ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: 'ปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ ตามมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ'

วันที่ลงข่าว: 18/02/19

          นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวแสดงความคิดเห็น ดังนี้

          สสส. ในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งมีภารกิจด้านสร้างเสริมสุขภาพโดยมุ่งเน้นสุขภาวะ และได้รับนโยบายของรัฐบาล อาทิ นโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาใช้กำหนดทิศทางการดำเนินงานของ สสส. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่ม ภายใต้วิสัยทัศน์ "ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะ" ส่งเสริมให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีใน ๔ มิติ ได้แก่ กาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ทั้งนี้ แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะเป็นอีกหนึ่งแผนในการขับเคลื่อนของ สสส. ซึ่งคำว่า "กลุ่มเฉพาะ" เป็นการออกแบบพิเศษเฉพาะกลุ่มที่หมายความรวมถึงคนพิการ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรเฉพาะที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ สสส. โดยเป้าหมายมุ่งเน้น สุขภาวะของคนพิการให้ได้รับการจ้างงาน เริ่มต้นจากเป้าหมาย การทำให้คนพิการพึ่งพาตนเองได้ การทำให้คนพิการมีงานทำ และเป้าหมายปัจจุบันคือการทำให้คนพิการที่มีงานทำแล้ว มีสุขภาวะ ที่ดีขึ้นด้วยใน ๔ มิติเช่นเดียวกับคนทั่วไป ทั้งนี้ เมื่อคนพิการมีรายได้แล้วก็คาดหวังว่าคนพิการต้องมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดีขึ้น โดยเน้นกระบวนการทำงานเรื่องความรู้และการพัฒนาศักยภาพ

          มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมถือเป็นแกนนำในการเคลื่อน เรื่องอาชีพคนพิการให้กับ สสส. โดยมีเครือข่าย กว่า ๑,๗๐๐ ราย ที่ร่วมงานกับ สสส. และมีเครือข่าย หรือ Node เพื่อรับภารกิจกว่า ๔๐ แห่งทั่วประเทศ ภายใต้ เป้าหมายร่วมกันคือทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีสำหรับคนพิการ ทั้งนี้ สสส. ทำงานด้านเสริมสร้างสุขภาพและพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้คนพิการเข้าถึงได้ โดยมุ่งเน้นกระบวนการทำงานแบบใช้ชุมชนเป็นฐานจัดการในทุกมิติ ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา สังคม เศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการมีงานทำและการเสริมพลังคนพิการ เพื่อทำให้คนพิการมี สุขภาวะที่ดีหรือพึ่งพาตัวเองได้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สสส. ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับนโยบายประชารัฐเพื่อสังคม ทำให้เกิดพื้นที่พบปะกันระหว่างสถานประกอบการ เครือข่าย ภาคประชาสังคม และเครือข่ายคนพิการ จนทำให้เกิดการ มีงานทำของคนพิการ ทั้งนี้ สสส. ร่วมกับมูลนิธินวัตกรรม ทางสังคม ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าในปี พ.ศ.๒๕๖๐ คนพิการ จะมีงานทำเพิ่มมากขึ้นจากการทำงานของเครือข่ายจำนวนกว่า ๖,๑๕๔ อัตรา ของบริษัทกว่า ๔๐๐ แห่ง

          สสส. พยายามลดอุปสรรคการใช้ชีวิตทั่วไปของคนพิการ เพื่อทำให้คนพิการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกพื้นที่เช่นเดียวกับคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพ อาทิ กิจกรรมงานวิ่งเพื่อสุขภาพ การเข้าชมภาพยนตร์ การทำอาหาร และกิจกรรมจิตอาสา เป็นต้น ทั้งนี้ สสส. มีโอกาส เข้าไปร่วมหนุนเสริมการมีงานทำของคนพิการ เนื่องจากคนพิการ ที่ไม่มีรายได้จะพึ่งพาตัวเองได้ลำบากและส่งผลสำคัญ ต่อสุขภาพกายและจิตใจ จึงต้องการให้คนพิการมีรายได้เพื่อพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นและจะช่วยให้คนพิการ มีสุขภาวะ ที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีตามไปด้วย สสส. จึงได้เข้าไปหนุนเสริม ให้คนพิการมีการทำงาน และเมื่อคนพิการดูแลตัวเองได้ดี ผู้ดูแลหรือชุมชนก็จะได้ประโยชน์จากการที่คนพิการในพื้นที่นั้นๆ มีงานทำด้วย

          ตัวเลขการจ้างงานคนพิการเมื่อมีนโยบายประชารัฐเพื่อสังคมส่งผลให้มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมและเครือข่าย ต่างๆ ทั่วประเทศได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ จำนวนกว่า ๖,๐๐๐ อัตรา และในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เพิ่มมากขึ้นกว่า ๘,๐๐๐ อัตรา และภาคีเครือข่ายซึ่งร่วมกันขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ

          ข้อเสนอ ต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (๑) พก. ควร อนุญาตให้มีการจ้างงานคนพิการทดแทนกันได้ตามมาตรา ๓๓ สนับสนุนงบประมาณในเรื่องนี้ให้ชัดเจน พัฒนาระบบฐานข้อมูล ระบบการตรวจสอบการใช้สิทธิคนพิการให้มีความรวดเร็วและชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งควรสร้างความเข้าใจ วิธีปฏิบัติในระดับพื้นที่เกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการ (๒) กรมการจัดหางาน ควรพัฒนาระบบการรายงานผลและระบบ กลไกการติดตาม (๓) สถานประกอบการ ควรปรับค่าตอบแทน สำหรับคนพิการตามความเหมาะสม ไม่ใช่จ้างแบบอัตรา ขั้นต่ำเท่านั้น ควรพิจารณาค่าตอบแทนตามความสามารถและระยะเวลาการทำงานของคนพิการด้วย และ (๔) องค์กร คนพิการ ควรหนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพกำลังคนที่จะทำงานในศูนย์บริการคนพิการ โดยบูรณาการร่วมกับ พก.

          จากการศึกษาสถานการณ์การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา ๓๓ พบว่าคนพิการจำนวนหนึ่งยังขาดทักษะ ในการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ขาดทักษะในการปรับตัว เมื่อไป ทำงานตามสถานประกอบการจะลาออกได้ง่าย ในขณะที่สถานประกอบการก็ต้องการคนพิการที่มีศักยภาพ สถานประกอบการบางแห่งที่ไม่สามารถจ้างคนพิการได้ในอัตรา ๑๐๐ ต่อ ๑ ได้ครบถ้วน เนื่องจากคนพิการยังมีคุณสมบัติ ไม่ครบถ้วนตามที่ต้องการ สถานประกอบการส่วนใหญ่ ยังรองรับคนพิการไม่มากและยังเห็นว่าการดูแลคนพิการ ในสถานที่ทำงานเป็นเรื่องยาก จึงเลือกจ่ายเงินเข้ากองทุนตามมาตรา ๓๔ และส่งเสริมการมีงานทำตามมาตรา ๓๕ แทนการจ้างงานปกติตามมาตรา ๓๓ ดังนั้น มาตรา ๓๕ จึงเป็นทางเลือกให้สถานผู้ประกอบการและ คนพิการที่มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้คนพิการรวมกลุ่มกันทำงานมากขึ้น รวมถึง ผู้ดูแลก็มีโอกาสทำงาน มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงเป็นทางออกของสถานประกอบการที่ไม่สามารถหาคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการตามมาตรา ๓๓ และสอดคล้องกับความต้องการ และข้อจำกัดของคนพิการที่สามารถประกอบอาชีพอิสระและทำงานอยู่บ้านหรือในชุมชนได้ ทั้งนี้ สสส. ได้มีข้อเสนอแนะทางวิชาการว่าควรมีองค์กรกลาง ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่าง สถานประกอบการกับคนพิการ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการตีความ กฎหมาย ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงแรงงาน รวมทั้งลดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากความเข้าใจไม่ตรงกันในระดับการปฏิบัติงาน รวมทั้ง ควรมี ระบบฐานข้อมูลในระดับพื้นที่และรวมถึงข้อมูลการประเมินความต้องการของคนพิการเพื่อทำให้การส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ มีความสอดคล้องกับความต้องการของ คนพิการ และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดนโยบาย ด้านการจ้างงานคนพิการต่อไป

          นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความคิดเห็น ดังนี้

ในฐานะประธานสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการสติปัญญาแห่ง ประเทศไทย ผู้ดูแลหรือผู้ปกครองของน้องซึ่งเป็นดาวน์ซินโดรม ขณะนี้อายุ ๑๙ ปี และเจ้าของธุรกิจซึ่งมีพนักงานกว่า ๒,๐๐๐ คน กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้า และมาตรา ๓๕ ถือเป็นความสวยงามที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยที่ประชุมสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยได้มีมติใน เรื่องมาตรา ๓๕ ร่วมกันว่ามาตรา ๓๕ เป็นประโยชน์ต่อการ ส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ จึงควรคงมาตรานี้ไว้ ส่วนปัญหา ที่เกิดขึ้นทั้งปัญหาในทางปฏิบัติและกฎระเบียบก็ต้องร่วมกัน หาแนวทางแก้ไขต่อไป รวมทั้งเห็นควรเพิ่มสัดส่วนการจ้างงาน คนพิการของภาครัฐเป็น ๒ เท่าของภาคเอกชน ทั้งนี้ ขอนำเสนอ ตัวอย่างเด็กพิการทางด้านสติปัญญาที่ทำงานตามมาตรา ๓๕ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าคนพิการได้รับประโยชน์จากมาตรานี้ ช่วยให้คนพิการไปทำงานสาธารณประโยชน์ และชุมชนได้ เนื่องจากปัญหาหลักของคนพิการ คือ ปัญหาการเดินทาง เมื่อคนพิการสามารถทำงานสาธารณประโยชน์และชุมชนได้จึงเกิดประโยชน์มหาศาล และในปัจจุบันมีหลายบริษัทที่สนับสนุนการจ้างงานคนพิการตามมาตรา ๓๕ อาทิ (๑) เซ็นทรัลเวิลด์ มีจ้างงานคนพิการเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ช่วยสนับสนุนการสร้างแบรนด์สินค้า การบริหารการเงินและการออมเงิน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมทั้งจัดกิจกรรมโดยเปิดโอกาสให้คนพิการ เข้าไปเรียนรู้ร่วมกับคนทั่วไป (๒) บริษัท มิตรผล จำกัด ซึ่งได้รับการลดหย่อนภาษี ๒ เท่าจากการจ้างงานคนพิการ ได้นำเงินภาษีที่รับลดหย่อนดังกล่าวมาจ้างงานคนพิการเพิ่มเติม (๓) บริษัท ยูนิโคล่ จำกัด ได้นโยบายมาจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่นให้จ้างคนพิการสติปัญญาสาขาละ ๑ คน ซึ่งมีเด็กพิการเข้าไปทำงานตามเวลาได้จริง เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องการให้สนับสนุนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ตามมาตรา ๓๕ ซึ่งเป็นความสวยงามและนวัตกรรมของกฎหมายที่ก้าวหน้าของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายบังคับใช้ก็ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง

          ข้อเสนอแนะต่อแนวทางแก้ไขปัญหา จำนวน ๓ ข้อ ดังนี้ (๑) ควรมีกลไกในการติดตามที่ชัดเจน ซึ่งต้องเพิ่มงบประมาณเข้าไปในแต่ละจังหวัด เพื่อสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติจริงๆ จังๆ และต่อเนื่อง เมื่อคนพิการได้ทำงานจึงส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิต คนพิการและครอบครัวของคนพิการ ทั้งนี้ กลุ่มเด็กสติปัญญามักจะมีปัญหาการหย่าร้าง ดังนี้ มาตรการส่งเสริมการมีงานทำตาม ๓๓ และ ๓๕ ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น

          (๒) ควรเปิดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนพิการให้เข้าถึงได้มากขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาเรื่องดังกล่าวให้มีความรวดเร็วและเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานตาม มาตรา ๓๕

 

          (๓) การมีส่วนร่วมของคนพิการในการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- เสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 

 

 

ที่มาของข่าว https://www.ryt9.com/s/nnd/2955243
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก