ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ดันความรู้อนามัยเจริญพันธุ์ให้เยาวชนผู้พิการเข้าถึงเท่าเทียม

วันที่ลงข่าว: 12/11/18

ดันความรู้อนามัยเจริญพันธุ์ให้เยาวชนผู้พิการเข้าถึงเท่าเทียม
: รายงาน โดย... ปาริชาติ บุญเอก qualitylife4444@gmail.com

 

          “เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแต่ไม่ใช่ถูลู่ถูกัง หรือพยายามหิ้วกันไป มันไม่พอ ต้องพร้อมเดินไปด้วยกัน ด้วยการเสริมพลังและโอกาสให้ทุกคนเท่าเทียม”

          เยาวชนที่มีความพิการทั่วประเทศมีการรับรู้และเข้าถึงทางด้านเพศศึกษาหรืออนามัยการเจริญพันธุ์เพียงบางจุด กล่าวคือ “เข้าถึง แต่ไม่เข้าใจ” ความรู้เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ส่วนใหญ่เรียนรู้จากพ่อแม่ ซึ่งสอนการป้องกันการตั้งครรภ์มากกว่าป้องกันการถูกละเมิดสิทธิทางเพศ มีสถานสงเคราะห์และโรงเรียนสำหรับผู้พิการเพียงไม่กี่แห่งที่สอนเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมไปถึงข้อมูลในปัจจุบันเป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นให้เยาวชนทั่วไป ไม่ใช่เยาวชนที่มีความพิการ ดังนั้นการแปลงสารผ่านทางครูจึงมีเพียงบางส่วนไม่ครบถ้วน

          ล่าสุดกองทุนสหประชาชาติเพื่อประชากร-ยูเอ็น เอฟพีเอ ร่วมลงนาม เอ็มโอยู กับ 3 องค์กรภาคี ได้แก่ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าสร้างความเท่าเทียมแก่เยาวชนที่มีความพิการ ให้เข้าถึงอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและรักษาสิทธิมนุษยชนซึ่งเยาวชนทุกคนพึงได้รับ

          จาก พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการบนพื้นฐานสิทธิวัยรุ่น ซึ่งมี 5 กระทรวงหลักทำหน้าที่ออกกฎหมายและระเบียบให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย โดยในมาตรา 5 กล่าวไว้ว่า วัยรุ่นมีสิทธิสำคัญอยู่ 6 ด้าน ได้แก่ 1.สิทธิในการตัดสินใจโดยตนเอง 2.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ 3.สิทธิในการได้รับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ 4.สิทธิในการรักษาความลับ ความเป็นส่วนตัว 5.สิทธิในสวัสดิการสังคม 6. สิทธิในการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

          ซึ่งคำว่า “วัยรุ่น” หมายรวมไปถึง กลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในภาวะเปราะบาง (vulnerable adolescent) ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาส (disadvantaged) โดยในแผนยุทธศาสตร์ของ UNFPA ปี 2561–2564 ระบุว่า กลุ่มคนด้อยโอกาสรวมถึง บุคคลที่มีความความพิการด้วย กลุ่มคนเหล่านี้มักถูกแปลกแยกออกจากสังคม การเข้าถึงข้อมูลและการบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และโอกาสในด้านอื่นๆ ดังนั้นคนหนุ่มสาวที่มีความพิการจัดว่ามีความเสี่ยงในด้านต่างๆ รวมทั้งเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ความรุนแรงจากเพศสภาพ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น  

          ตัดปัญหาโดยการทำหมัน

          พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานลงนามความร่วมมือ “ภาคีสนับสนุนศักยภาพและส่งเสริมสิทธิสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของเยาวชนที่มีความพิการ” ว่าสิทธิด้านสุขภาพอาจเป็นที่ตระหนักรับรู้ในสังคมโลก แต่ในเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์กลับถูกมองข้าม โดยเฉพาะในสังคมไทย ซึ่งอาจทำให้การดำเนินชีวิตของคนพิการไม่สามารถไปถึงเป้าหมายชีวิตที่ดีได้           ทั้งนี้การอนามัยเจริญพันธุ์ไม่ใช่แค่ให้ความรู้แต่ป้องกันการละเมิดสิทธิ เมื่อเรามีกฎหมายป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แต่สำหรับเด็กพิการกลับถูกมองข้าม เพราะเขาอาจจะเป็นส่วนใต้สุดของภูเขาน้ำแข็งที่คนอาจไม่รู้ไม่เข้าใจ นอกจากนี้ในบางรายตัดปัญหาโดยการพาไปทำหมัน ซึ่งนี่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

          “แม้เราจะมีข้อมูลอนามัยการเจริญพันธุ์ แต่ปัญหาใหญ่ คือการเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะเยาวชนที่มีความพิการทางการมองเห็นและได้ยิน การร่วมมือครั้งนี้ทำให้พ.ร.บ.การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีประโยชน์มากขึ้น แม้จะมีแค่ 4 องค์กรแต่ในวันข้างหน้าหวังว่าผู้พิการ ครู และผู้ปกครองจะมาเป็นพาร์ทเนอร์ในการแก้ปัญหามากขึ้น” พญ.วัชรา  กล่าว

          ด้าน มาเซล่า ซูอาโซ ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนพิการในประเทศไทยและในโลกเพิ่มขึ้นมาก ไม่ใช่แค่ความพิการที่เยาวชนได้รับ แต่ยังรวมไปถึงในด้านกฎหมาย นโยบาย ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เป้าหมายของเราคือการทำให้คนพิการมีสิทธิเท่าเทียมกัน และมีสิทธิเข้าถึงบริการต่างๆ โดยไม่มีการแบ่งแยกไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม ต้องสร้างพลังให้แก่คนพิการให้เขามีตัวตนในสังคมเพื่อเดินหน้าเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไป “No One Left Behind” เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ก็ตาม

          สื่ออนามัยการเจริญพันธุ์เพื่อผู้พิการ

          ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันทางสมาคมได้ทำงานโดยเน้นกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้พิการและผู้มีความบกพร่องจากปัญหาการไม่เข้าถึงอนามัยการเจริญพันธุ์ของผู้พิการ ที่ผ่านมาสมาคมจึงได้จัดอบรมการวางแผนครอบครัวและสุขภาพทางเพศแก่ผู้พิการทางการได้ยิน จ.ชลบุรี การจัดทำคลิปวิดีโอภาษามือ จัดทำหนังสืออักษรเบรลล์ให้ผู้พิการทางสายตา จ.เชียงใหม่ และจ.เชียงราย เพราะคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่เยาวชนผู้พิการต้องได้รับ

          เสริมพลังให้ทุกคนเท่าเทียม

          มณเฑียร บุญตัน ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่า คนพิการมีสิทธิในการตัดสินใจเอง การที่สังคมไม่เชื่อในความเท่าเทียมแล้วสร้างกฎหมายหรือกรอบด้านจารีตประเพณีมาผูกมัด หรือระบบการตัดสินใจแทน ในทางสิทธิมนุษยชนถือเป็นการ “ละเมิด” คนพิการเองก็อยากจะพัฒนาสุขภาพทางเพศ อยากจะมีครอบครัว เลี้ยงดูบุตรหลานเหมือนคนอื่น แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนอยู่ที่ตัวเขา เรามีหน้าที่คิดว่าทำอย่างไรให้เขาดูแลตัวเองได้

          “เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ไม่ใช่ถูลู่ถูกัง หรือพยายามหิ้วกันไป มันไม่พอ ต้องพร้อมเดินไปด้วยกัน ด้วยการเสริมพลังและโอกาสให้ทุกคนเท่าเทียม” มณเฑียรกล่าว

            ด้าน "น้องเพลง" อธิษฐาน สืบประพันธ์ ตัวแทนเยาวชนคนพิการ เปิดเผยว่า การให้ความรู้ในเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุมผู้พิการให้มากขึ้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้รู้วิธีเท่าทัน รู้วิธีรับมือ และป้องกันตัว นอกจากความรู้ในเรื่องอนามัยการเจริญพันธ์แล้ว ยังอยากให้สังคมมองเห็นความสำคัญในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ เช่น การเดินทาง เพราะหากมีความสะดวกมากขึ้นจะสามารถทำให้ผู้พิการแสดงศักยภาพ และความสามารถมากขึ้น เพื่อให้สังคมเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อผู้พิการให้ดีขึ้นได้

ที่มาของข่าว http://www.komchadluek.net/news/edu-health/351264
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก