ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“ครูบุญชู” แม่พระของเด็กพิการเปิดบ้านตัวเองดูแลเด็กพิเศษเกือบ 200 ชีวิต

วันที่ลงข่าว: 30/11/18
          รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ เสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2561 พาคุณผู้ชมไปพบกับเรื่องราวของ “ครูบุญชู” ผู้ห่วงว่า เด็กพิการหรือเด็กพิเศษจะมีอนาคตที่มืดมนและสร้างภาระต่อสังคมในอนาคตได้ จึงลงทุนเปิดบ้านตัวเองเป็นที่พึ่งของเด็กพิการ ซึ่งไม่เพียงช่วยต่ออนาคตให้เด็กๆ เหล่านี้ แต่ยังช่วยลดปัญหาสังคมที่จะเกิดจากครอบครัวแตกแยกได้อีกด้วย
          คงไม่มีใครอยากมีบุตรหลานเป็นเด็กพิเศษ หรือเด็กที่มีปัญหาหรือความบกพร่อง ไม่ว่าจะด้านร่างกาย การเรียนรู้ สมาธิสั้น พิการทางสมอง หรืออยู่ในกลุ่มดาวน์ซินโดรม และออทิสติก ฯลฯ ซึ่งเด็กเหล่านี้ต้องการการช่วยเหลือและดูแลเป็นพิเศษ หากครอบครัวใดมีลูกเป็นเด็กพิเศษ โอกาสที่จะเกิดปัญหากับเด็กและพ่อแม่ก็เป็นไปได้สูง เพราะเด็กพิเศษต้องได้รับการดูแลตลอดเวลา หากพ่อแม่ไม่เข้าใจ หรือต้องทำมาหากิน โอกาสที่ลูกจะถูกทิ้ง หรือไม่ได้รับการดูแลก็จะยิ่งมากขึ้น
          ครูบุญชู ม่วงไหมทอง เคยเป็นครูในโรงเรียนวัดเขาบายศรี จ.ชลบุรี ที่เคยเป็นโรงเรียนสอนเด็กปกติ ก่อนจะพัฒนาเป็นโรงเรียนร่วม คือเปิดสอนทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษในเวลาต่อมา การได้มีโอกาสสัมผัสและคลุกคลีกับเด็กพิเศษ ทำให้ครูบุญชูอดห่วงไม่ได้ว่า การที่เด็กพิเศษเรียนจบแค่ ป.6 อนาคตของเด็กเหล่านี้จะมืดมนหรือไม่ จึงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือดูแลเด็กเหล่านี้ 
          "เด็กพิเศษที่แม่สอน จะจบถึงแค่ ป.6 ซึ่งในระบบรับไม่ได้แล้ว แม่เลยคุยกับผู้ปกครองว่า เราจะทำอย่างไรกับลูกของเราดี เราฝึกมาแล้ว ถ้าปล่อยกลับไป ก็เหมือนกับศูนย์ใหม่ เลยเป็นจุดเล็กๆ เริ่มเป็นบ้านครูบุญชูเพื่อเด็กพิเศษขึ้น พร้อมกับผู้ปกครองที่มีน้องๆ เป็นเด็กพิเศษ ร่วมกันมาตั้งเป็นบ้าน 1 หลัง" รัตติยา ม่วงไหมทอง ลูกสาวครูบุญชู ม่วงไหมทอง เล่าที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิบ้านครูบุญชูเพื่อเด็กพิเศษโดยใช้บ้านตนเองเป็นที่ทำการ
          9 ปีที่เปลี่ยนบ้านเป็นมูลนิธิครูบุญชูเพื่อเด็กพิเศษ ปัจจุบันมีเด็กในความดูแลเกือบ 200 คน บ้านครูบุญชูไม่เพียงช่วยต่ออนาคตให้กับเด็กๆ เหล่านี้ แต่ยังช่วยลดปัญหาสังคมที่เกิดจากปัญหาครอบครัวอีกด้วย
 
          “เด็กพิการไม่เหมือนกับเด็กปกติ เด็กปกติสมมุติถ้ามีครอบครัว ถึงเวลาช่วงอายุตามวัย เขาก็ไปโรงเรียน ไปเช้าเย็นกลับกับครอบครัว แต่เด็กพิการ เราจะต้องดูแลเขา 24 ชม. ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เลยเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสังคม คือพ่อแม่แตกแยกกัน ทำให้เป็นครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ดูแลลูกคนเดียว แยกทางกับสามี ทำให้การดำเนินชีวิตไม่เหมือนผู้ปกครองปกติที่มีลูกปกติ ถ้ามีลูกพิการปั๊บ เรื่องการทำมาหากิน การประกอบอาชีพไม่เหมือนผู้ปกครองที่มีลูกปกติ พอเกิดปัญหาลูกพิการและเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวปั๊บ ปัญหาการประกอบอาชีพก็เป็นปัญหาที่ผู้ปกครองต้องหาหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนดูแลลูกของตัวเอง และตัวเองก็ไปประกอบอาชีพทำมาหากิน ถึงเวลา 1-2 เดือน หรือ 1 ปี นานๆ มาเยี่ยมลูกครั้งหนึ่ง”
          “เด็กตอนนี้ที่มูลนิธิฯ ยอดทั้งหมด 185 คน จะมีประมาณ 100 กว่าคน ไม่มีญาติดูแลต่อเนื่อง หรือมารับ ทางมูลนิธิฯ เลยมีความจำเป็นต้องทำมูลนิธิให้เป็นบ้านของเขา ให้เขารู้สึกว่า นี่คือบ้านของเขา ในช่วงเทศกาลต่างๆ แม่ชูจะจัดกิจกรรมต่างๆ เหมือนกับกิจกรรมที่ผู้ปกครองได้ทำให้กับเด็ก" ไพลิน ทรัพย์ประเสริฐ นักจิตวิทยา งานสังคมสงเคราะห์ ฉายภาพมูลนิธิบ้านครูบุญชูฯ ที่ตั้งขึ้นเพื่อเด็กพิเศษ
 
เด็กพิเศษในความดูแลของมูลนิธิฯ มีตั้งเกือบ 200 คน หาใครมาดูแลเด็ก?
“มาจากแม่ๆ นี่แหละ ที่ดูแลลูก เราเชื่อว่าแม่ที่ลูกเป็นเด็กพิเศษจะเข้าใจเด็กพิเศษทุกคนว่าเด็กพิเศษต้องการอะไร การดูแลจะเป็นอย่างไร ต้องขอบคุณแม่ๆ ที่เริ่มกับเรามาทุกคน ทุกคนก็ยังอยู่กับเรามาถึงทุกวันนี้ ฟันฝ่ากันมา ข้อดีของบ้านเรา เราอยู่ในลักษณะที่ไม่ทิ้งกัน แต่ปัญหาก็มีเป็นปกติของการอยู่รวมกันของคน แต่สุดท้ายแล้วเราก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือทำเพื่อเด็ก มีเด็กเป็นจุดศูนย์กลาง บางทีคนแถวนี้เหมือนเข้ามาของานเราทำ เป็นจิตอาสา เราอยู่แบบแบ่งปันกัน ของกินของใช้แบ่งปันกัน เหมือนขอกำลังเขามาช่วยเสริมดูแล”
 
“ส่วนคนที่จะมาดูแลเกี่ยวกับเด็ก เบื้องต้นเราต้องสกรีนระดับหนึ่ง ถ้าคุณมีลูกเป็นเด็กพิเศษ เรายินดีรับอยู่แล้ว เราเข้าใจคนเป็นแม่ แต่ถ้าคุณไม่ได้มีลูกเป็นเด็กพิเศษ เราอาจจะให้ทำงานที่ไม่ต้องสัมผัสกับเด็กก่อน อาจทำความสะอาด หรืองานด้านอื่นๆ แล้วเราค่อยดูว่า เขาพร้อมที่จะเข้ามาดูแลเด็กไหม เราค่อยจัดสรรเขามาดูแลเด็ก เพราะทุกคนไม่สามารถจะเข้ามาดูแลเด็กได้ทันที" รัตติยา ม่วงไหมทอง ลูกสาวครูบุญชู เล่าบรรยากาศการดูแลเด็กพิเศษของมูลนิธิฯ ที่อยู่กันเหมือนครอบครัว
 
แม่เด็กดาวน์ซินโดรม ดีใจลูกมีที่พึ่ง
"น้องณัฐเป็นเด็กอยู่ในกลุ่มดาวน์ซินโดรม ตอนน้องอายุ 4-5 ขวบ แม่ก็เครียดว่าจะเอาน้องไปไว้ตรงไหน เพราะน้องต้องฝึกพัฒนาการได้ พอรู้ข่าวว่า ที่ครูบุญชูมีรับในโรงเรียนเขาบายศรี ก็พาน้องมา ตอนแรกก็คิดว่า ครูคงไม่รับลูก เพราะเขารับแต่เด็กออทิสติก แม่ก็เสี่ยงเอาน้องมา มาถึงครูบุญชูพูดคำเดียวว่า เอาลูกมาได้เลย แม่โล่งมากเลย อย่างน้อยๆ ลูกก็มีที่ฝึก ฝึกสมอง ฝึกการอ่านการเขียนได้ แม่เลยเอาน้องมาอยู่กับครูบุญชู" ศิริพร หยูศรี ไม่เพียงนำลูกที่เป็นดาวน์ซินโดรมมารับการดูแลในบ้านครูบุญชู แต่เธอยังมาช่วยทำหน้าที่แม่ของเด็กพิเศษคนอื่นๆ ที่นี่ด้วย
 
บ้านครูบุญชูฯ จัดการเรียนการสอนการดูแลเด็กพิเศษอย่างไร?
 
“อันดับแรกมีห้องเรียน กศน. อยู่ด้านนี้เลย ห้อง กศน.มีทั้งประถมและมัธยม ชั้นเตรียมประถมด้วย (ถาม-คิดอย่างไรถึงมาเปิด กศน.ตรงนี้?) ครูต้องการให้เด็กมีโอกาสใช้สมองของตัวเองเท่าที่จะเป็นไปได้ เด็กที่เรียนร่วมได้ ให้เรียนร่วม เด็กที่เรียนร่วมไม่ได้ ทำอย่างไร ให้มีโอกาสอยู่กับตัวหนังสือบ้าง อยู่ตรงนี้บ้าง ดีกว่าปล่อยไปเรื่อยๆ ครูมองว่าเด็กเหล่านี้ยังมีศักยภาพในการจะเรียนได้ เลยร่วมมือกับ กศน.อำเภอสัตหีบ เปิดเป็น กศน.ที่นี่ ให้อาคารตรงนี้ และเอาเด็กที่พอจะเรียนได้ มาเรียน (ถาม-เด็กที่ไม่สามารถเรียนร่วมได้ มีกิจกรรมอะไรให้เขาทำไหม?) ฝึกอาชีพให้” 
 
ครูบุญชู ม่วงไหมทอง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านครูบุญชูเพื่อเด็กพิเศษ เล่าให้ฟังด้วยว่า ในแง่อาชีพที่ฝึกให้เด็กพิเศษก็มีหลากหลาย เช่น ทำน้ำยาล้างจาน ตัดเสื้อผ้า ทำผ้าเช็ดเท้า ทำกระปุกออมสินจากกระดาษรีไซเคิล ฯลฯ 
 
ที่บ้านครูบุญชูฯ ไม่เพียงให้อาชีพ แต่ยังให้โอกาสเด็กพิเศษที่มีความสามารถด้านกีฬา ได้รับการฝึกฝนจนสามารถเข้าร่วมการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย
 
“เด็กบางคนเป็นนักกีฬาด้วย น้องนนท์เป็นนักกีฬาโบว์ลิ่งของเรา เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งที่มาเลเซีย เป็นนักวิ่งด้วย จะไปแข่งกีฬาแห่งชาติที่เชียงราย น้องบีไปแข่งวิ่งที่สิงคโปร์ และจะไปเชียงรายกันทั้งหมด” ครูบุญชูยกตัวอย่างเด็กพิเศษในความดูแลที่มีความเป็นเลิศด้านกีฬา
 
ครูบุญชูไม่อยากให้เด็กๆ ที่รักเหมือนลูกๆ เหล่านี้มีชีวิตอยู่ไปวันๆ จึงอยากทำทุกอย่างเพื่อสร้างคุณค่าให้เกิดกับตัวเด็ก
 
“ครูเป็นแม่ที่ดูแลลูกทั้งหมด ครูไม่ต้องการให้ลูกอยู่ไปวันๆ โดยไม่มีจุดหมาย ครูพยายามดึงส่วนที่เหลือซึ่งเป็นส่วนดีของเขามาสร้างประโยชน์ จริงอยู่เด็กเหล่านี้เรียนไม่ได้ เพราะวิชาการอาจซับซ้อน แต่งานแบบนี้ไม่ใช้สมอง ใช้ความจำ ทำซ้ำๆ จนเกิดความเคยชิน ก็มาทำทุกวันตรงนี้ เด็กก็จะมีความสุข สมองก็จะได้คิดและพัฒนาการไปเรื่อย ทำอย่างไรไม่ให้สมองหยุด ครูจึงคิดวางแผนทุกอย่างที่จะให้บ้านหลังนี้มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นรองรับเด็กเหล่านี้ ให้เด็กเหล่านี้มีคุณค่าในตัวเอง นี่คือสิ่งที่ครูมุ่งหวังที่สุด” 
 
การดูแลเด็กพิเศษเกือบ 200 ชีวิต ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ทั้งสถานที่และเงินในการใช้จ่าย ซึ่งครูบุญชูยอมรับว่า มูลนิธิบ้านครูบุญชูฯ อยู่มาได้ถึง 9 ปี เพราะความเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูลจากสังคมจริงๆ
 
“สิ่งที่เรายืนอยู่ได้ทุกวันนี้คือ ความซื่อสัตย์ความจริงใจที่เราทำกับเด็กเหล่านี้ มันจึงเป็นพลังให้สังคมมองเห็นและมาช่วยเรา พลังสังคมเกิดจากความศรัทธาที่เด็กๆ เหล่านี้อยู่ที่นี่ ที่ครูทำงานตรงนี้ด้วยใจของครูเอง จากเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งในอดีต ตอนนี้เรามี 9 ไร่ 2 งาน ตรงนี้ 6 ไร่ 2 งาน ข้างในอีก 3 ไร่ เงินจากไหน ไม่มีเงินรัฐบาลช่วย เงินจากสังคมเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูลให้ดินแดนเหล่านี้เป็นดินแดนของเด็กพิการอย่างแท้จริง ครูไม่เคยมุ่งหวังว่าจะเอาสมบัติตรงนี้ไปทำอะไร ครูเพียงแต่ให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสเท่านั้นพอ ครูจะบอกลูกสาวเสมอว่า เราเกิดมา ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ สร้างบุญสร้างบารมีไว้ วันที่ตายวันที่ไปจากโลกนี้ ทิ้งอะไรไว้ให้คนข้างหลังบ้าง” 
 
ครูบุญชูไม่หวังอะไรมาก ขอแค่เด็กพิเศษเหล่านี้ช่วยเหลือตัวเองเป็น และอยู่ในสังคมได้
 
“ถามว่าท้อมั้ย ไม่เคยคิดท้อเลย แต่ครูกลับมองว่า ครูโชคดีที่เกิดมาได้มีโอกาสทำตรงนี้ ได้ช่วยเหลือมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ด้อยกว่าเราเยอะ และสิ่งที่ภูมิใจคือ ให้เด็กเหล่านี้ช่วยเหลือตัวเองเป็น อยู่ในสังคมได้ ตรงนี้คือสิ่งที่เราภูมิใจและเป็นรางวัลที่มีค่าที่สุด” 
 
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 ) 
 
รับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/ 
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos

ขอแค่เด็กพิเศษเหล่านี้ช่วยเหลือตัวเองเป็น และอยู่ในสังคมได้
 
 
รายการคนจริงหัวใจไม่ท้อ
 
ที่มาของข่าว https://mgronline.com/news1/detail/9610000119232

Video ประกอบข่าวประจำวัน

^ กลับสู่เนื้อหาหลัก