ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“กุหลาบ พูลกิจ” ชีวิตที่อุทิศให้สังคม

วันที่ลงข่าว: 03/04/19

          “...คนพิการเราสมัยก่อนเราไม่ได้โอกาส...คนพิการที่ไม่มีเงินเลย บางครั้งอยากจะกินก๋วยเตี๋ยวสักชาม มีเงินอยู่ 10 บาท กินไม่ได้ ก็เลยแรงบันดาลใจให้เราอยากจะมาช่วยเหลือคนพิการที่ชนบทให้เขามีโอกาส มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น...” กุหลาบ พูลกิจ นายกสมาคมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการไทย  

ชีวิตนี้...อุทิศให้สังคม   

          ความพิการตั้งแต่ 3 ขวบของพี่กุหลาบ กุหลาบ พูลกิจ กลายเป็นแรงบันดาลใจสุดยิ่งใหญ่ “ชีวิตนี้...ปฏิญาณไว้ว่าตราบใดที่ยังมีโอกาส เธอจะอุทิศให้สังคม” พี่กุหลาบเล่าว่าสมัยเด็ก ๆ ที่บ้านก็เป็นเกษตรกรฐานะไม่ค่อยดี พ่อจึงพาเธอไปอยู่ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โรงเรียนสอนทุกอย่างในชีวิตสำหรับเด็กพิการคนหนึ่งจะช่วยเหลือตัวเองได้ สอนแม้กระทั่งถูพื้น ล้างห้องน้ำ ทำครัว รีดผ้า ซักผ้า ฯลฯ เพื่อให้อยู่ร่มกับคนปกติ ไม่เป็นภาระของสังคม การสั่งสอนขัดเกลานี้ทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะส่งต่อ “โอกาส” และ “กำลังใจ” ไปยังคนพิการคนอื่น ๆ เพราะเข้าใจหัวอกเดียวกันเป็นอย่างดี   

“ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง” ผลผลิตจากคำว่าโอกาส

          ความฝันเป็นจริงเมื่อเธอได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ใจดี สนับสนุนให้คนพิการในชนบทรวมกลุ่มกัน เกิดจ้างงานตามมาตรา 35 และสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี พื้นที่มรดกของพี่กุหลาบเอง ซึ่งเมื่อก่อนเป็นเพียงที่นาของพ่อแม่ “ที่นี่เราจะมีการเรียนรู้เรื่องโฮมสเตย์ในเชิงธรรมชาติของกึ่งเกษตร แล้วมาดูคนพิการที่นี่ปฏิบัติการใช้ชีวิตของแต่ละวันว่าเป็นอย่างไร ที่นี่ก็จะมีบ่อตกปลา ฟาร์มเห็ด ฟาร์มเมล่อน ฟาร์มแตงโม ฟาร์มข้าวโพด แล้วก็ห้องพักห้องประชุม … ตั้งแต่เปิดมาเราก็ได้หน่วยงานแนะนำได้การสนับสนุนจากภาครัฐให้เราอบรมผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง เพื่อให้มีงานทำแล้วก็เอามาส่งให้ อย่างตะกร้าผักตบชวาเราก็รับซื้อ แล้วเป็นคนไปจำหน่ายให้...จากคนพิการที่เคยขอเงินพ่อแม่ ตอนนี้เขากำเงินให้พ่อแม่แล้ว เขาภูมิใจเพราะเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

“ฟาร์มเมล่อน” ต้นแบบธุรกิจคนพิการ  

          จะเรียกว่าเป็นหนึ่งเดียวของในประเทศไทยก็ได้ สำหรับฟาร์มเมล่อนคนพิการของพี่กุหลาบ ต้นแบบธุรกิจสุดทึ่งที่ล่าสุดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ เตรียมทาบทามให้ที่เป็นต้นแบบศึกษาดูงานต้องรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้เป็นประธานในปีหน้า “...จุดสำคัญคือหนึ่งความสามัคคี ความสะอาด ความเอาใจใส่ เพราะพี่เป็นมนุษย์ล้อ พี่ก็ต้องคำนึงแล้วว่าทำแบบไหนสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุในวันข้างหน้า แนวคิดการออกแบบที่นี่ก็ดูต้นแบบของฟาร์มอื่น ๆ แต่โรงเมล่อนของเขาจะเตี้ย พื้นเป็นดิน คนพิการเข้าไม่ได้ ดังนั้นของเราเลยต้องทำสูงหน่อย เทปูน และกว้างขวางพอที่เราสามารถเข้าไปได้สะดวก...”  

          สำหรับเหตุผลที่พี่กุหลาบเลือกทำฟาร์มเมล่อน เนื่องจากกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาดี และมีแหล่งรับซื้อแน่นอนคือโมเดิร์นของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ทำให้ทุกวันนี้ทั้งคนพิการและญาติที่มาดูแล นอกจากค่าแรงวันละ 300 บาท  แต่ละปียังมีเงินปันผลอีกประมาณ 7,000 บาทอีกด้วย แล้วแต่สภาพเศรษฐกิจ “...เราอยากให้ชุมชนกับคนพิการสามารถบูรณาการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่อย่างยั่งยืนมีความสุขในชนบท ไม่ต้องเป็นภาระของสังคม...”  พี่กุหลาบกล่าว 

โอกาสจาก SME Development Bank

           SME Development Bank สนับสนุนเรื่องเงินทุนให้กับกลุ่มคนพิการ ดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 3 ต่อปี แตกต่างกว่าธนาคารอื่น ธนาคารอื่นดอกเบี้ยแพงมาก แล้วก็มาช่วยด้วยใจจริง ๆ แล้วก็จะช่วยหลาย ๆ ด้านที่เป็นความรู้ เช่น เป็นพี่เลี้ยงในการทำบัญชีรายรับรายจ่าย การทำตลาดออนไลน์ ฯลฯ

ทุกวันนี้ภูมิใจในตัวเองมากน้อยแค่ไหน

          “ทุกวันนี้ดิฉันภูมิใจตัวเองมาก เราอยากจะช่วยเหลือคนพิการคนอื่น ๆ ให้มีโอกาสเหมือนเรา ได้ช่วยเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็อยากจะให้ทุกท่านสนับสนุนสินค้าเรา มาเยี่ยมชมให้กำลังใจเรา หรือบางคนอาจจะท้อแท้ชีวิต อยากให้ลองมาดูงานที่ศูนย์ฯ เรา เราทำงานควบคู่กับชุมชน อยู่แบบยั่งยืนอยู่และมีความสุข”  

ที่มาของข่าว http://www.banmuang.co.th/news/finance/146350
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก