ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: การสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุไทย

วันที่ลงข่าว: 25/03/19

          คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: การสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุไทย คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา

คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการผู้สูงอายุ ได้จัดทำ รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่องการ "การสร้างหลักประกัน รายได้ให้แก่ผู้สูงอายุไทย" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ

          ๑.เพื่อศึกษาสถานการณ์และข้อมูลเกี่ยวกับ หลักประกันรายได้ในวัยสูงอายุของประเทศไทย

          ๒.เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของระบบการออมเพื่อการเกษียณของประเทศไทย

         ๓.เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้นำผลการศึกษาและข้อเสนอแนะไปเป็นแนวทางในการพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการออมเพื่อการเกษียณและการสร้างหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุ

          โดยมีสาระสำคัญและข้อแนะ ดังนี้ โครงสร้าง ประชากรของไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วย อัตราการเกิดที่ลดลง ระบบสาธารณสุขและความ ก้าวหน้าทางการแพทย์ ส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพดีและ มีช่วงอายุที่ยืนยาวขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยมีประชากร อายุ ๖๐ ปี ร้อยละ ๑๐.๒ ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ประเทศไทย จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีประชากร อายุ ๖๐ ปี ร้อยละ ๒๐ และ จากประมาณการ ในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อย่างเต็มที่ (Super- Aged Society) โดยมีประชากร อายุ ๖๕ ปี ร้อยละ ๒๐

          จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ส่งผล กระทบในด้านต่างๆ ในวงกว้าง ทั้งด้านสังคม บทบาทหน้าที่ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของประชาชน ด้านเศรษฐกิจ ด้านงบประมาณ ระบบการเงินการคลัง ของประเทศ ตลอดจนการแข่งขันทุกด้านของประเทศ ในเวทีโลก สังคมไทยทุกภาคส่วนได้ตระหนัก และเล็งเห็น ความสำคัญของปัญหาสังคมผู้สูงอายุในอนาคต มีการ ริเริ่มเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับสังคม ผู้สูงอายุ เช่น ด้านประชากร ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุข ด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความ สะดวก ด้านงบประมาณการเงินการคลัง คณะกรรมาธิการ การสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และ ผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ คณะรัฐมนตรี กำหนดให้ "สังคมผู้สูงอายุเป็นระเบียบ วาระแห่งชาติ" เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้บูรณาการ ดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง และ เตรียมความพร้อมในทุกด้าน นำพาสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในทุกด้าน ทั้งนี้ ได้มีประกาศระเบียบวาระแห่งชาติสังคมผู้สูงอายุ" ไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

          "รายได้ของผู้สูงอายุ" เป็นปัญหาที่สำคัญในการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของประชาชน และ ด้านงบประมาณการเงินการคลังของประเทศ ข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุมีจำนวน ๑๑,๓๑๒,๔๔๗ คน ในขณะที่อัตรา การเกิดและสัดส่วนของประชากรในวัยแรงงานลดลง ส่งผล ให้ประชากรวัยแรงงาน ๑๐๐ คน ต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ถึง ๒๕.๓ คน และในอนาคตแรงงานดังกล่าวต้องเข้าสู่ วัยสูงอายุ ซึ่งจะต้องรับภาระเลี้ยงดูตนเองและผู้สูงอายุด้วย ปัจจุบันผู้มีงานทำในประเทศไทยมีจำนวน ๓๗.๗ ล้านคน แบ่งเป็น ๑) แรงงานในระบบ เช่น ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ครูโรงเรียนเอกชน แรงงานในระบบประกันสังคม และ ๒) แรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร คนขับรถรับจ้าง ช่างเสริมสวย อาชีพค้าขาย รับจ้างทั่วไป เป็นต้น ในส่วนของรัฐได้จัดสวัสดิการหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานของแรงงานทุกประเภท ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุยกเว้นข้าราชการบำนาญมีสิทธิได้รับ แต่เงินจำนวนนี้ยังต่ำกว่าเส้นความยากจนในปัจจุบัน ดังนั้น การสร้างหลักประกันรายได้เพื่อการดำรงชีพที่เพียงพอจึงยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพารายได้จากการออมในวัยทำงานของแรงงานเหล่านี้ ซึ่งแรงงานในระบบได้รับความคุ้มครองด้านหลักประกันรายได้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นการออม ในภาคบังคับ โดยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการออม ภาคสมัครใจเพิ่มเติม สำหรับแรงงานนอกระบบนั้นปัจจุบันยังไม่ได้รับความคุ้มครองด้านหลักประกันรายได้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจากการออมภาคบังคับแต่อย่างใด อันเนื่องจากปัญหาและอุปสรรคในการจัดการกองทุนประเภทภาคบังคับในแรงงานกลุ่มนี้ อย่างไรก็ดี รัฐได้จัดตั้ง กองทุนการออมแห่งชาติขึ้น เพื่อสร้างการออมภาคสมัครใจ ให้แก่แรงงานนอกระบบ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ตามเป้าประสงค์

          ในการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย รัฐได้ออกกฎหมายช่วยเหลือผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่ม โดยเน้นความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม โดย การจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มี รายได้น้อย และการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุที่ประสบ ปัญหาทางสังคมหรือเศรษฐกิจตามพระราชบัญญัติ ผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ รวมถึงมาตรการด้านภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ มาตรการในการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นรายได้โดยการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับ ผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) และการให้ความช่วยเหลือ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากนี้ในระดับชุมชนมีการจัดตั้ง กองทุนต่างๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการออมและการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชน

          สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้ให้ข้อมูลว่า รัฐได้จัดสรรงบประมาณ ด้านสวัสดิการสังคม กรณีชราภาพในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นจำนวนเงิน ๓.๗ แสนล้านบาท (ร้อยละ ๒.๔ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ : GDP หรือ ร้อยละ ๑๒ ของงบประมาณ) ในครั้งการเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "แรงงานนอกระบบกับการออมเพื่อสร้างหลักประกัน รายได้ (บำนาญ) ในวัยสูงอายุ" ประกอบกับการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างประชากรดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศในอนาคตทั้งด้านการผลิต การลงทุน การออม การบริโภค และการคลังของประเทศที่รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ

          จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ภาครัฐควรต้องมีการวางแผน นโยบายและมาตรการทางกฎหมาย เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวให้แก่ประชาชนในวัยสูงอายุ ขับเคลื่อนการออมเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินของแรงงานนอกระบบและการกำหนดวิธีการออมที่มีความเหมาะสมสำหรับแรงงานนอกระบบ เพื่อให้แรงงานนอกระบบมีการออมอย่างแท้จริง รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์และลดความเสี่ยงของความทุกข์ยากในวัยสูงอายุของประชาชน

          คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการผู้สูงอายุ ได้ดำเนินการศึกษา "การสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุไทย"เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุดังกล่าว

 

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม

 

หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

 

ที่มาของข่าว https://www.ryt9.com/s/nnd/2971047
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก