ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รถไฟเร่งปรับบันไดขึ้น-ลงขบวนรถ เพิ่มความสะดวก

วันที่ลงข่าว: 05/04/19

           นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้มีการลงทุนโครงการก่อสร้างทางคู่ และสถานีรถไฟใหม่ในหลายเส้นทาง พร้อมทั้งได้มีการปรับแบบก่อสร้างชานชาลาใหม่ในระดับความสูง 1.10 เมตร ให้เท่ากับความสูงของพื้นตู้โดยสารรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะจัดหาใหม่ในอนาคต ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารทุกเพศ ทุกวัย และผู้พิการสามารถเข้าออกตู้โดยสารรถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และยังช่วยลดระยะเวลาในการจอดลงอีกด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านระหว่างการให้บริการทั้งชานชาลาแบบเก่า และชานชาลาแบบใหม่ โดยใช้ตู้โดยสารรถไฟในปัจจุบันจะทำให้เกิดความไม่สะดวกในการขึ้นลงขบวนรถไฟเมื่อขบวนรถจอดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีที่มีชานชาลาแบบใหม่ การรถไฟฯ จึงได้ทยอยดัดแปลงตู้โดยสารรถไฟ เพื่อให้สามารถใช้ร่วมกับชานชาลาทั้ง 2 แบบได้ โดยผู้โดยสารทุกคนจะสามารถเดินขึ้นลงระหว่างตู้โดยสารรถไฟปัจจุบันกับชานชาลาแบบใหม่ได้อย่างปลอดภัย คาดว่าการปรับปรุงดังกล่าวจะแล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งการรถไฟฯ ต้องขออภัยผู้โดยสารสำหรับความไม่สะดวกในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ 

           “ร.ฟ.ท. เร่งดำเนินการดัดแปลงชานบันไดในขบวนรถโดยสารสายอีสาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารสามารถใช้บริการขึ้นลงชานชาลาแบบใหม่ได้อย่างปลอดภัย โดยจะทยอยเปิดให้บริการในเดือนเมษายนนี้ พร้อมเร่งเดินหน้าโครงการจัดหารถดีเซลราง และรถดีเซลปรับอากาศรุ่นใหม่ ที่จะมีความสูงของพื้นตู้โดยสารรถไฟเท่ากับชานชาลาแบบใหม่ โดยมีประตูที่กว้างกว่าเดิม ซึ่งจะสามารถให้บริการได้ภายในปี 2565-2566 สำหรับการก่อสร้างชานชาลาแบบใหม่ในโครงการก่อสร้างทางคู่สายอื่นๆ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแก่สาธารณชนว่ามีความสูง 50 เซนติเมตร นั้น การรถไฟฯ ขอเรียนยืนยันว่า เมื่อโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางนั้นๆ แล้วเสร็จชานชาลาทั้งหมดตลอดเส้นทางดังกล่าวจะเป็นชานชาลาแบบใหม่ที่มีความสูง 1.10 เมตร เท่ากับพื้นตู้โดยสารรถไฟ”นายวรวุฒิ กล่าว

           สำหรับรายละเอียดการดัดแปลงชานบันไดในขบวนรถโดยสารดีเซลรางในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 1. รถโบกี้ชั้น 3 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งดัดแปลง 20 คัน โดยได้ทยอยนำออกมาใช้งานตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา และจะทำต่อเนื่องอีก 40 คัน โดยดัดแปลงบันไดบริเวณประตูด้านหน้าของตู้โดยสารด้านซ้าย-ขวา ทั้ง 2 ด้าน ทำเป็นลักษณะบานพับแบบเปิดปิดเสมอกับระดับชานชาลาแบบใหม่

           2. รถดีเซลรางท้องถิ่น ตั้งเป้าหมายปรับปรุงทั้งหมด 42 คัน ขณะนี้ทำแล้วเสร็จ 16 คัน ส่วนที่เหลือจะเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว

           3. รถดีเซลรางกรุงเทพ มีแผนปรับปรุงทั้งหมด 20 คัน ขณะนี้แล้วเสร็จ 10 คัน และอีก 10 คันจะให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ โดยลักษณะการปรับปรุงจะใช้ 2 ประตูด้านหน้าเป็นบันไดต่ำสำหรับสถานีที่เป็นชานชาลาแบบเก่า ส่วน 2 ประตูด้านหลังจะเป็นบันไดสูงใช้สำหรับสถานีที่ใช้ชานชาลาแบบใหม่ โดยใช้สวิทซ์บังคับปิดเปิดประตูโดยพนักงานขับรถ ทั้งนี้ ประตูที่ใช้สำหรับสถานีที่ใช้ชานชาลาแบบใหม่จะมีสติ๊กเกอร์ติดประชาสัมพันธ์ การใช้ไว้ที่ประตูทางขึ้นลงของตู้โดยสารทั้งด้านในและด้านนอกด้วย

           นอกจากนี้ ร.ฟ.ท. ยังมีโครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศรุ่นใหม่ จำนวน 184 คัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการขออนุมัติโครงการจากรัฐบาลและจะรายงานขออนุมัติจัดหาเพิ่มเติมอีก จำนวน 216 คัน ในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะสามารถนำรถดีเซลรางรุ่นใหม่ จำนวน 184 คัน มาให้บริการแก่ประชาชนได้ในปี 2565-2566 ขณะเดียวกันระหว่างที่มีการปรับปรุงชานบันไดขึ้นลงยังไม่แล้วเสร็จ และในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ได้กำชับให้ฝ่ายปฏิบัติการเดินรถจัดเจ้าหน้าที่ดูแลการขึ้นลงตู้โดยสารรถไฟให้แก่ผู้โดยสารทุกๆ ท่านอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ และผู้มีสัมภาระจำนวนมาก

ที่มาของข่าว http://www.banmuang.co.th/news/economy/146894
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก