ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เปลี่ยน“ภาระ”เป็น“พลัง”สานฝันผู้พิการสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

วันที่ลงข่าว: 28/01/19

          “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน เชียงดาว” เปลี่ยน “ภาระ” ให้กลายเป็น “พลัง” สานฝันผู้พิการสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ร่วมสร้างสังคมไทยที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง “No One Left Behind”      

          ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 มีคนพิการจำนวน 2,022,481 คน (ร้อยละ 3.05 ของประชากรทั้งประเทศ) คนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15 - 60 ปี) จำนวน 877,853 คน ซึ่งมีคนพิการในวัยทำงานที่ประกอบอาชีพ จำนวน 218,490 คน (ร้อยละ 24.89) การสร้างหรือฝึกอาชีพให้กับผู้พิการอย่างเหมาะสมนั้น ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเปลี่ยนผู้พิการที่ถูกมองว่าเป็นภาระให้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศได้

          สอดคล้องกับเป้าหมายของ “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานแบบ Empowerment ผู้พิการ ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างให้ผู้พิการมีรายได้ สร้างให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้คนพิการก้าวพ้นความยากจน สามารถประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่” ที่จะเป็นต้นแบบของศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับคนพิการในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาผู้พิการให้เป็นประชากรที่สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

          โดย “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิฯ ที่มองเห็นว่าทางออกหรือแนวทางที่จะสามารถช่วยเหลือคนพิการทั่วประเทศที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีฐานะยากจนและไม่มีอาชีพที่แน่นอนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามารถก้าวพ้นความยากจนได้นั้น จะต้องให้ผู้พิการและครอบครัวได้ประกอบอาชีพอิสระที่มั่นคง ยั่งยืน และเป็นอาชีพที่ทำได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี ที่สำคัญเมื่อทำแล้วต้องขายได้ มีรายได้เพียงพอกับการดูแลตนเองและคนในครอบครัว จึงได้มีการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้พิการขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “ยิ้มสู้” เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้พิการ โดยปัจจุบันได้นำสินค้าเข้าวางจำหน่ายในห้างแม็คโครในเขตจังหวัดภาคเหนือและมีแผนที่จะขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งการสนับสนุนสินค้าต่างๆ ภายใต้แบรนด์ยิ้มสู้ ก็เท่ากับกว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะได้มีส่วนในการช่วยเหลือผู้พิการนั่นเอง

          นายสมศักดิ์ ชัยชนะ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว กล่าวว่าจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างในการฝึกอบรมด้านอาชีพของศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนก็คือ เป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อ “คนพิการ ผู้แลคนพิการ และครอบครัวของผู้พิการ” และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหลักสูตรอาชีพที่ใช้เวลาการฝึกอบรมนานที่สุด โดยใช้เวลาในการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอีก รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน หรือ 100 วัน

          “หลังจากที่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อำเภอเชียงดาวมาเป็นระยะเวลา 1 ปี และดำเนินการก่อสร้างอาคารและโรงเรือนต่างๆ ไปเพียงบางส่วน แต่ก็สามารถเปิดฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้พิการไปแล้วจำนวน 2 รุ่น โดยมีผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการเข้าร่วมอบรมจำนวนไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 287 ครอบครัว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เข้ารับการอบรม ผู้พิการ ผู้ดูแล หรือครอบครัวของผู้พิการจะต้องมาอาศัยและใช้ชีวิตกินนอนและพักอาศัยอยู่ภายในศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนเพื่อให้เกิดการปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิด ควบคู่ไปกับการเรียนรู้งานในอาชีพต่างๆ อย่างเป็นระบบ ครบถ้วนทุกขั้นตอนทั้ง การเพาะปลูก การผลิต การบริหารต้นทุนรายรับ-รายจ่าย การแปรรูป การตลาด และการจัดจำหน่าย”

          โดยการฝึกอบรมนั้นจะมุ่งเน้นไปที่อาชีพที่สามารถมีรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน โดยผู้พิการสามารถทำได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ กำไรดี ขายดี จึงเป็นที่มาของการฝึกอาชีพ 3 ด้านคือการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน และการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรอบการผลิตต่ำใช้เวลาเพียง 45 วัน และมีความต้องการของตลาดสูง รวมไปถึงอาชีพอื่นๆ ที่ผู้พิการสามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้เช่นการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่ไข่ เป็นต้น

          นายสมบูรณ์ อิ่นนวล หัวหน้าศูนย์บริการอาชีพอิสระคนพิการและครอบครัวระดับพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่สายใต้ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอดอยหล่อ ซึ่งเป็นผู้พิการรุ่นแรกที่เข้ารับการอบรมที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการที่อำเภอแม่ริม เล่าว่า เมื่ออมรมเสร็จก็นำกลับมาทำที่บ้านโดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงจิ้งหรีดประมาณ 5-6 กล่อง ผลผลิตที่ได้แทบไม่พอขายเพราะเป็นที่ต้องการของคนในท้องถิ่น โดยในบางครั้งที่ผลผลิตเช่นเห็ดออกมามาก ชนกับเห็ดธรรมชาติจากป่า ก็จะนำมาแปรรูปเช่น  แหนมเห็ด หรือไส้อั่ว 3 สหาย ที่ประกอบไปด้วย เห็ด หมู และจิ้งหรีดเป็นส่วนผสม ก็สามารถสร้างความน่าสนใจจากผู้บริโภคและเป็นการสร้างรายได้เสริมเพิ่มขึ้นอีกทาง

          “ไปอบรมตอนนั้นแค่ 5 คน พอกลับมาแล้วทดลองทำแล้วก็ประสบความสำเร็จทั้งการเลี้ยงจิ้งหรีด ปลูกผัก และเพาะเห็ด แล้วก็ขยายผลออกไปเป็น 8 รายในพื้นที่ แต่ในตำบลของเรามีคนพิการเกือบ 200 คน ซึ่งคนที่พิการและผู้ที่ดูแลเขาไม่สะดวกจะเดินทางไปอบรมเพราะเดินทางลำบากและไกล ก็เลยเกิดแนวคิดที่จะขยายผลใช้ที่บ้านเป็นแหล่งเรียนรู้  และเป็นสถานที่ฝึกอบรมอาชีพในระดับพื้นที่ โดยได้ตั้งศูนย์แห่งนี้มาได้ประมาณ 6 เดือน โดยเปิดอบรมไปแล้ว 1 รุ่น รองรับผู้พิการได้ครั้งละ 10 คน แต่จริงๆ มีคนอยากมาอบรมเยอะกับเรามาก แต่ศูนย์ฯ นี้มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมถึง 6 อำเภอคือ ดอยหล่อ สันป่าตอง แม่วาง จอมทอง ฮอด ดอยเต่า อมก๋อย ที่มีผู้พิการในพื้นที่รวมกันมากกว่า 4 พันคน จะเห็นได้ว่ายังมีผู้พิการ ผู้ดูแล และครอบครัวของผู้พิการ รอคอยที่จะได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของตนเองอยู่อีกเป็นจำนวนมาก”

          ซึ่งการเกิดขึ้นของ “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่มากถึง 33 ไร่ นอกจากการใช้เป็นสถานที่ฝึกฝนอาชีพทางด้านการเกษตรต่างๆ แล้ว อีกส่วนหนึ่งคือการฝึกอาชีพด้านการบริการและงานโรงแรม ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมรวมถึงพัฒนาสายอาชีพที่คนพิการสามารถทำได้ในท้องถิ่น และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับทุกคนหรือ tourism for all ถ้าหากการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสามารถฝึกอาชีพผู้พิการในสาขาอาชีพต่างๆ ได้มากกว่า 1 พันคนต่อปี และจากการทำงานที่ผ่านมายังพบว่ามีผู้พิการอีกเป็นจำนวนมากมีศักยภาพ มีความรู้ และความสามารถในการเป็นผู้นำคนพิการ และพร้อมจะช่วยเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องอาชีพต่างๆ ให้กับชุมชนท้องถิ่นได้ ซึ่งจะทำเกิดการขยายผลและถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ผู้พิการที่รวดเร็วและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

          กรณีของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้พิการที่ผ่านการอบรม เช่น 2 พี่น้องผู้พิการด้วยโรคโปลิโอ นายประพันธ์ ยอดแก้ว อายุ 58 ปี และนายบุญมี ยอดแก้ว อายุ 56 ปี ที่อาศัยอยู่ที่อำเภอเชียงดาว ด้วยกันเพียงลำพัง 2 คน ซึ่งนายประพันธ์ผู้พี่ เป็นผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพจากศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน

          อำเภอแม่ริม รุ่นที่ 3 เล่าให้ฟังว่า หลังเข้ารับการฝึกอบรมกลับมาก็เริ่มหันมาปลูกผักสวนครัว เพาะเห็ดนางฟ้า เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงจิ้งหรีด เพราะมีความเหมาะสมกับพื้นที่ และความถนัดของตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ เข้ามาดูแลติดตามและคอยให้ช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ

          “ทุกวันนี้จะเก็บไข่ไก่ได้วันละประมาณ 5-10 ฟอง ขายได้ฟองละ 3 บาท ส่วนเห็ดนางฟ้าก็เก็บ 3-4 วันครั้ง ครั้งละประมาณ 1-2 กิโลกรัม ขายได้ราคากิโลกรัมละ 30-35 บาท พวกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษนานาชนิดก็นำมาวางจำหน่ายอยู่หน้าบ้าน บางครั้งก็เก็บส่งขายให้กับคนมาสั่งไว้ ทำให้มีรายได้ทุกวัน เฉลี่ยวันละ 100-200 บาท ซึ่งอาชีพเหล่านี้คนพิการทำได้ไม่ยาก รดน้ำ ดูแล ด้วยตนเองได้ รายได้ก็พออยู่พอกินสำหรับ 2 คนพี่น้อง พอเหลือใช้บ้างนิดๆ หน่อย เมื่อก่อนต้องไปทำงานรับจ้างทั่วไปได้ค่าแรงแค่วันละ 100 บาท พอแก่ตัวแล้วก็ไม่มีคนจ้าง เพราะเราพิการทำอะไรไม่ได้มาก แล้วก็ต้องซื้อเขากินทุกอย่าง แต่ตอนนั้นไม่ต้องซื้อกินแล้วกินของที่เราปลูกเราเลี้ยงเองซื้อเฉพาะข้าวสาร”

          ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการจัดโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind” เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่คนตาบอดปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ รวมระยะทางกว่า 867 กิโลเมตร เพื่อระดมทุนก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นจำนวน 150 ล้านบาท ซึ่งในครั้งนั้นทางมูลนิธิฯ ได้รับยอดเงินบริจาคจากการจัดกิจกรรมทั้งสิ้นกว่า 32 ล้านบาท ดังนั้นในปีนี้จึงได้จัดกิจกรรม “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2” ขึ้นเป็นปีที่ 2 อย่างต่อเนื่อง เพื่อระดมทุนบริจาคในการนำไปใช้ก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนให้แล้วเสร็จ

          “หลังจากที่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อำเภอเชียงดาวมาเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่ามีผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการในภูมิภาคอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ติดต่อเข้ามาเพื่อขอรับการฝึกอาชีพ ทางมูลนิธิฯ จึงมีแนวคิดในการจัดสร้าง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนเพิ่มเติมอีก 1 แห่งที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เพื่อขยายโอกาสให้ผู้พิการในพื้นที่ภาคกลางได้รับโอกาสในการฝึกทักษะอาชีพอย่างทั่วถึง จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2 ก็เพื่อระดมทุนบริจาคเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาวให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และเริ่มก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนที่อำเภอนครชัยศรี ควบคู่กันไป ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ก็จะสามารถรองรับการฝึกอาชีพให้กับผู้พิการได้มากถึง 1,000 คนต่อปี ไม่รวมกับผู้ดูแลและครอบครัว”

          สำหรับโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2” นั้น ในปีนี้จะมีคนตาบอดจำนวน 22 คนและอาสาสมัคร 22 คน ร่วมกันปั่นจักรยาน จากกรุงเทพฯ ถึงศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ผ่าน 15 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครราชสีมา ลพบุรี สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี และนครปฐม ในระหว่างวันที่ 9 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2562 รวมทั้งสิ้น 14วัน ระยะทางรวม 1,500 กิโลเมตร โดยในแต่ละจังหวัดจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมเห็นศักยภาพของผู้พิการและให้โอกาสผู้พิการในการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นพลังในการพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต.

           ในการนี้ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นประธานในการเปิด โครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปีที่ 2” และทรงนำร่วมปั่นจักรยานจาก สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถึงจังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 50 กิโลเมตรด้วย

          “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระกรุณาธิคุณของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็นอย่างยิ่ง ที่ทรงเมตตาประทานธงประจำพระองค์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่นักปั่นจักรยานผู้พิการทางสายตาและอาสาสมัคร และเสด็จเป็นประธานในการเปิดโครงการ ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปีที่ 2 และทรงนำร่วมปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดสมุทรปราการ ในวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562  ซึ่งเป็นวันแรกของการจัดกิจกรรมด้วย ในการนี้มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกับผู้พิการในการที่จะร่วมกันขยายและสร้างโอกาสให้คนพิการ สานต่องานที่พ่อทำ ด้วยการช่วยเหลือให้ผู้พิการสามารถก้าวข้ามความยากจน มีอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อที่จะเปลี่ยนผู้พิการที่ถูกสังคมมองว่าเป็นภาระ ให้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมต่อไป”  ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กล่าวสรุป

ที่มาของข่าว http://www.banmuang.co.th/news/bangkok/139625
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181