ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation : RA)เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนทุกคนในสังคมไทย

วันที่ลงข่าว: 05/11/18

          การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation : RA ) เป็นมาตรการขั้นต่ำของสังคม ซึ่งคนพิการ ทุกคนต้องได้รับสิทธิ์ตามกฎหมาย หากประเทศใดไม่ดำเนินการตามหลักการนี้ จะถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities : CRPD) ได้รับรองไว้ ทั้งนี้ RA คือหลักการสำคัญประการหนึ่งที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ AAA ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุและผลดังกล่าว คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ จึงจัดการสัมมนาเรื่อง "การอำนวยความสะดวก ที่สมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation : RA) ในสังคมไทย" ขึ้นเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ระหว่างภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลรายบุคคล พร้อมเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน ประเด็นปัญหา อุปสรรค และทิศทางการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในสังคมไทย เพื่อจะนำผลสรุปจากการสัมมนาไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ และใช้เป็นส่วนหนึ่งของรายงาน ผลการศึกษา เรื่อง การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

          นายมณเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมาธิการการ สังคมฯ ได้กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA) โดยเห็นว่าประเด็น การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation : RA ) เป็นมาตรการขั้นต่ำของยุทธศาสตร์ AAA ที่คนพิการต้องได้รับสิทธินั้นตามกฎหมาย หากประเทศใดไม่ดำเนินการ RA ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการตามที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิ คนพิการแห่งสหประชาชาติ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities : CRPD)

          นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ คนที่หนึ่ง ได้กล่าวเปิดการสัมมนา ว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะกรรมาธิการการสังคมฯ ได้จัดเวทีสัมมนาขึ้น เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส "การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุ สมผลในสังคมไทย" เป็นหัวข้อที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทย ในอันที่จะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งคนพิการและคนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการของสังคมได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ประกอบกับการที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ซึ่งหลักการสำคัญข้อหนึ่งของอนุสัญญาฉบับนี้ คือ ต้องจัดให้มีการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลต่อคนพิการรายบุคคล เพื่อให้คนพิการทุกคนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการของภาครัฐหรือภาคเอกชน ทั้งนี้ ขอฝากประเด็นเพื่อให้ช่วยกันระดมความคิดเห็น ๒ ประการ คือ ประการแรก เรื่อง "ความสมเหตุสมผล" ซึ่งต้องคำนึงถึงทั้งภาระของผู้ให้บริการกับสิทธิของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะสิทธิของคนพิการ ทำอย่างไรให้ดุลยแห่งความเหมาะสมเกิดขึ้น ที่จะ สามารถกล่าวได้ว่า เป็นการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล และประการที่สอง ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องร่วมกันพัฒนาต่อยอด ยกระดับแนวคิดด้านสิทธิของคนพิการในสังคมไทย จนก่อเกิดนวัตกรรม ให้เป็นผู้นำด้านความคิดและผู้นำในทางปฏิบัติ เพื่อให้นานาชาติทั่วโลกได้เห็นว่าสังคมไทยได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิและความเสมอภาคของ ปะชาชนทุกคน โดยเฉพาะคนพิการซึ่งไม่ได้จำกัดขอบเขตไว้เพียง หลักการที่ได้ผูกพันไว้ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศเท่านั้น

          สำหรับประเด็นการสัมมนา เรื่อง การอำนวยความสะดวกที่ สมเหตุสมผลในสังคมไทย ซึ่งคณะกรรมาธิการการสังคมฯ จัดขึ้น ถือเป็น อีกมิติหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญและมีความพยายามขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในการเข้าถึงบริการ ของคนพิการ โดยจะส่งต่อข้อเสนอแนะต่าง ๆ ผ่านไปยังหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

          นายมณเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมาธิการการ สังคมฯ ได้กล่าวนำการอภิปราย ดังนี้ คำว่า "การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล (Reasonable Accommodation : RA)" ในอนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิคนพิการ มีปรากฏอยู่ในความหมายของคำว่า "การเลือกปฏิบัติ" ซึ่งรัฐธรรมนูญของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบันใช้คำว่า "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม" โดยนิยามของ คำว่า "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม" หมายความรวมถึงการปฏิเสธด้วย ทั้งนี้ นิยามของคำว่า "Reasonable Accommodation" ที่ปรากฏอยู่ใน CRPD ได้แปล RA ว่า "การช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล" แต่ในการสัมมนาครั้งนี้ขอใช้ "RA" คือ "การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุ สมผล" เพื่อสื่อถึงความหมายที่ไม่เป็นเวทนานิยม และในอนาคตหากมีการทบทวนคำแปล CRPD จะได้เสนอให้คณะผู้แปลเปลี่ยน RA จากคำว่า "การช่วยเหลือ" เป็น "การอำนวยความสะดวก" ต่อไป สำหรับมาตรการที่รัฐกำหนดขึ้น เพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งกำหนดไว้ในวรรคสี่ มาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะถือเป็นการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลหรือไม่ เนื่องจาก CRPD ได้กำหนดว่ามาตรการเชิงบวกของรัฐดังกล่าวไม่ถือเป็น RA ตามข้อบทที่ ๕.๔ ของ CRPD เรื่องมาตรการเฉพาะหรือมาตรการเชิงบวกของรัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนมีสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค โดยมาตรการเชิงบวกนั้น รัฐจะทำก็ได้หรือไม่ทำก็ได้ เมื่อจัดมาตรการเชิงบวกจนเกิดความเสมอภาคเท่าเทียมแล้วก็หยุดดำเนินการได้แต่การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลหากไม่ดำเนินการถือเป็นการ เลือกปฏิบัติ ซึ่งในกฎหมายไทยยังไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ ทั้งนี้ จากการ สืบค้นเอกสารวิชาการสรุปได้ว่า การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล เป็นเรื่องที่ทำตามคำขอ เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติทันที จะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ คำขอต้องเป็นไปได้และไม่เป็นภาระเกินควร หากเป็นคำขอที่ เกินเหตุเกินผลก็ไม่ถือเป็นการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล RA ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก

           ศาสตราจารย์พิเศษกุลพล พลวัน อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ได้แสดง ความคิดเห็นว่า การช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล หรือ การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผล ยังค่อนข้าง เป็นปัญหาเนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการหรือ CRPD เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำให้กฎหมายคนพิการของไทยยังไม่มีคำว่า ซการอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลป ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทย เข้าเป็นภาคีใน CRPD แล้ว ประการแรก รัฐต้องสร้างหลักประกันเพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้อย่างจริงจัง และประการที่สอง รัฐต้องออกมาตรการทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ เพื่อให้มีการปฏิบัติตาม สิทธิที่บัญญัติ ใน CRPD การออกกฎหมายเพื่อแก้ไขยกเลิกกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อ CRPD รวมถึงการกำหนดโครงการหรือระเบียบต่างๆ ของฝ่ายบริหารต้องสอดคล้องและเป็นไปตาม CRPD ด้วย อย่างไรก็ตาม "การอำนวยความสะดวกที่สมเหตุสมผลในสังคมไทย" ตาม หัวข้อในวันนี้ จึงต้องมาคำนึงถึงวัฒนธรรมของสังคมไทยว่าจะรับเรื่องนี้ได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ มุมมองของฝ่ายนิติบัญญัติ เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการว่าจะมองความสมเหตุสมผลอย่างไร ดังนั้น การสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อคำว่า "สมเหตุสมผล" ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย รวมทั้งแนวปฏิบัติในอนาคตด้วย

          ในอดีตคนพิการเป็นเรื่องที่สังคมยังไม่ยอมรับ อับอาย ผู้ปกครองมักจะซ่อนคนพิการไม่ให้ ใครรู้ และคนพิการถือเป็นคนที่ น่าสงสาร ต่อมาสังคมไทยเริ่มมีความตื่นตัวเรื่องคนพิการมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากแนวคิดชาวตะวันตกซึ่งมองสิทธิคนพิการในเรื่องความเท่าเทียม ความเสมอภาค และหลักการดังกล่าวได้ปรากฏอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการที่รับรองเรื่องความเท่าเทียมกัน ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการถือเป็นการลดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งถือเป็นแนวคิดของ ชาวตะวันตกที่ต้องการช่วยเหลือให้คนพิการสามารถช่วยตัวเองได้ด้วยการสร้างโรงเรียนสอนคนตาบอด โรงเรียนสอนคนหูหนวกในประเทศไทย จึงเป็นวิวัฒนาการของสังคมไทยที่เริ่มยอมรับคนพิการ มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั้งประเทศไทย ได้ตราพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. ๒๕๓๔ ขึ้นเป็นครั้งแรกและนำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน และได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิคนพิการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ถือว่าประเทศไทยมีพัฒนาการเรื่องคนพิการขึ้นมาตามลำดับ "ความสมดุลของความสมเหตุสมผลในสังคมไทย" จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป รวมถึง การเชื่อมโยงกับคำว่า "การออกแบบที่เป็นสากล" ที่ปรากฏอยู่ใน CRPD แต่ในกฎหมายไทยยังไม่มี หมายความถึง การออกแบบผลิตภัณฑ์ สภาพแวดล้อม โปรแกรม และบริการที่บุคคลสามารถใช้ได้ในขอบเขตที่มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องดัดแปลงหรือออกแบบเป็นพิเศษ ซึ่งการช่วยเหลือคนพิการแบบนี้ ในรัฐธรรมนูญของไทย ทุกฉบับกำหนดไว้ว่าการช่วยเหลือและส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ได้เหมือนบุคคลอื่น ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล

          ประเด็นกรณีตัวอย่างของต่างประเทศหรือมาตรฐานสากลที่น่าสนใจ เพื่อประกอบ การพิจารณาเรื่อง RA ในสังคมไทย เช่น (๑) ศาลสูงสุดของประเทศแคนาดามีคำพิพากษา กรณีผู้โดยสารที่มีความอ้วนเป็นพิเศษมีสิทธินั่ง ๒ ที่นั่ง โดยไม่ต้องซื้อตั๋วโดยสาร ๒ ที่นั่ง (๒) ศาลวอชิงตันมีคำพิพากษา กรณีนักโทษ ที่ได้รับโทษประหารชีวิตโดยการแขวนคอ ร้องขอให้ศาลพิจารณาลดโทษเนื่องจากนักโทษ มีน้ำหนัก ๑๘๒ กิโลกรัม หากถูกลงโทษด้วยวิธีการแขวนคอจะทำให้คอขาดและได้รับความทรมานอย่างสูง ศาลจึงได้พิจาณาลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต (๓) ศาลมลรัฐโคโลราโดมีคำพิพากษา กรณีให้สามีภรรยาตาบอดสามารถสร้างโรงเรียนอนุบาล เลี้ยงเด็กได้ เนื่องจากสำเร็จวิชาเลี้ยงเด็กมาจากมหาวิทยาลัย จึงมีสิทธิเลี้ยงเด็กได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ปกครองว่าจะส่งเด็กให้เลี้ยงหรือไม่ (๔) กรณีการประกวดนางงามของประเทศแคนาดาที่ยอมให้มีกรรมการคนหนึ่งเป็นคนตาบอด และสามารถทำหน้าที่กรรมการได้อย่างยอดเยี่ยม และ (๕) กรณีอัยการหญิงของสหรัฐอเมริกาเป็นคนหูหนวก ซึ่งสามารถเป็นอัยการที่ว่าความได้โดยมีล่ามภาษามือยืนซักความให้ เป็นต้น กรณีที่กล่าวมานั้นถือเป็นตัวอย่างมาตรฐานของสากลที่น่าสนใจ แต่ประเทศไทย จะยอมรับได้มากน้อยเพียงใดต้องพิจารณากันต่อไป

          ตัวอย่างเรื่องร้องเรียน ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนา คุณภาพชีวิตคนพิการ ในฐานะอนุกรรมการคณะดังกล่าว มีกรณีที่น่าสนใจ เช่น (๑) กรณีสายการบิน ถูกร้องเรียนว่ามีนโยบายห้าม คนพิการทุกประเภทเดินทาง โดยลำพัง ซึ่งคณะอนุกรรมการ วินิจฉัยว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการสายการบิน ไม่สามารถออกนโยบายดังกล่าวได้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ (๒) กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกร้องเรียนกรณีการออกระเบียบห้ามรับคนพิการเข้าเป็นข้าราชการตำรวจ ซึ่งคณะอนุกรรมการ วินิจฉัยว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการและขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องแก้ไขระเบียบดังกล่าว (๓) กรณีกลุ่มผู้ปกครองเด็กออทิสติก ร้องเรียนว่าไม่ได้รับการฝึกอบรมตามมาตรา ๓๕ ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และ (๔) กรณีสายการบิน ถูกร้องเรียน กรณีมีนโยบายจำกัดคนพิการในการเดินทางซึ่งคณะอนุกรรมการ วินิจฉัยว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ สายการบินไม่สามารถทำได้ เป็นต้น ถือกรณีตัวอย่างของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ

 

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

ที่มาของข่าว https://www.ryt9.com/s/nnd/2909164
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก