ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สพฐ.ขีดเส้น 3 ธ.ค. ร.ร.เคลียร์ตัวเลข “เด็กผี”

วันที่ลงข่าว: 16/11/18

         “บุญรักษ์” ประชุมทางไกล ผอ.เขตฯ-ผอ.ร.ร.ทั่วประเทศ สั่งสแกนเด็ก 100% เคลียร์ตัวเลขเด็กผี ยึดช่องว่างข้อมูล 10 พ.ย. 61 และรายงานภายใน 3 ธ.ค. ระบุ 2 ประเภทเด็กผี “มีชื่อในทะเบียนแต่ไม่มีตัวตน-ชื่่อซ้ำหน่วยงานอื่น” ขณะที่ระบบทะเบียนไม่ทันสมัย ยึดระเบียบตั้งแต่ปี 35 ลั่น รับไม่ได้ถ้าอ้างข้อมูลเพื่อประโยชน์ในตำแหน่ง 

          วันนี้ (15 พ.ย.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการปฏิบัติและข้อสั่งการที่หน่วยงานในสังกัดต้องดำเนินการเกี่ยวกับการายงานจำนวนนักเรียนเพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนไม่มีตัวต้นจริงในห้องเรียน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) รองผู้อำนวยการ สพท. ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้รับผิดชอบ งานทะเบียนนักเรียน และบุคลากรผู้รับผิดชอบทั่วประเทศ เข้าร่วม ว่า การจำหน่ายนักเรียนต่อจากนี้ต้องให้ตรงกับความเป็นจริง หรือหากจำหน่ายไม่ได้ก็จะต้องมีข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้น คำว่า เด็กไม่มีตัวตน สพฐ. จะยึดช่องว่างข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2561 โดยโรงเรียนจะต้องดำเนินการจำหน่ายนักเรียนตามแนวทางที่กำหนดภายในวันที่ 15-30 พ.ย. 2561

          ขณะเดียวกัน ให้โรงเรียนแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจนับจำนวนนักเรียน โดยมีตัวแทนผู้ปกครอง ผู้แทนกรรมการสถานศึกษา ผู้แทน สพท. ให้ ผอ.โรงเรียน เป็นประธาน เพื่อมีคนรับผิดชอบหลัก เพื่อสแกนจำนวนนักเรียนใหม่ 100% ในวันที่ 3 ธ.ค. 2561 ซึ่งทุกโรงเรียนจะต้องเคลียร์ข้อมูลให้ได้ และรายงานข้อมูลจำนวนนักเรียนที่ตรงกับระบบข้อมูลรายบุคคล หรือ DMC ของ สพฐ.ในวันที่ 10 ธ.ค. 2561 โดยจำแนกนักเรียนที่มีความจำเป็นขอรับงบประมาณ และจำนวนนักเรียนที่ยังไม่ประสงค์ขอรับงบฯ เนื่องจากไม่มีตัวตนและยังไม่สามารถจำหน่ายออกจากทะเบียนได้

          ดร.นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่หาข้อมูล พบว่า เด็กที่ไม่มีตัวตนในห้องเรียน มี 2 ประเภท คือ ประเภทแรก มีชื่อในทะเบียนแต่ไม่มีตัวตน แบ่งเป็น 1. มีชื่อแต่ไม่มาเรียน 2. ขาดเรียนอย่างต่อเนื่องหรือมาเรียนแล้วหายไป 3. สมรส ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองให้ได้สิทธิในการเรียน ซึ่งต้องหาข้อมูลว่า สมรสแล้วไม่มาเรียน หรือขอพักการเรียนชั่วคราว เช่น ลาคลอด 4. เจ็บป่วยเรื้อรับต้องรักษาเป็นเวลานาน 5. ตาย 6. อพยพย้ายถิ่นขาดการติดต่อ 7. เรียนที่อื่นแต่ไม่แจ้งย้าย 8. นักเรียนชั้น ม.3 ไม่จบหลักสูตร ไม่แก้ผลการเรียนหรือแขวนลอย 9. นักเรียน ม.6 นักเรียนชั้น ม.3 ไม่จบหลักสูตร ไม่แก้ผลการเรียน (แขวนลอย) 10. ขาดเรียนนานแต่สงวนสิทธิไม้รับวุฒิการศึกษา 

          11. รับย้ายจากโรงเรียนอื่นโดยทะเบียนแต่ไม่มีตัวตนเข้าเรียน กรณีนี้กำลังจะถูกสอบวินัยร้ายแรงสถานหนัก ถ้าพบว่า เป็นการเจตนาของโรงเรียนรับย้าย โอนย้ายเพื่อเอาจำนวนนักเรียน แต่ตัวนักเรียนไม่มาจริง เป็นการสร้างหลักฐานเท็จ แต่ถ้ารับย้ายแล้ว วันแรกๆ มาอยู่หายไปก็ต้องพิจารณาเหตุผลว่า เจตนาหรือไม่ 12. แจ้งย้ายแล้วแต่โรงเรียนปลายทางไม่ตอบรับ เป็นประเด็นทางข้อกฎหมาย หากนักเรียนออกจากโรงเรียนเดิมไป จะต้องไปแจ้งย้ายกับโรงเรียนปลายทาง ขณะที่โรงเรียนปลายทางต้องตอบรับว่า ได้รับเด็กแล้ว 13. กรณีเด็กพิการเรียนร่วมมาเรียนบ้างไม่มาเรียนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่มาเรียน และประเภท ที่ 2 คือ ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เช่น นักเรียนอนุบาลซ้ำซ้อนกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือมีชื่อในทะเบียนสังกัดสพฐ.แต่ไปลงทะเบียนเรียนกับสังกัดอื่น

          “ผมเข้าใจโรงเรียน เพราะระเบียบที่ใช้คือ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยทะเบียนนักเรียน พ.ศ. 2535 ซึ่งค่อนข้างนาน ระบบทะเบียนนักเรียนไม่เป็นปัจจุบัน ซึ่งหากจำนวนนักเรียนไม่ตรงกับข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. มีสาเหตุมาจากระเบียบให้เร่งแก้ไข แต่ถ้ามีเจตนาทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนโดยหวังผลประโยชน์เรื่องขนาดโรงเรียน ผลในการย้าย และผูกพันไปถึงงบฯที่ต้องจ่ายให้เด็กที่ไม่มีตัวตน เจตนานี้เรารับไม่ได้ ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายแล้วว่าให้ดำเนินการ เพราะการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่ข้าราชการ ส่งข้อมูลเท็จ ก็จะต้องถูกสอบสวนทางวินัย ซึ่งผมเองได้ย้ำกับ รมว.ศึกษาธิการ แล้ว จ่ายงบฯให้เฉพาะนักเรียนที่มีตัวตนเท่านั้น เรื่องนี้แม้อาจมีไม่มาก แต่ก็ทำให้สังคมไม่สบายใจ เพราะไปผูกพันกับสิทธิการย้ายผู้บริหาร และงบประมาณแผ่นดิน” ดร.บุญรักษ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนนักเรียนมาพิจารณาระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอะไรที่เป็นปัญหาก็ต้องแก้ไข

ที่มาของข่าว https://mgronline.com/qol/detail/9610000114138
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก