ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation : RA)เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนทุกคนในสังคมไทย

วันที่ลงข่าว: 19/11/18

(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)

          กรณีต่างประเทศ ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายที่เกี่ยวกับ การห้ามเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ซึ่งมีประเด็น RA ในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องการศึกษา การทำงาน และที่พักอาศัย มีแนวทาง ปฏิบัติในการรับ คนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานรัฐ รวมถึง การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถทำงานได้เช่นเดียวกับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงทางกายภาพ ทางลาด และห้องน้ำคนพิการ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกต่างๆ ในสถานที่ทำงาน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องช่วยฟังสำหรับคนหูหนวก คอมพิวเตอร์สำหรับคนตาบอด หรืออื่นๆ โดยคำนึงถึงประเภทความพิการ การปรับเวลาการทำงานเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นเรื่องเวลา การทำงานสำหรับคนพิการ เป็นต้น นอกจากนี้ คนพิการบางคนอาจจะต้องมีผู้ช่วยหรือผู้ดูแลคนพิการที่จะต้องตามไปด้วย ซึ่งสถานที่ทำงานที่รับคนพิการเข้าทำงานต้องจัดสถานที่เพื่อรองรับผู้ช่วยคนพิการด้วย โดยในกฎหมายไทยก็มีกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายควบคุมอาคาร ที่บังคับใช้กับอาคารใหม่ต้องจัดให้ คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ แต่อาคารเดิมที่ กฎกระทรวงไม่มีผลบังคับย้อนหลัง ก็ต้องนำหลัก RA เข้ามาใช้ สำหรับด้านการศึกษาของสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายกำหนดว่า เด็กพิการต้องสามารถเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนของรัฐ กฎหมายจะบังคับเฉพาะในสถานศึกษาของรัฐจัดให้มี RA ในลักษณะคล้ายๆ กับสถานที่ทำงาน ทั้งการปรับสถานที่ทางกายภาพ รถรับส่งนักเรียน ล่ามภาษามือ อุปกรณ์ช่วยฟังสำหรับคนหูหนวก สื่อการเรียนการสอนที่เป็นอักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอด สภาพห้องเรียน ที่เหมาะสมสำหรับเด็กพิการ รวมไปถึงการเตรียมแผนอพยพ กรณีเกิดภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุในโรงเรียนก็จะต้องมีแผนดูแลเด็กพิการ ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาไม่มีปัญหาเรื่องของการอำนวยความสะดวกอย่างสมเหตุสมผล หากมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถนำเรื่องขึ้นสู่ศาลเพื่อวินิจฉัยว่า ผู้มีหน้าที่ให้หรือจัดอำนวยความสะดวกปฏิเสธไม่จัดให้มี RA นั้นเป็นภาระเกินควรหรือไม่ และคำพิพากษาศาล ก็จะเป็นบรรทัดฐานการดำเนินงานเรื่อง RA

          ดังนั้น ลักษณะของการอำนวยความสะดวกอย่างสมเหตุสมผลซึ่งเป็นเฉพาะกรณี จึงไม่มีแนวทางอะไรที่ชัดเจน สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น และขึ้นอยู่กับความพิการ โดยกระบวนการที่สำคัญของ RA คือ กระบวนการคุยกับคนพิการว่าคนพิการที่เข้ามาใช้บริการมีความต้องการอย่างไร แล้วผู้มีหน้าที่ให้บริการจะสามารถจัดบริการให้ได้หรือไม่ ซึ่ง RA ถือเป็นการแก้ปัญหาให้เป็น รายกรณี แต่การแก้ปัญหาเฉพาะรายนั้นก็อาจจะเป็นประโยชน์กับคนพิการโดยทั่วไปได้ด้วย ทั้งนี้ หากจะมี การแก้ไขกฎหมาย กลไกหนึ่งที่จะช่วยวางแนวทางเรื่อง RA ได้ คือ กลไกของคณะอนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ จากกรณีเรื่องร้องเรียนการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ช่วยแก้ปัญหา หรือกรณีที่ผู้ให้บริการสามารถจัดอำนวยความสะดวกได้อย่างสมเหตุสมผล จึงเห็น ควรรวบรวมแนวปฏิบัติ แนวข้อเสนอหรือความเห็นของ คณะอนุกรรมการฯ จากกรณี การแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ ถือเป็นรูปแบบ RA อันจะเป็นประโยชน์กับคนพิการที่เจอปัญหา ในลักษณะเดียวกัน เพื่อใช้กำหนดแนวทางปฏิบัติด้าน RA ก่อนที่ จะนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายต่อไป

           นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้แสดงความคิดเห็น ดังนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาจากการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานของฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน จึงเกิดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ขึ้นภายใต้กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่หลักในการส่งเสริม คุ้มครองและสร้างหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ในขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ตรวจตราการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของภาครัฐ ให้ความเห็นและ ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐด้านสิทธิมนุษยชน ให้ดีขึ้น โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพรับผิดชอบสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ๕ ฉบับ จากทั้งหมด ๙ ฉบับ ได้แก่ (๑) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) (๒) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights : ICESCR) (๓) อนุสัญญาว่าด้วย การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination : CERD) (๔) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) และ (๕) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : CED) โดยสนธิสัญญาอีก ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child : CRC) (๒) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women : CEDAW) และ (๓) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของ คนพิการ (Convention on the Rights of the Persons with Disabilities :CRPD) อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นอกจากนี้ กรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ ยังรับผิดชอบ เรื่อง แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกหรือเครื่องมือสำคัญในการติดตามการเข้าถึง สิทธิมนุษยชน โดยกำหนดให้คนพิการเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย และถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน RA ได้เป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ และอยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๔

          นอกจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะมีภารกิจหน้าที่หลักในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ตั้งแต่ชั้นสอบสวนไปจนถึงชั้นพิจารณาคดี การช่วยเหลือประชาชนให้ เข้าถึงความเป็นธรรม ได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม ยังได้ดำเนินการ ตามนโยบายของรัฐบาลด้านการส่งเสริมสิทธิของผู้พิการ ตามที่รัฐบาลได้ประกาศเห็นชอบวาระแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ เพื่อการพัฒนา ที่ยั่งยืน และถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยประกาศยกระดับประเด็นสิทธิ มนุษยชนให้เป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้ง ให้ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมกันขับเคลื่อน ประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยมีวาระ ๒ ปี ทั้งนี้ ประเด็นที่สำคัญคือ การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้ามารับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามนโยบายการจ้างงานคนพิการ ของรัฐบาลเพื่อจ้างงานคนพิการให้ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และกำหนดการจ้างงาน คนพิการให้เป็นตัวชี้วัดหนึ่งของกระทรวงต่างๆ ด้วย

          การดำเนินงานด้านการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของ คนพิการที่สำคัญ คือ ระบบคลังความรู้เปิดของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเรียกว่า OER มีระบบที่สำคัญ คือ ระบบคำศัพท์ล่ามภาษามือในกระบวนการยุติธรรม จากการดำเนินงานด้านการดูแลผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและ ค่าใช้จ่ายแก่จาเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อดูแลเหยื่ออาชญากรรมโดยที่ตัวเองไม่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดนั้น ซึ่งรัฐต้องดูแลความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนรวมทั้งการเยียวยาในเบื้องต้น จากประสบการณ์ทำงานพบว่ากลุ่มคนหูหนวก ยังมีอุปสรรคอย่างมากในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นสอบสวนไปจนถึงชั้นอัยการ เช่น กรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ คนหูหนวกบอกไม่ได้ว่าใครทำ จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างจริงจัง จึงเริ่มต้นจัดทำศัพท์ภาษามือซึ่งเป็นศัพท์ทางกฎหมาย จำนวน ๑๐๔ คำ ที่พัฒนาขึ้นมาเบื้องต้น โดยในเดือนกันยายน ๒๕๖๑ นี้ จะได้ส่งมอบให้กับทางโรงเรียนหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องของ คนพิการเพื่อประโยชน์ต่อการให้บริการคนหูหนวกด้วย เนื่องจากช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนล่ามภาษามือ ซึ่งในชั้นการพิจารณาของศาลได้เริ่มใช้ ระบบการพิจารณาด้วยจอภาพแล้ว ดังนั้น ในชั้นการสอบสอนของตำรวจ ทั่วประเทศก็น่าจะนำระบบดังกล่าวไปใช้ดำเนินการได้ เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ กฎหมายกำหนด ต้องจัดให้มีล่ามภาษามือสำหรับผู้เสียหาย จำเลย หรือพยานที่เป็นคนหูหนวก นอกจากนี้ ยังมีบริการคิวอาร์โค้ด เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางสายตาหรือคนตาบอด สำหรับเป็นข้อมูลต่างๆ ในการให้บริการประชาชนที่เป็นคนตาบอด โดยจัดทำเป็นหนังสือเสียง และได้นำเสนอในงานสัมมนาด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียนที่ผ่านมา โดยได้รับความชื่นชมว่าประเทศไทย มีความก้าวหน้าในด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยการแจ้งสิทธิประโยชน์ และสิทธิต่างๆ ของคนพิการ ผ่านคิวอาร์โค้ด ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาของ คนพิการที่สำคัญ คือ ปัญหาการรับรู้ข่าวสารของหน่วยงานรัฐ การเข้าถึงงานบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม การเข้าถึงระบบการขนส่งสาธารณะ ความเสมอภาคของการจ้างงานของคนพิการ การเหลื่อมล้ำของการให้บริการทาง สาธารณสุขและการเข้าถึงระบบการศึกษา ยังเป็นปัญหาที่ทุกหน่วยงานต้อง บูรณาการร่วมกันทำงานต่อไป

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- เสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2561 00:00:48 น.
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก