ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation : RA)เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนทุกคนในสังคมไทย

วันที่ลงข่าว: 12/11/18

(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)

 

          กรณีการรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตุลาการและอัยการ ซึ่งมีผู้สมัครเป็น คนพิการป่วยเป็นโรคโปลิโอได้ขอสมัครเป็นข้าราชการตุลาการ แต่ศาลไม่รับเนื่องจากสภาพร่างกายไม่เหมาะสม ที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ ผู้สมัครจึงได้ร้องต่อผู้ตรวจการรัฐสภา ขอให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายข้าราชการตุลาการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ซึ่งในขณะนั้นใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติวินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการเป็นผู้พิพากษาจะต้อง มีร่างกายสง่างาม ในส่วนของการสมัครเป็นข้าราชการอัยการ ซึ่งไม่รับเช่นกัน ผู้สมัครจึงได้มาร้องต่อศาลปกครอง และศาลปกครอง สูงสุดมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้สมัครจะมีร่างกายเป็นคนพิการจริง แต่มีสิทธิที่จะเป็นข้าราชการ อัยการได้ และต่อมารัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.๒๕๕๐ ได้กำหนด เรื่อง การห้ามเลือกปฏิบัติเนื่องจากเหตุแห่งความพิการไว้เพิ่มเติม ผู้สมัครคนเดิมจึงได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณากรณีการปฏิเสธไม่รับคนพิการเข้าเป็นข้าราชการตุลาการอีกครั้ง โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยใหม่ว่า กฎหมายว่าด้วยข้าราชการตุลาการที่กำหนดว่า "สภาพร่างกายจิตใจไม่เหมาะสมเป็นข้าราชการตุลาการ" นั้น เป็นข้อความที่กว้างเกินไป ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ จึงวินิจฉัยให้ตัดข้อความดังกล่าวออกเสียและถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการกำหนดคุณสมบัติบุคคลเข้ารับราชการ ทั้งนี้ กฎหมายข้าราชการอัยการก็ได้ตัดถ้อยคำดังกล่าวออกไปแล้วเช่นกัน

          จากตัวอย่างข้างต้นถือเป็นวิวัฒนาการที่มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก และเป็นที่ยอมรับกันไปถึงกระบวนการยุติธรรมและศาลด้วยแล้ว ทั้งนี้ กรณีคนหูหนวกต้องมีล่ามภาษามือ ก็ยังเป็นปัญหาในชั้นตำรวจ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องมีล่ามภาษามือสำหรับพยานหรือผู้ต้องหาที่เป็นคนหูหนวก แต่ภาษามือส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพมหานคร ล่ามภาษามือมีไม่เพียงพอที่จะสามารถเดินทางไปในต่างจังหวัดได้ ยังเป็นปัญหาทางปฏิบัติและทำให้เกิดปัญหาความลักลั่นระหว่างผู้ต้องหาหรือพยานคนหูหนวกในต่างจังหวัดกับกรุงเทพมหานคร ดังนั้น "ความสมเหตุสมผล" ต้องพิจารณาความสมดุลระหว่างคนพิการต้องการได้สิ่งที่ดีและรวดเร็วที่สุด แต่ผู้ให้บริการ ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน บริษัทห้างร้านต่างๆ ต้องการให้เกิดค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด จึงควรช่วยกันระดมความคิดเห็นว่าจะมีข้อเสนอแนะต่อเรื่องนี้อย่างไร เพื่อในอนาคตจะได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ดีขึ้น นอกจากนี้ คำว่า "Universal Design" ควรใช้คำไทยว่า "การออกแบบที่ใช้ได้ทั่วไป" เพื่อให้สื่อความหมายได้ตรงกับสังคมไทยมากขึ้น

          นางหรรษา บุญรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แสดงความคิดเห็น ดังนี้ สำนักงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่อง สิทธิมนุษยชนตามสนธิสัญญาด้านต่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทุกฉบับ รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการว่าด้วย เรื่องของ คนพิการ ประเทศไทยมีองค์กรคนพิการและคนพิการที่ทำงาน แข็งขันจนสามารถผลักดันกฎหมาย ด้านการคุ้มครองสิทธิคนพิการได้ค่อนข้างก้าวหน้า แต่ก็ยังมีประเด็นจะต้องพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติม "การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในสังคมไทย" เชื่อมโยงไปถึงความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน คือ ความเท่าเทียมในการได้รับสิทธิ การไม่เลือกปฏิบัติ และความเสมอภาค ซึ่งปรากฏอยู่ในทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่เป็นเอกสารพื้นฐานเริ่มแรกในการแสดงเจตนารมณ์ของสมาชิกสหประชาชาติที่รับรองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับซึ่งไม่ได้เป็นเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จึงมีการพัฒนาเป็นกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

          ความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ คนพิการสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในสังคมได้เช่นเดียวกับคนอื่น เนื่องจากสิทธิมนุษยชน คือ สิทธิสำหรับบุคคล ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนเชื้อชาติใด เพศใด มีสภาพทางร่างกายอย่างไร มนุษย์ทุกคนควรได้รับสิทธินั้น ซึ่งที่ผ่านมา คนพิการอาจถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่สามารถทำงานได้ ไม่สามารถทำอะไรได้ เป็นคนกลุ่มที่ถูกลืม เป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เนื่องจากข้อจำกัดบางประการ ทำให้ไม่สามารถมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในสังคมเช่นเดียวกับคนทั่วไป แต่อนุสัญญาคนพิการมองว่าเป็นคนที่มีความสามารถ เพียงแต่มีข้อจำกัดทางร่างกายบางประการ ซึ่งข้อจำกัดนั้นสามารถแก้ไขได้หากสามารถจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม นอกจากนั้น คนพิการ ตามนิยามของ CPRD คือ สภาพทางร่างกายที่ไปมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนพิการไม่สามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้ ทั้งนี้ คนพิการเป็นส่วนหนึ่งใน สังคมที่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ทำงาน และเดินทางได้เช่นเดียวกับคนอื่น ซึ่งสามารถทำได้โดยการปรับสภาพแวดล้อม โดยมีหลักการสำคัญ ๒ ประการ ได้แก่ (๑) การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ หรือ Accessibility และ (๒) การอำนวยความสะดวกอย่างสมเหตุสมผล หรือ Reasonable Accommodation

          คณะกรรมการประจำอนุสัญญาแต่ละอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน จะมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ๑ ชุด ซึ่งคอยทำหน้าที่ติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาของรัฐภาคีทุกๆ รัฐ รวมถึงการให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาโดยเฉพาะในประเด็น ที่อาจจะไม่มีความชัดเจนอาจจะต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติม คณะกรรมการ ก็จะทำความเห็นออกมาเป็นเรื่องๆ ซึ่งคณะกรรมการประจำอนุสัญญาคนพิการได้ทำความเห็นมาแล้ว ๖ ฉบับ โดยในฉบับที่ ๖ เป็นเอกสาร ความเห็นที่เกี่ยวกับเรื่องความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวก็จะมีการกล่าวถึง เรื่องของการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลด้วย เนื่องจากการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเลือกปฏิบัติ ซึ่งคนพิการสมควร ที่จะได้รับการปฏิบัติในการได้รับสิทธิเช่นเดียวกับทุกคนในสังคม การให้ความช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลเป็นการทำให้คนพิการสามารถได้เข้าถึงสิทธินั้นได้ หากผู้ที่มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความมาช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือนั้นก็อาจจะถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล ได้ถูกกำหนดนิยามในวรรคสี่ ข้อบทที่ ๒ ของ CRPD หมายถึง "การเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงที่จำเป็นและเหมาะสม โดย ไม่ก่อให้เกิดภาระอันควร หรือเกินสัดส่วน เฉพาะในกรณีที่จำเป็น เพื่อประกันว่าคนพิการได้อุปโภคและใช้สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น" ซึ่งหมายถึงเมื่อคนพิการ จะใช้บริการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดมีอุปสรรคที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมหรืออะไรก็ตามที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ ผู้ให้บริการก็มี หน้าที่ที่จะให้ความอำนวยความสะดวก ซึ่งมีองค์ประกอบ ๒ ส่วน คือ (๑) ผู้มีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวก และ (๒) ความไม่เกินสัดส่วน ซึ่งต้องมาวินิจฉัยว่าจะให้การอำนวยความสะดวกแค่ไหน อย่างไร ซึ่งในส่วนนี้อนุสัญญาไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้

          ความแตกต่างของ "การอำนวยความสะดวก" หรือ "Reasonable Accommodation" กับ "การเข้าถึงและใช้ประโยชน์" หรือ "Accessibility" ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในความเห็นของ คณะกรรมการประจำ CPRD ฉบับที่ ๖ สองคำนี้มีสาระสำคัญ เหมือนกันคือ การให้คนพิการได้เข้าถึง แต่มีความแตกต่างกัน คือ "Accessibility" เป็นลักษณะของการที่รัฐจะต้องออกแบบก่อนที่รัฐ จะจัดบริการใดๆ หรือสร้างอาคารใดๆ จะต้องคำนึงถึงว่าอาคารนั้น หรือบริการนั้นคนพิการจะเข้าถึงได้หรือไม่ คนพิการใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ เป็นการแก้ไขเชิงระบบเลย หากคำนึงถึงหลักการออกแบบที่เป็นธรรม หรือ "Universal Design" จะทำให้คนพิการทุกคนใช้ประโยชน์ได้ แต่ "Reasonable Accommodation" เป็นลักษณะของการให้เฉพาะกรณี ไม่ได้ให้เป็นการทั่วไป และมักจะเกิดกับอาคารหรือบริการอะไรที่มีอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะมี CRPD ไม่ได้คำนึงเรื่องของการใช้ประโยชน์ของคนพิการ ซึ่งในทางปฏิบัติบางครั้งการจะปรับสถานที่ บริการหรือผลิตภัณฑ์เพื่อให้คนพิการเข้าถึงได้อาจจะต้องใช้เวลา ดังนั้น จึงต้อง ช่วยเหลือเป็นรายกรณีไป ความหมายของ "Reasonable Accommodation" เป็นการให้ความช่วยเหลือเมื่อคนพิการที่มาใช้ ร้องขอ เป็นการส่งเสริมการเข้าถึงในลักษณะเชิงรับ เป็นการแก้ปัญหา เฉพาะกรณี เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อคนพิการมาถึงที่แล้วร้องขอใช้บริการ แต่สำหรับ "Accessibility" เป็นการส่งเสริมการ เข้าถึงในลักษณะเชิงรุก เป็นการป้องกันหรือเตรียมไว้ก่อน นอกจากนี้ RA ยังมีความหมายแตกต่างจากมาตรการพิเศษหรือมาตรการพิเศษ ชั่วคราวที่ส่งเสริมให้คนพิการได้เข้าถึงสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เช่น กรณีมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน คนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ ที่กำหนดให้สถานประกอบการ ต้องจ้างคนพิการอย่างน้อย ในสัดส่วน คนพิการ ๑ คน ต่อลูกจ้าง ๑๐๐ คน เป็นมาตรการพิเศษ ไม่ใช่ RA

          ประเด็น "การให้อย่างสมเหตุสมผล" กับ "การไม่สร้างภาระที่เกินควรหรือเกินสัดส่วน" นั้น คณะกรรมการประจำ CRPD ได้อธิบายไว้เพื่อให้เป็นไปตามหลักของ CPRD โดย "การให้อย่าง สมเหตุสมผล" ประกอบด้วย (๑) ลักษณะหรือรูปแบบของการให้จะ ต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของ คนพิการนั้นๆ เนื่องจากคนพิการมีลักษณะที่แตกต่างกัน คนพิการมีหลายประเภทแต่ละประเภทก็อาจจะต้องการความอำนวยความสะดวกที่แตกต่างกันไป และ (๒) การให้ต้องเป็นการให้เพื่อให้คนพิการสามารถใช้ประโยชน์ในการเข้าถึงสิทธิหรือเข้าถึงบริการได้ จึงจะเป็นการให้อย่างสมเหตุสมผล สำหรับ "การไม่สร้างภาระ ที่เกินควรหรือเกินสัดส่วน" ประกอบด้วยหลายปัจจัย ได้แก่ (๑) ด้านงบประมาณ (๒) ด้าน ผลกระทบที่จะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนองค์กรเชิงโครงสร้างหรือ ปรับเปลี่ยนในสาระสำคัญ (๓) ด้านกระทบทางลบต่อสิทธิประโยชน์ ต่อสุขภาพ ต่อความปลอดภัยของบุคคลอื่น อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านงบประมาณ คณะกรรมการ CPRD ให้อธิบายความเพิ่มเติมว่า การพิจารณาว่าการอำนวยความสะดวกนั้นเป็นภาระกับองค์กรด้าน งบประมาณมากน้อยเพียงใด จะไม่ได้ดูเฉพาะตัวผู้ให้ตรงนั้น ตรงสถานที่นั้น แต่ต้องดูภาพรวมขององค์กร เช่น กรณีโรงเรียน ขนาดเล็ก ไม่สามารถรับเด็กพิการเข้าเรียนได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ ในการจัดสภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์สำหรับช่วยให้เด็กพิการสามารถเรียนได้เช่นเดียวกับเพื่อนในชั้นเรียนเดียวกัน ภาระด้านงบประมาณจึงจะต้องพิจารณาภาพรวมของการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐภาคีที่จะต้องส่งเสริมความเท่าเทียมของคนพิการ เป็นต้น

          Reasonable Accommodation ใน CPRD นอกจาก จะเกี่ยวโยงกับเรื่องการเลือกปฏิบัติ ในข้อบทที่ ๕ แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ ใน CRPD ได้แก่ (๑) เรื่องของคนพิการที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ ตาม ข้อบทที่ ๑๔ เช่น กรณีที่คนพิการถูกจับกุมแล้วถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ กรมราชทัณฑ์คงต้องพิจารณาว่าถ้ามี คนพิการเข้าไปอยู่ในเรือนจำจะอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำของคนพิการอย่างไร ซึ่งอาจมีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาหรือการปรับปรุงอาคารสถานที่เช่นการทำทางลาดเพิ่มเติม เป็นต้น (๒) เรื่องการศึกษา ตามข้อบทที่ ๒๔ รัฐต้องจัดอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการในการเข้าถึงสิทธิในการศึกษา ทั้งระดับการศึกษาทั่วไป ระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการฝึกอาชีพ การศึกษาผู้ใหญ่ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ (๓) เรื่องการทำงานของคนพิการ ตามข้อบทที่ ๒๗ รัฐต้องมีหลักประกันว่าจะจัดให้มีการอำนวยความสะดวกกับคนพิการในสถานที่ทำงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ประเด็นการนำ RA ไปใช้ในทางปฏิบัติซึ่งในกฎหมายที่เกี่ยวกับคนพิการ ๒ ฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและกฎหมายว่าด้วย การจัดการศึกษาสำหรับ คนพิการ ยังไม่มีคำว่า "การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล" แต่ได้กล่าวถึงหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดให้มีบริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ โดยกำหนดไว้แบบกว้างๆ ไม่ได้กำหนดว่าเมื่อคนพิการมาขอรับบริการจะต้องจัดให้ทันทีหรือไม่ รวมทั้งกรณีสถานศึกษาไม่รับคนพิการเข้าเรียนซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ก็ยังเป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง

          (อ่านต่อฉบับหน้า)

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม

 

หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- เสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2561
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก