ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: 'ปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ ตามมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ'

วันที่ลงข่าว: 18/02/19

          ประเด็นปัญหาจากการดำเนินการตามมาตรา ๓๕ ที่สำคัญ คือ (๑) คนพิการยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการรับสิทธิตามมาตรา ๓๕ ว่าจะต้องปฏิบัติตามสัญญาอย่างไร แม้เจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานจะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและชี้แจงสิทธิให้กับคนพิการได้รับทราบแล้ว แต่ด้วย โครงการหรือกิจกรรมต่างๆ มีรายละเอียดค่อนข้างมาก บางครั้งคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการอาจจะไม่ได้ศึกษา รายละเอียด ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการก็มีแตกต่างกัน อาทิ การจ้างเหมาช่วงงาน คนพิการยังเข้าใจว่าต้องรับสิทธิ ๑ ปี แต่หลักเกณฑ์จ้างเหมาช่วงงานตามระเบียบกำหนดไว้เฉพาะมูลค่าการจ้างงานให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาไว้ สำหรับการให้พื้นที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ ระเบียบได้กำหนดเรื่องเวลาไว้ชัดเจนว่าจะต้องให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า ๑ ปี จึงมีความแตกต่างและความซับซ้อนในบางเงื่อนไขหรือบางกิจกรรม

 

          (๒) นายจ้างหรือสถานประกอบการยังไม่เข้าใจใน รายละเอียดว่าการให้สิทธิคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา ๓๕ แล้ว ควรติดตามตรวจสอบโครงการเป็นระยะ โดยเฉพาะในกรณีที่นายจ้างหรือสถานประกอบการให้คนอื่นดำเนินการแทน อาทิ การฝึกงานหรือการจ้างเหมา ก็ควรควบคุมติดตามในเบื้องต้นด้วย ทั้งนี้ กรมการจัดหางานยินดี ที่จะเป็นหน่วยรับแจ้งเรื่องร้องเรียนต่างๆ กรณีที่นายจ้าง สถานประกอบการ หรือคนพิการพบว่ามีการดำเนินการ โดยผู้แทนหรือตัวแทนอื่นไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ก็สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์มาได้

          (๓) กลไกการติดตามตรวจสอบ ซึ่งกรมการจัดหางาน มีความพยายามที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด และ ที่ผ่านมาการดำเนินการตามมาตรา ๓๕ มีจำนวนกว่า ๑ หมื่นราย ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ มีจำนวนรวมกว่า ๑๒,๐๐๐ ราย กระจายอยู่ ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ได้มีการร่วมมือกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่ และกำหนด แนวทางร่วมกันเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบ เพื่อให้คนพิการ ไม่โดนเบียดบังสิทธิ หรือไม่โดนละเมิดสิทธิหลังจากที่ได้รับเห็นชอบจากกรมการจัดหางานไปแล้ว รวมถึงกำหนดแนวทางการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การตรวจสอบความซ้ำซ้อนการใช้สิทธิให้มีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากกรณีปัญหาคนพิการยื่นขอใช้สิทธิหลายสิทธิหรือในหลายพื้นที่ในเวลาเดียวกัน โดยระเบียบก็ไม่ได้จำกัดสิทธิ เรื่องการยื่นไว้ เพื่อให้คนพิการสามารถเลือกสิทธิที่ดีที่สุดได้ แต่การรับสิทธิจะสามารถรับได้เพียงสิทธิเดียว และด้วยกระบวนการตรวจสอบสิทธิในปัจจุบันยังเป็นระบบเอกสารจึงมีความล่าช้ากว่าจะสามารถตรวจสอบความซ้ำซ้อนของสิทธิได้ ก็อาจจะทำให้ นายจ้างสูญเสียสิทธิ เมื่อคนพิการต้องเลือกใช้สิทธิแล้ว ซึ่งอาจจะส่งผลให้นายจ้างขาดความมั่นใจในการให้สิทธิกับ คนพิการ

          อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหาเรื่องร้องเรียนของคนพิการ ตามมาตรา ๓๕ ที่มีการเบียดบังสิทธิของคนพิการ ขณะนี้อยู่ ระหว่างการติดตามสอบสวนข้อเท็จจริง และน่าจะได้ความชัดเจนต่อกรณีดังกล่าวมากขึ้น โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายการจ้างงานคนพิการก็มุ่งเน้นให้จ้างงานคนพิการตามระบบปกติคือการจ้างงานตามมาตรา ๓๓ แต่มาตรา ๓๕ ถือเป็นกิจกรรมทดแทนการจ้างงาน ซึ่งหากร้อยเรียงมาตรการ ส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการให้เกิดประโยชน์กับคนพิการ อย่างยั่งยืนจากมาตรา ๓๕ ทั้งเรื่องการฝึกงาน ซึ่งเป็น จุดเริ่มต้นที่จะพัฒนาศักยภาพคนพิการให้เข้าสู่การทำงาน และเรื่องจ้างเหมางานคนพิการหลังมีการพัฒนาด้วยการฝึกงานแล้ว ก็อาจจะใช้วิธีการจ้างเหมาก่อนที่คนพิการจะเข้าสู่การจ้างงานปกติตามมาตรา ๓๓ เพื่อให้คนพิการสามารถทำงานได้อย่างยั่งยืน

          นายชนิสร์ คล้ายสังข์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สวัสดิการสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้กล่าว แสดงความคิดเห็น ดังนี้

กฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเขียนได้ก้าวหน้ามากในสมัยนั้น โดยนำเงื่อนไขและกลไกการใช้กฎหมายหลายอย่างมาใช้ แต่ด้วยรูปแบบกฎหมายฉบับนี้ มีลักษณะส่งเสริมและพัฒนามาตรการต่างๆ จะอยู่ในรูปแบบ ของมาตรการจูงใจโดยเฉพาะภาคเอกชนเพื่อให้ดำเนินการ ตามกฎหมาย อาทิ การลดภาษี การยกเว้นภาษี หรือ สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนคำนวณภาษี เป็นต้น จึงควร พิจารณาว่าต้องมีมาตรการจูงใจอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพื่อ ส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่งอาจจะรวมไปถึงมาตรการการพัฒนาโดยตรง โดยในกรณีการกำหนดเรื่องสัมปทานตามมาตรา ๓๕ จะใช้ได้เฉพาะกับหน่วยงานรัฐหรือไม่ โดยหลักการสัมปทานรัฐถือเป็นผู้มีเอกสิทธิ์ในเรื่องสาธารณประโยชน์ รัฐเท่านั้นที่มีสิทธิมอบให้คนใดคนหนึ่งไปใช้ประโยชน์ ซึ่งตามหลักนี้เอกชนไม่มีสิทธิในเรื่องของสัมปทาน เนื่องจากเป็นเอกสิทธิ ในทรัพย์สินส่วนบุคคล จึงเป็นการให้ใช้สิทธิแทนไม่ใช่สัมปทาน

          ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นระเบียบในการกำหนดหลักเกณฑ์การ ดำเนินการตามมาตรา ๓๕ ไว้ โดยภาพรวมเห็นว่ามีหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้ดีแล้ว แต่ยังมีความยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากระเบียบ เขียนไว้ในลักษณะกว้างๆ ซึ่งระเบียบปฏิบัติควรเขียนให้มี ความชัดเจนมากกว่านี้ หรืออาจมีแบบอย่าง (Role Model) วิธีการดำเนินงานตามมาตรา ๓๕ หรือมีโครงการนำร่อง (Pilot Project) เพื่อให้มองเห็นภาพการดำเนินการตามวิธีการต่างๆ ใน ๗ กิจกรรมของมาตรา ๓๕ ให้ชัดเจนมากขึ้น จะทำให้ภาคเอกชนสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายและเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินการกฎหมายได้อย่างชัดเจน เมื่อเอกชนเห็นประโยชน์มากขึ้นก็จะจูงใจให้จ้างงานคนพิการมากขึ้น นอกจากนี้ วิธีการจัดจ้างเหมาช่วงงาน จ้างเหมาบริการ หรือฝึกงาน ตามมาตรา ๓๕ ก็เช่นเดียวกันควรมีต้นแบบการดำเนินการ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการ รวมถึงคนพิการ ที่จะได้ทราบวิธีการต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจ ให้ตรงกันเกี่ยวกับเงื่อนไขและขีดจำกัดระหว่างคนพิการและ ผู้ประกอบการ ซึ่งหากไม่มีตัวอย่างหรือโครงการนำร่อง ก็จะมองไม่เห็นภาพต่างคนก็อาจจะรู้สึกว่าตนเองเสียประโยชน์

          เรื่องบทกำหนดโทษในกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งเป็นกฎหมายลักษณะส่งเสริม จึงไม่มีบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นบทกำหนดโทษในทางอาญา ส่วนใหญ่ใช้มาตรการจูงใจ ในการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี หากไม่จ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายจะมีมาตรการ บังคับทางปกครองในการอายัดทรัพย์สิน ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็น มาตรการทางแพ่งกับมาตรการทางปกครอง เนื่องจากกฎหมายมีลักษณะเป็นการส่งเสริม จึงควรพิจารณาเพิ่มเติมว่า ควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขเรื่องบทกำหนดโทษเพิ่มเติมหรือไม่ นอกจากนี้ ประเด็นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับประเด็นที่เคยมีการหารือ ความหมายรัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการ ความเห็นส่วนใหญ่ก็จะปรับไปตามข้อเท็จจริง และกฎหมายนั้น ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ชัดเจนว่ารัฐวิสาหกิจเฉพาะที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น ซึ่งถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งในการปฏิบัติ ตามกฎหมาย ทั้งมาตรา ๓๕ และมาตราอื่นๆ ที่มีการอ้างถึง หน่วยงานของรัฐไว้ด้วย

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- เสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 

 

 

ที่มาของข่าว https://www.ryt9.com/s/nnd/2951979
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181