนวนหนึ่ง นำมาใช้ในการดำเนินการรองรับสังคมผู้สูงอายุ การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการสร้างหลักประกันรายได้ให้ผู้สูงอายุทั้งระบบ ทั้งยังเป็นการปฏิรูประบบบำนาญของประเทศ ให้มีความทั่วถึง ความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ความยั่งยืนของระบบ

          ๗.การขยายอายุเกษียณและการส่งเสริมสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นหลักการสำคัญที่ทุกประเทศ เริ่มนำมาใช้ เป็นการลดภาระช่วงเวลาการจ่ายบำนาญ ช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ลดภาระการพึ่งพิงสังคมของผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ต้องศึกษาและดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบต่อไป

         การสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุไทย ตามแนวทางการปฏิรูปการสร้างหลักประกันรายได้ดังกล่าวข้างต้น มีเป้าหมายที่จะสร้างหลักประกันรายได้ขั้นต่ำให้แก่ผู้สูงอายุไทยให้มีรายได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเส้นความยากจนในช่วงแรก และคาดหวังว่าหากระบบการออมซึ่ง เป็นภูมิคุ้มกันด้านรายได้จะบังเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งจะ ส่งผลให้ผู้สูงอายุไทยในอนาคตมีรายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่าเส้นความยากจนต่อไป

          คณะกรรมาธิการได้รายงานผลให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาแล้ว และที่ประชุมได้เห็นชอบกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ ซึ่งจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี และองค์กรอิสระต่อไป ทั้งนี้รายละเอียดต่างๆ สามารถที่จะติดตามในเว็บไซด์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ https://www.senate.go.th

         ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โทร.๐๒-๘๓๑๙๒๒๕-๖ โทรสาร ๐๒-๘๓๑๙๒๒๖

         สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม  หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

ที่มาของข่าว https://www.ryt9.com/s/nnd/2976640
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก