ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คปภ. จับมือจุฬาฯ เดินหน้าโครงการศึกษาวิจัยพัฒนาระบบประกันภัย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างครบวงจร

วันที่ลงข่าว: 30/10/18

          นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ. บูรณาการความร่วมมือกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำผลที่ได้รับเสนอต่อกระทรวงการคลังพิจารณากำหนดนโยบายการพัฒนาการประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ

          โดยสรุปผลการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม 3 แบบ คือ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยการดูแลระยะยาว ซึ่งจะจ่ายผลประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเกิดภาวะทุพพลภาพ อันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป หรือมีความพิการ แบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญเป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตสัญญา จะจ่ายเงินรายปีตามการทรงชีพของผู้รับเงินรายปี โดยบริษัทสัญญาว่า ตราบใดที่ผู้รับเงินรายปียังทรงชีพอยู่ บริษัทจะจ่ายเงินรายปีให้ตลอดไปจนกว่าจะเสียชีวิต หรือจ่ายให้ชั่วระยะเวลาหนึ่งตามที่ตกลงไว้ และแบบที่ 3 การจำนองแบบย้อนกลับ (Reverse Mortgage) ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของการจำนองโดยที่เจ้าบ้านสามารถกู้เงินเท่ากับมูลค่าบ้าน โดยผู้ให้กู้จะเป็นผู้ชำระเงินรายเดือน หรือวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้กู้โดยใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน จนกระทั่งผู้กู้เสียชีวิต หรือย้ายออกจากบ้าน บ้านหลังนั้นก็จะตกเป็นของผู้ให้กู้เพื่อขายทอดตลาดต่อไป

          ทั้งนี้การรับมือกับสภาพสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์นั้น มาตรการด้านการประกันภัยถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงของตัวผู้สูงอายุเองแล้ว ยังสามารถช่วยลดภาระด้านสวัสดิสงเคราะห์ของภาครัฐลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนทุกระดับให้ตระหนักถึงความสำคัญของการออมและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างเต็มที่

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก