ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและโครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ

วันที่ลงข่าว: 31/10/18

          นางสาวกัญญรัตน์ เกียรติสุภา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า ในปี 2564 คาดว่าประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัย 20% ของประชากรทั้งหมด ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และปี 2574 จะเพิ่มเป็น 28% เป็นสังคม สูงวัยระดับสุดยอด สวนทางกับวัยเด็กและที่จะเข้าสู่วัยแรงงานลดลง ซี่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศในหลายด้าน

          รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะดำเนินการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการมีงานหรือกิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อสร้างสรรค์และไม่ก่อภาระต่อสังคมในอนาคต โดยจัดเตรียมระบบการดูแลในบ้าน สถานพักฟื้น และโรงพยาบาล ที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และครอบครัวรวมทั้งพัฒนาระบบการเงินการคลังสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ อาทิ (ด้านกฎหมาย) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 71 รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรีผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าว ถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยา ผู้ถูกกระทำการดังกล่าว

           ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล / (ด้านรายได้) การขึ้นทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ / (ด้านที่อยู่อาศัย) สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ / (ด้านสุขภาพ) การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง / (ด้านการประกอบอาชีพ) การจ้างงาน การให้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ / (ด้านอื่นๆ) กระทรวงคมนาคมเข้ามาช่วยเรื่องการลดหย่อนค่าโดยสาร กระทรวงมหาดไทยเข้ามาช่วยเรื่องการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ ขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

ล่าสุด มติ ครม. (24 ต.ค. 61) ได้อนุมัติโครงการบ้านเคหะกตัญญูคลองหลวง 1 เพื่อส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันครอบครัว โดยบุตรหลานมีโอกาสได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ดูแลบุพการี และผู้สูงอายุ โครงการนี้เป็นโครงการที่ให้บริการสำหรับสังคมผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) จะมีการจัดทำแผนบริหารจัดการชุมชนให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้สูงอายุ มีการจัดระบบขนส่งสาธารณะที่มีความปลอดภัย จัดพื้นที่กิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณค่าทางจิตใจ และมีการประสานยังหน่วยงานด้านสาธารณสุข การแพทย์และพยาบาล เพื่อดูแลรักษาเป็นกรณีพิเศษ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก