ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คำปราศรัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันสหประชาชาติ 24 ตุลาคม 2561

วันที่ลงข่าว: 24/10/18

พี่น้องชาวไทยที่รัก

           วันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นการก่อตั้งองค์การสากลระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่สุดภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาของโลก จรรโลงสันติภาพและความมั่นคง เพื่อไม่ให้ชนรุ่นหลังต้องเผชิญกับพิษภัยความรุนแรงของสงครามขนาดใหญ่ที่ทำลายชีวิต ปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่มวลมนุษยชาติ

           อย่างไรก็ตาม โลกยังเผชิญกับปัญหาสำคัญและความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามจนนำไปสู่การใช้กำลังอาวุธ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียและเกิดวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญความท้าทายอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากภัยธรรมชาติที่รุนแรง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำลายสิ่งแวดล้อม การแพร่กระจายของโรคระบาด รวมถึงความท้าทายอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ความท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องร่วมมือกันและรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายอย่างเป็นระบบและมีผลที่ยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดปัญหา อื่นๆ ตามมา

          การรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ต้องอาศัยกรอบการทำงานภายใต้ระบบพหุภาคีนิยม ซึ่งคือการที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทำงานร่วมกันและมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยกัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านและบรรลุเป้าหมายเดียวกันคือ สังคมโลกที่สงบสุข มีความมั่นคง ประชาชนกินดีอยู่ดี ปลอดภัย และได้รับการปกป้องคุ้มครอง อันสอดคล้องกับเสาหลัก 3 เสา ของสหประชาชาติ ได้แก่ การพัฒนาสิทธิมนุษยชนและสันติภาพและความมั่นคง

ในด้านการพัฒนา เมื่อปี 2558 ผมได้ไปร่วมรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาฯ ดังกล่าว รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

          ด้วยการสร้างกลไกการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐ สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ของสหประชาชาติ รัฐบาลได้เดินหน้าสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ให้ไทยเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่างๆ ในประชาคมโลก ภายใต้แนวคิด “เข้มแข็งไปด้วยกัน” โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ SEP ไปใช้เป็นแนวทางในการบรรลุ SDGs ซึ่งไทยได้เสนอให้กลุ่ม ๗๗ รับรองว่า SEP มีผลสำเร็จเชิงประจักษ์และมีความเป็นสากล และสมาชิกกลุ่ม 77 ได้นำ SEP ไปปฏิบัติ 20 ประเทศ

ด้านสิทธิมนุษยชน ผมขอยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ สิทธิมนุษยชน ร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสอดคล้องพันธกรณีภายใต้ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งขณะนี้ ไทยอยู่ในขั้นสุดท้ายของการจัดทำร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และร่างแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

          รัฐบาลเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนรวมถึงหน่วยงานสหประชาชาติและภาคประชาสังคม การส่งเสริมบทบาทของเด็กและเยาวชน ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนทัศนคติที่เปิดรับและมีความพร้อม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ไทยจะต่อยอดความร่วมมือที่สร้างสรรค์กับสหประชาชาติ โดยเฉพาะการเผยแพร่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี การดำเนินความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วม

ในด้านสันติภาพและความมั่นคง ไทยสนับสนุนความมุ่งมั่นของเลขาธิการสหประชาชาติในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสันติภาพและความมั่นคงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ไทยเชื่อว่า สันติภาพที่ยั่งยืนเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมรอบด้าน และการพัฒนาจะช่วยธำรงรักษาสันติภาพได้

          และในปีนี้ ไทยจะส่งกองกำลังทหารช่างเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพในสาธารณรัฐเซาท์ซูดาน โดยมีเป้าประสงค์สำคัญเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เซาท์ซูดานมีสันติภาพที่ยั่งยืน

เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ไทยได้แสดงบทบาทที่แข็งขันในเวทีระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการดำเนินการเรื่องการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยเฉพาะในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศแรกของโลกที่ได้ลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อเดือนกันยายน 2560 และในปีนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน ไทยได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่จะดำเนินการเพื่อนำไปสู่โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ และย้ำถึงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของไทยที่จะส่งเสริมและธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

           นอกจากเรื่องต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งสามด้านแล้ว ไทยยังสนับสนุนความพยายามของเลขาธิการสหประชาชาติที่จะปฏิรูประบบสหประชาชาติที่มีประสิทธิภาพ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือเอสแคป (ESCAP) ซึ่งเป็นกลไกระดับภูมิภาคที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งสามารถกำหนดทิศทางและนโยบายในระดับภูมิภาคที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมแนวทางการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และรัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของที่ตั้งสำนักงานและการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศต่อไป

          ในปี 2561 มีผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทยจำนวนมาก เช่น ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 72 ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้อำนวยการบริหารองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund- UNICEF) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือ ความเป็นหุ้นส่วน และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในการทำงานร่วมกันระหว่างไทยกับสหประชาชาติ

ในปี 2562 ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนอีกวาระหนึ่ง และมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียนให้มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไทยจะเสริมสร้างความเข้มแข็งความเป็นหุ้นส่วนกับสหประชาชาติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์ของไทยในเวทีโลกต่อไป ซึ่งผมเห็นว่า ยังมีโอกาสและศักยภาพที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนในการทำงานระหว่างไทยกับสหประชาชาติต่อไปได้อีกมาก

 

ขอบคุณครับ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก