ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จ.นครศรีธรรมราช เร่งกำหนดแผนดูแลผู้พิการ ปี 62 หลังพบผู้พิการบางส่วนยังไม่ได้ลงทะเบียน

วันที่ลงข่าว: 20/11/18

          จังหวัดนครศรีธรรมราช ระดมความเห็นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการคุณภาพชีวิตคนพิการในปี 2562 หลังพบว่ายังมีผู้พิการบางส่วนไม่ได้รับการลงทะเบียน และรับสิทธิการดูแลจากภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กพิการทางการเรียนรู้ที่แพทย์ ระบุว่ามีการลงทะเบียนน้อยกว่าความเป็นจริง

ทั้งนี้ เพื่อกำหนดแผนการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในปี 2562 และรายงานผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือดูแลผู้พิการในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในปี 2561 ที่ผ่านมา นายภาคภูมิ อินทรสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้ประชุมหารือกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัด ที่ห้องประชุมศรีปราชญ์ศาลากลางจังหวัด โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ อาทิ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด จัดหางานจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด สมาคมผู้พิการ

          นายชูรินทร์ ขวัญทอง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าจากข้อมูลณเดือนกันยายน 2561 พบว่าจังหวัดนครศรีธรรมราชมีผู้พิการที่ลงทะเบียน จำนวน 50,543 คน แบ่งเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว 24,279 คน ผู้พิการทางการได้ยิน 9,910 คน ผู้พิการทางการเห็น 3,904 คน ผู้พิการทางจิตใจ 3,771 คน ผู้พิการทางสติปัญญา 3,091 คน ผู้พิการทางการเรียนรู้ 376 คน และผู้พิการออทิสติก 176 คน ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ได้ดำเนินการดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาค และเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมการมีงานทำ ซึ่งพบว่าในปี 2561 ที่ผ่านมา มีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดว่าจ้างผู้พิการเข้าทำงาน จำนวน 108 คน พร้อมขอเชิญชวนให้ผู้พิการที่ยังไม่ลงทะเบียน ทำการลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงบริการของภาครัฐ

          ขณะที่ นายแพทย์ทฏะวัฎร์ พิลึกภควัต แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่ายังมีผู้พิการในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ยังไม่ลงทะเบียน และได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้พิการทางการเรียนรู้ในวัยเด็กที่มีการลงทะเบียนเพียง 376 คน ในขณะที่ความเป็นจริงในน่าจะมีผู้พิการประเภทดังกล่าว กว่า 1,000 คน แต่เนื่องจากทัศนคติของผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กที่บางรายรับไม่ได้กับคำว่าพิการ จึงทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องทันท่วงที และไม่ได้รับสิทธิดูแลจากภาครัฐ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก