ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สธ.ห่วง "คนเหนือ" ยังสวมหน้ากากกันฝุ่นน้อย พบคนป่วยโรคทางเดินหายใจ-ถุงลมโป่งพองสูงกว่าที่อื่น

วันที่ลงข่าว: 04/04/19

          สธ.ห่วงคนเหนือยังตระหนักปัญหาฝุ่น PM 2.5 น้อย คาดคนสวมหน้ากากป้องกันยังไม่ถึงครึ่ง เร่งโหมรณรงค์ให้ความรู้ เผยบางส่วนจัดการบ้านเพื่อลดฝุ่นได้ดี ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ลดฝุ่นในบ้านไม่ได้ มีห้องสะอาดใน รพ.และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ต่างๆ รองรับดูแล

          วันที่ 3 เม.ย.2562 นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งดูแลพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวถึงกรณีให้ทุก รพ.ในพื้นที่เปิดห้องสะอาด (Clean Room) เพื่อรองรับผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงจากผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า ปัญหาฝุ่นละอองเกิดในพื้นที่ภาคเหนือมานาน ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะมีวิธีในการรับมือ อย่างที่เคยสอบถาม บางบ้านก็จะมีการปลูกต้นไม้ ติดสปริงเกอร์ ซึ่งแม้จะยังไม่ติดแอร์ค่าฝุ่นก็น้อยกว่าภายนอกบริเวณบ้าน แต่ถ้าอยู่ในห้องที่มีแอร์หรือเครื่องปรับอากาศอีก ค่าฝุ่นก็ลดลงอีก หรือยิ่งมีเครื่องฟอกอากาศด้วยค่าฝุ่นก็ยิ่งลดลง แต่สำหรับชาวบ้านที่ไม่มีการจัดการเหล่านี้ เพื่อลดค่าฝุ่นละอองในบ้าน สธ.จึงให้ รพ.แต่ละแห่งจัดให้มีห้องสะอาดขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่รองรับดูแลชาวบ้านทั่วไปที่มีปัญหาดังกล่าว โดยใช้ห้องประชุมที่มีเครื่องปรับอากาศระบบปิด และมีเครื่องฟอกอากาศ ในการช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5

          นพ.ธงชัย กล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่โรงพยาบาลเท่านั้น เพราะทางผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดก็มีการสั่งการให้มีการเปิดห้องสะอาดในทุกอำเภอ เพื่อรองรับดูแลชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้วย บางแห่งก็ใช้ห้องประชุมของอำเภอหรือจังหวัดในการจัดทำตรงนี้ ส่วนโรงพยาบาลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมช่วยดูแลด้วย อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลเองบางส่วนก็มีปัญหา อย่างในอำเภอ กลุ่มโรงพยาบาลชุมชนที่วอร์ดไม่มีแอร์ อาจทำอะไรไม่ได้ จะให้ไปติดแอร์ก็คงไม่ได้ ก็ให้คนไข้สวมหน้ากากป้องกัน แต่คนไข้หนักจริงๆ จะอยู่ในห้องแอร์อยู่แล้ว

          เมื่อถามว่า มีรายงานหรือไม่ว่ามีชาวบ้านเข้ามาอาศัยห้องสะอาดมากน้อยเท่าใด นพ.ธงชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานเข้ามา แต่เข้าใจว่าที่ทำห้องสะอาดอาจจะยังไม่มากเท่าไร และชาวบ้านบางส่วนอาจยังไม่สะดวก ซึ่งตนรู้สึกว่า ชาวบ้านยังไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา ถ้าเราไม่พูดเรื่องนี้หรือไม่มีการวัดค่า เพราะเหมือนกับวิถีชีวิตเขาทำอย่างนี้มานานแล้ว ซึ่งเราเห็นว่ามันไม่ถูก และควรจะทำให้ดีกว่านี้ ถ้าลองไปสังเกตในพื้นที่ คนที่สวมหน้ากากไม่ค่อยเยอะ หากดูด้วยตาเปล่า คนที่สวมหน้ากากกันฝุ่นมีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง คนที่สวมส่วนใหญ่จะเป็นคนของสาธารณสุขหรือคนที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข คนที่ไม่ใช่เลยคิดว่าเขาไม่ค่อยสวมกัน ซึ่งทาง สธ.ก็พยายามรณรงค์ให้คนตระหนักและมีความรู้ ทุกจังหวัดก็ทำอยู่ บางจังหวัดท่านนายแพทย์สาธาาณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ก็เป็นพรีเซนเตอร์เอง ทำข้อมูลความรู้ แผ่นพับ โปสเตอร์ และทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ตระหนักว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพ

           "ปัญหานี้ทางสาธารณสุขก็พยายามให้ข้อมูล อย่างทางอาจารย์แพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็พยายามออกมาให้ข้อมูล รวมถึงก่อนหน้านี้มีกระแสสังคมจาก กทม.ในรอบก่อน ซึ่งช่วยให้เกิดความตระหนักมากขึ้นพอสมควร เพื่อลดโรคที่จะเกิดขึ้นจากฝุ่นในอนาคตลง โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ อย่างตอนนี้ที่มีข้อมูล คือ ภาคเหนือตอนบน มีคนไข้โรคทางเดินหายใจ โรคถุงลมโป่งพองสูงกว่าที่อื่น ซึ่งผมคิดว่า คงเป็นผลระยะยาวที่เกิดขึ้นมา แต่ในพื้นที่อาจไม่คิดเป็นปัญหา พอถึงหน้านี้ก็อย่างนี้ทุกที แต่เดิมอาจไม่กี่วัน แต่รอบนี้อากาศปิดก็เลยยาวนาน" นพ.ธงชัย กล่าว

          ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางพื้นที่มีการหารือกันหรือไม่ว่า สถานการณ์อากาศปิดเช่นนี้จะยาวนานไปอีกเท่าไร นพ.ธงชัย กล่าวว่า ตรงนี้อาจจะบอกได้ยาก แต่ถ้ามีพายุฤดูร้อนต่อเนื่องกันหรือมีฝน ปัญหาก็จะคลี่คลายลง ตัวฝุ่น PM 2.5 ถ้ามีลมมาก็พอจะหายไปบ้าง อย่างเมื่อวันก่อนตนลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตอนเช้าค่าฝุ่น PM 2.5 ในโรงพยาบาล ตรงแถวโอพีดี ซึ่งเรามีเครื่องวัดอยู่ค่าอยู่ประมาณ 200-300 กว่า ต่พอตอนบ่ายซึ่งวันนั้นมีลมโกรกมาแรงดี ฝุ่นก็ลดลงหายไป ซึ่งเราวัดได้เหลือประมาณแค่ 20 เท่านั้นแต่พอวันรุ่งขึ้น อากาศปิดตอนกลางคืน ไม่มีลมมา ค่าฝุ่นก็ขึ้นมาสูงอีกในตอนเช้า

ที่มาของข่าว https://mgronline.com/qol/detail/9620000033037
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก