ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation : RA)เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนทุกคนในสังคมไทย

วันที่ลงข่าว: 03/12/18

 

(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนา ดังนี้

๑. ได้มีข้อเสนอแนะ ๕ ประการ ดังนี้ (๑) ควรรวบรวมปัญหาที่เกี่ยวกับ RA ทั้งหลายมาทำเป็นแนวทาง (Guideline) แล้วนำมาจัดหมวดหมู่ อาทิ เรื่องของ เวลาสามารถปรับเปลี่ยนขยายหรือลดเวลาเพื่อให้คนพิการดำรงชีวิตได้เป็นปกติเช่นคนทั่วไป เป็นต้น (๒) RA ควรต้องจัดให้อยู่บนพื้นฐานของการมี สิ่งอำนวยความสะดวก คือ ไม่ใช่ว่าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแล้วไป ยึดถือ RA อย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่า RA เป็นสิ่งที่มาช่วยเสริม เป็นมาตรการขั้นต่ำที่มาช่วยเสริม ต้องไม่ใช่ข้ออ้างการไม่จัด สิ่งอำนวยความสะดวก (๓) ประเด็นภาระเกินสมควร (Until Burden) ตามที่ CRPD กำหนดไว้ว่าต้องไม่ใช่ ข้อเรียกร้องที่มากเกินไปสำหรับผู้ปฏิบัติ (๔) ประเด็นผู้ใช้ต้องยอมรับได้ด้วย เช่น กรณี สายการบินที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แล้วต้องมายกคนพิการขึ้น ซึ่งคนพิการบางคนกลัวจึงไม่ยอมรับ และมีสิทธิที่จะปฏิเสธ ทั้งนี้ กฎหมายต้องรับรองทางเลือกของคนพิการด้วยว่ามีสิทธิเลือกว่า บริการใดที่คนพิการรับได้หรือรับไม่ได้ เนื่องจากแต่ละคนมีความคิดเห็นและมุมมองไม่เหมือนกัน และ (๕) การชดเชยความเสียหาย เพราะไม่ว่าจะเป็นภาระเกินสมควรหรือคนพิการยอมรับไม่ได้ แต่สุดท้ายคนพิการก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบและเป็นผู้เสียหาย เช่น ไม่ได้ไปเรียน ไม่ได้ไปทำงาน และไม่ได้เดินทาง เป็นต้น

 

๒.กรณีโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) เปิดเมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา มีเด็กพิเศษ ๕ คน และในขณะนี้ขยายเพิ่มเป็น ๑๐ คน ต้นทุนที่ใช้ในการดูแลเด็กทั้งหมดเพื่อให้อยู่ในสังคมและมีภูมิคุ้มกัน โดยต้องใช้ งบประมาณกว่า ๒๕๐,๐๐๐ บาทต่อคน ซึ่งมีความสำคัญเทียบเท่ากับ RA ทั้งนี้ ได้มีการทดลองนำร่องในระดับมหาวิทยาลัย โดยปัญหาด้านการศึกษาพิเศษที่สำคัญ คือ (๑) โรงเรียนยังขาดแคลนอาจารย์ด้านการศึกษาพิเศษ เนื่องจากการศึกษาพิเศษไม่ค่อยมีคนเรียนและไม่มีการบรรจุอัตรากำลังเข้ารับราชการ รัฐบาลไม่สมทบงบประมาณเพื่อผลิตบุคลากรด้านนี้ คนเรียนต้องใช้เงินทุน ตัวเองเรียนหมด เมื่อจบการศึกษาก็ต้องเสี่ยง ต่อการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการครู ซึ่งสาขานี้ในโรงเรียนยังไม่มีการบรรจุอัตรา ดังกล่าว (๒) การศึกษาพิเศษต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รายหัว ต้องสมทบมากกว่าเด็กปกติ รัฐจึงควรออกกฎหมายบังคับให้ทุก โรงเรียน ต้องมีครูการศึกษาพิเศษบรรจุอย่างน้อย ๑ คน ทั้งนี้ การสร้างให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดีนั้นต้องใช้งบลงทุนจำนวนมาก ทั้งอาคาร สถานที่ ห้องทดลอง ห้องปฏิบัติการ โดย มศว เปิดทดลองเป็นศูนย์การศึกษาพิเศษที่โรงเรียนสาธิตประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) ส่วนระดับอุดมศึกษาก็เปิดโอกาสให้เด็กพิเศษได้เรียนจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น เรื่อง RA ทุกมหาวิทยาลัยและทุกหน่วยงานของรัฐตระหนักอยู่แล้ว ตามเป้าหมายของสหประชาชาติ เรื่อง SDG แต่ปัญหาสำคัญของเด็กพิการ คือ (๑) วัฒนธรรมของ คนไทยที่รักลูกหลานจึงมักไม่ส่งลูกหลานไปทำงาน ไม่อยากให้ ลูกหลานลำบากเพราะมีความพิการอยู่แล้ว (๒) ต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางเศรษฐกิจต่างกัน โดยเฉพาะระบบการศึกษาที่ ไม่เท่าเทียม ไม่เข้าถึง อย่างไรก็ตาม หากในตัวกฎหมายไม่ได้กำหนดหลักการ RA ไว้อย่างรัดกุมมากเพียงพอ ถ้าเกิดมีคดี ฟ้องร้องหรือร้องเรียนขึ้นมาก็มีโอกาสที่คนพิการจะเป็นฝ่ายแพ้คดี แม้ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่มีกฎหมายกำหนดไว้ เป็นพื้นฐานแล้ว แต่สถานศึกษาก็ยังมีปัญหา ในการดูแลเด็กพิการ เนื่องจากความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลของนักเรียนพิการ ทั้งจำนวนและประเภทความพิการ ที่จะเข้ามาเรียนในแต่ละปี ประเด็น RA เป็นเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมเบื้องต้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดไว้ในกฎหมาย ประเด็นคุณธรรมจริยธรรมจำเป็นต้องปลูกฝัง โดยให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะด้านการศึกษาพิเศษเพื่อทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันและสามารถอยู่ในสังคม แล้ว RA ก็จะสามารถ เกิดขึ้นได้

 

๓.ประเด็น RAในสังคมไทย ควรพิจารณาถึงกลุ่ม นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆโดยองค์การท่องเที่ยวโลก (The World Tourism Organization : UNWTO) ได้เคยจัดสัมมนาในประเทศไทย เรื่อง Tourism for All หรือ การท่องเที่ยวสำหรับทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย สำหรับคนทุกระดับ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นคนพิการ (Disable Tourist) ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรจัดทำให้เกิดการเข้าถึง (Access) ในพื้นที่สาธารณะให้ครบถ้วนเพื่อรองรับทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมถึงรองรับการจัดประชุม สัมมนา และการจัดนิทรรศการของนานาชาติ ซึ่งจะมีผู้มาร่วมงานในประเทศไทยจำนวนมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะของประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง ทั้งนี้ เห็นด้วยว่าการไม่ให้บริการ RA ผิดกฎหมาย แต่ในปัจจุบัน ธุรกิจการท่องเที่ยว อาทิ สมาคมโรงแรมไทย ที่พัก หรือ ร้านอาหาร ที่ต้องให้บริการนักท่องเที่ยว ยังมีความรู้ในเรื่องการให้บริการสำหรับคนพิการน้อยมาก จึงควรมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ให้ชัดเจน เพื่อรองรับกลุ่มคนพิการที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นในอนาคต

 

๔.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในมาตรา ๒๗ วรรคสามและวรรคสี่ มีความชัดเจนเพียงพอว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล รวมถึงความแตกต่างทางความพิการ จะกระทำมิได้ และมาตรการที่รัฐกำหนดเพื่อขจัดอุปสรรคหรือ ส่งเสริมให้บุคคลใช้สิทธิเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นหรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่ได้เป็นธรรม ดังนั้น มาตรการที่รัฐต้องจัดขึ้นตามมาตรา ๒๗ วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องขจัดอุปสรรคและส่งเสริมให้บุคคลรวมถึงคนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากที่สุด นอกจากรัฐธรรมนูญฯจะได้รับรองเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้แล้ว ยังได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะทำให้คนพิการสามารถอยู่ในสังคมนี้ได้เช่นเดียวกับ คนปกติ ดังนั้น วัตถุประสงค์ เรื่อง การบูรณาการงานบริการการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุผลเป็นรายบุคคลจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนเรื่อง RA เช่น กรณีการเข้าถึงการศึกษาซึ่งได้มีการหารือพูดคุยกับทุกภาคส่วน เพื่อเปลี่ยนความคิดและมุมมอง จนในที่สุดมีโรงเรียนรับเด็กพิการเข้าเรียน มีการปรับหลักสูตรการศึกษา มีพี่เลี้ยง มีอุปกรณ์การศึกษาเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนสำหรับคนพิการ ด้านภาคประชาสังคมที่ก็เข้ามาช่วยดูแลเด็กในช่วงที่ไม่ใช่ชั่วโมงเรียน หรือช่วยส่งคนเข้ามาดูแลเพิ่มเติม เป็นต้น ซึ่ง RA แม้จะเขียนไว้ในกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนแล้วก็ตาม การปรับแนวคิดมุมมองทุกภาคส่วนก็ยังเป็นประเด็นสำคัญในการบูรณาการ เรื่อง RA ให้เกิดผล ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม

 

๕. RA เป็นเรื่องของดุลยพินิจ การบัญญัติให้เป็นกฎหมายจึงเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ กฎหมายของไทยก็มี เรื่อง RA อยู่แล้ว ตามกฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๔๘ และมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้สถานราชการต้องจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ จำนวน ๕ เรื่อง ได้แก่ ที่จอดรถ ทางเท้า มีทางลาด ห้องน้ำ และป้ายประชาสัมพันธ์ อันนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายเป็น RA คือ อย่างน้อย RA ในพื้นที่ของภาครัฐที่จะต้องจัดให้มี ซึ่งปัจจุบันจากการตรวจสถานที่ ราชการก็ยังจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ครบถ้วน และในฐานะที่เคยมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย เห็นว่าการกำหนด RA ไว้ในกฎหมายถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเป็นดุลยพินิจ ความพอเหมาะและความพอดี ในฐานะที่ต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับอาคาร จึงเห็นว่ามาตรฐานขั้นต่ำในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ก็คือ RA แม้ไม่ได้บังคับ RA กับอาคารสาธารณะของเอกชน บังคับใช้กับอาคารสถานที่ราชการ ดังนั้น จึงเห็นว่าประเทศไทยมี RA อยู่แล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ส่วนราชการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ครบได้ และปัจจุบันก็ยังมีความพยายามแก้ไขปัญหาและทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำขึ้นมาแล้วนั้นใช้ได้หรือไม่ รวมทั้งการปรับปรุงกฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้ทันสมัยและมีรายละเอียดมากขึ้น ครอบคลุมอาคารมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจะนำ RA มาเขียนเป็นกฎหมายยังเห็นว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเป็นเรื่องของดุลยพินิจในการพิจารณาความสมเหตุสมผลซึ่งวัดได้ยาก

 

๖.กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุณภาพชีวิตคนพิการได้กำหนดเรื่องการเข้าถึง (Accessibility) ข่าวสารทาง ด้านสารสนเทศ โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการจัดให้มี แต่ก็มีหน่วยงานรัฐหลายแห่งยังไม่ดำเนินการ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำ มากกว่าสิ่งที่จะต้องทำ จึงแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานรัฐดำเนินการไว้อย่างชัดเจนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นหลักประกันได้ว่าสิ่งเหล่านั้นถูกกระทำขึ้น ดังนั้น จึงขอสนับสนุนให้กำหนดเรื่อง RA ไว้ในกฎหมายหรือมาตรการให้ชัดเจน อย่างน้อยเพื่อให้เกิดการกระตุ้นให้มีการ ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้ว่าเรื่อง RA จะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถือเป็นเรื่องท้าทายที่จะต้องเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป

 

๗.ประเด็น Access และ RA คือ สิ่งที่จะนำไปสู่การเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพของคนพิการ จึงเห็นว่า RA จำเป็นต้องกำหนดไว้ในกฎหมาย เพราะในปัจจุบัน Access ไม่สามารถที่จะเป็นหลักประกัน การเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพของคนพิการได้อย่างแท้จริง ซึ่งหากมีระบบ Access ที่ดีแล้ว RA ก็ไม่มีความจำเป็น แต่การ ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะทั้งประเทศ Access ทั้งหมดก็คงเป็นไป ไม่ได้ RA จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่ยังไม่ได้จัดให้มี Access สามารถที่จะใช้ RA ได้ รวมถึง คนพิการ ก็ยังมีช่องทางหนึ่งในการเข้าถึงด้วย RA อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า การกำหนด RA ไว้ในกฎหมาย จะไปเป็นทางเลือกให้กับทางผู้ให้บริการสาธารณะต่างๆ ไปเน้นใช้ RA แทนที่จะไปมุ่งพัฒนา Access จึงเป็นประเด็นที่ต้องระวังด้วยการเขียนในกฎหมายให้รัดกุม ดังนั้น การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล ในสังคมไทย จะต้องไม่เป็น RA แบบไทยๆ ตามแบบสังคมไทยเป็นสังคมที่มีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งการกำหนด RA ไว้ในกฎหมายไทยที่เกรงว่าจะเป็นการใช้การดุลยพินิจเกินไปนั้น จำเป็นต้องร่วมกันจัดทำหลักเกณฑ์โดยการเรียนรู้กรณีศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับ RA ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติแต่ละรายบุคคล และคำวินิจฉัยของศาล

 

๘.ทุกคนล้วนต้องการสิทธิที่เท่าเทียม แม้คนตาบอดจะได้รับโอกาสเข้าเรียนในสถานศึกษา แต่ก็ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนในการเรียนการสอนของคนตาบอด โดยมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของโรงเรียนสอนคนตาบอดจะมีหน่วยผลิตสื่อการเรียนการสอน ซึ่งแท้จริงแล้วการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลต้องจัดให้มีหน่วยวิเคราะห์สำรวจ จำนวนคนตาบอด เพื่อวิเคราะห์งบประมาณและผลิตสื่อการเรียนการสอน รวมถึงรูปแบบการผลิตสื่อ ทั้งนี้ RA สำหรับการเรียนของคนตาบอด คือ สื่อการเรียนการสอน เพื่อให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป คำว่า Reason แปลว่า เหตุผล และการที่เราจะใช้เหตุผลได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง ยังต้องการความรู้ และองค์ความรู้ก็จะนำมาสู่การให้บริการ ที่ตรงกับความต้องการจำเป็นมากที่สุด แม้การบัญญัติ RA ไว้ในกฎหมายจะเป็นเรื่องยาก จึงจำเป็นต้องนำความรู้ความเข้าใจมาสู่การบริหารจัดการในโรงเรียน ซึ่งนอกจากจะต้องจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP) ที่คำนึงถึงตัวบุคคลแล้ว เด็กทุกคนก็จะต้องได้รับการดูแลให้เป็นไปตาม IEP ที่มีคุณภาพด้วย

 

๙.ไม่ควรเรียกคนหูหนวกว่า "คนใบ้" เนื่องจากคนหูหนวกรู้สึกไม่สบายใจ เพราะคำว่า "ใบ้" หมายถึง คนหูหนวกที่ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ว่าคนหูหนวกส่วนใหญ่ในสังคมจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ ๖ หรือปริญญาตรี จึงต้องการให้เคารพสิทธิดังกล่าวของคนหูหนวกด้วย

 

๑๐.คนพิการทางจิตสังคมต้องการได้รับความช่วยเหลือหรือการอำนวยความสะดวกเพื่อให้สามารถเรียนหรือทำงานได้ประสบความสำเร็จ คือ ต้องการความเข้าใจ ความรู้ และการสนับสนุน ความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล รวมถึงต้องการความยุติธรรม คนพิการทางจิตสังคมจำนวนมากที่ตกหล่นไปจากระบบการศึกษา เนื่องจากคนพิการ ทางจิตสังคมมักจะใช้วิธีการถอยหนีมากกว่าที่จะเข้าไปเรียกร้องสิทธิ เช่นเดียวกับสังคมไทยที่มักจะไม่ค่อยกล้าเรียกร้องสิทธิเนื่องจากฝืนกับวัฒนธรรมไทย ที่มักเห็นว่าการเรียกร้องสิทธิเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเหมาะสม ดังนั้น การขับเคลื่อนให้ RA เป็นจริงได้ในสังคมไทย คือ ต้องเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้ให้กว้างขวางที่สุด จนถึงตัวคนพิการ เพื่อให้คนพิการรู้ว่าการเรียกร้องสิทธิของตนไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องก้าวร้าว และคนที่ เกี่ยวข้อง กับคนพิการก็ต้องมีความเข้าใจด้วยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ ชอบธรรม เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสิทธิที่ติดตัวคนพิการมาตั้งแต่เกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งในอนาคตการส่งเสริมให้คนพิการได้เข้าถึงการเรียน เข้าถึงการทำงาน จำเป็นต้องแก้ปัญหาการเข้าถึง (Accessibility) อย่างจริงจัง

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email :dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- เสาร์ที่ 1 ธันวาคม 2561
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก