ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นายกรัฐมนตรีไทย ย้ำทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนถึงเวลาจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจัง โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เนื่องจากอาเซียนสร้างขยะทะเลสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก

วันที่ลงข่าว: 07/03/19

          พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรีไทย พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมประชุมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล “Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris” โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ พร้อมด้วย ประเทศนอกสมาชิกอาเซียน คือ ญี่ปุ่น เกาหลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศ คือ กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) // IOC ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการมรดกโลก (UNESCO) // องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) // โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ // ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อรับฟังทิศทางและแผนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของอาเซียน โดยเฉพาะความร่วมมือในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกเพื่อนำไปสู่การพิจารณาอนุมัติงบประมาณให้กับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

         ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากสารถึงผู้นำและตัวแทนแต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ว่า ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ต่อจากสิงคโปร์จะสานต่อการทำงานต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมวันนี้ถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมครั้งแรกของปีนี้จากทั้งหมด 274 การประชุม

       โดยปัญหาขยะถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องได้รับการแก้ไขในระดับโลกไม่เพียงกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์น้ำ และระบบนิเวศเท่านั้น แต่ส่งผลถึงเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว การประมง การเดินเรือ และสุขภาพในทุกประเทศด้วย เนื่องจากทะเลไม่มีพรมแดนและการจัดการค่อนข้างเป็นไปได้ยาก จากสถิติระบุว่า 5 ใน 10 ประเทศอาเซียนและประเทศแหล่งน้ำสร้างขยะทะเลมากที่สุดในโลกอยู่ในอาเซียน ดังนั้น ภูมิภาคอาเซียนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในประเทศสมาชิก ด้วยการร่วมกันกำหนดทิศทางและแผนที่ชัดเจนแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจัง ทั้งในกลุ่มประเทศสมาชิกและประเทศเครือข่ายในระดับสากลอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของไทยตั้งเป้าลดขยะทะเลให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2570 โดยใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหลักที่จะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งไทยหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการจัดการปัญหาขยะทะเล พร้อมมีความยินดีจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความสำเร็จกับประเทศสมาชิกเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขยะทะเลต่อเนื่อง เชื่อว่า ความร่วมมือกันในภูมิภาคและในระดับสากลด้วยการอาศัยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อส่ิงแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน

        ด้าน นายดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน (คนที่ 14) กล่าวว่า ขยะทะเลเป็นปัญหาระดับภูมิภาคที่ส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศในอาเซียนที่มีแนวชายฝั่ง และทะเลสวยงาม โดยทั่วโลกมีมูลค่าความเสียหายของระบบนิเทศทางทะเลที่มีสาเหตุมาจากปัญหาขยะทะเลต่อปีอยู่ที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เกิดความเสียหายจากปัญหามลพิษทางทะเลต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการประมงอยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนภูมิภาคอาเซียนมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลคิดเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก