ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มท.ออกระเบียบเบิกจ่ายเงินฯ อปท.ใหม่ บังคับใช้ 19 ธ.ค.61

วันที่ลงข่าว: 28/01/19

มท.ออกระเบียบว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงินฯ ของ อปท. ฉบับใหม่ มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2561

          เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดมาจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั่นคือตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2561 ซึ่งสาระสำคัญของระเบียบดังกล่าวนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากฉบับเดิม เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ทางด้านการเงินการคลังในปัจจุบัน และสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลตามระบบ e-payment โดยกำหนดให้กรณีที่กระทรวงการคลังจ่ายเงินให้เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงินแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ใช้หลักฐานการจ่ายเงินของกรมบัญชีกลางเป็นหลักฐานการจ่ายเงินได้ เช่น การเบิกเงินค่าป่วยการ อสม. , ค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์

          กรณี อปท. ได้ก่อหนี้ผู้พันไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ ถ้าเบิกเงินไปชำระหนี้ไม่ทัน ให้ผู้บริหาร อปท. อนุมัติให้กันเงินไว้ได้ และเบิกจ่ายได้ไม่เกิน 1 ปี ถัดไป หรือตามข้อผู้พันได้ โดยไม่ต้องขอขยายจากสภาท้องถิ่น สำหรับกรณียังไม่ก่อหนี้ ก็ให้เป็นอำนาจของสภาท้องถิ่น และเมื่อมีการกันเงินแล้ว และได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ก็ให้เบิกจ่ายได้ตามข้อผูกพัน ทั้งนี้เพื่อลดภาระงาน และลดขั้นตอนในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น

          ทางด้านการเบิกจ่ายเงินยืมไปราชการนั้น ถ้าเดินทางเป็นหมู่คณะ อาจให้ผู้มีสิทธิคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ยืมแทนได้  และกำหนดเพิ่มเติมให้บุคคลในสังกัดยืมเงินเพื่อนำไปปฏิบัติราชการ ซึ่งจำเป็นต้องจ่ายเงินให้แต่ละวันหรือแต่ละคราวเมื่อเสร็จงาน เช่น ค่าจ้างแรงงาน ค่าตอบแทน ค่าเบี้ยประชุม ค่าใช้สอย หรือวัสดุที่ไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้าง ค่าใช้จ่ายในการจัดงาน ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ค่าสาธารณูปโภค เฉพาะค่าบริการไปรษณีย์โทรเลข

          อธิบดี สถ. กล่าวต่อถึงกรณีการจ่ายเงินทุนสำรองเงินสะสมว่า ให้ปรับลดเงินทุนสำรองเงินสะสมจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 15 ของทุกปี และกรณีการใช้จ่ายเงินสะสม ให้เพิ่มการกันเงินด้านบุคลากรไว้ ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และกันไว้อีกร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี กรณีใช้บริหารงานและกรณีเกิดสาธารณภัย และในกรณีที่มีนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลหรือกระทรวงมหาดไทย และจำเป็นต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ หากงบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอและไม่เข้าเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองเงินสะสม ปลัดกระทรวงมหาดไทยอาจอนุมัติยกเว้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถใช้จ่ายจากเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองเงินสะสมได้ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั่นเอง

          ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 ได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/323/T_0001.PDF และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักบริหารการคลังท้องถิ่น ส่วนการจัดสรรเงินอุดหนุนและพัฒนาระบบงบประมาณ โทร 0-2241-9049

ที่มาของข่าว http://www.banmuang.co.th/news/politic/139587
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก