ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง ให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น

วันที่ลงข่าว: 19/10/18

          วันที่ 18 ต.ค. 61 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และคลื่นลมแรง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้ง 16 สปฉ. (ส่วนปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน) นายอำเภอ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

          นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศการเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนของภาคใต้ในห้วงเดือนตุลาคม ถึงธันวาคม 2561 ดังนั้น เพื่อให้จังหวัดนครศรีธรรมราช มีขั้นตอนและแนวทางในการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง อย่างเป็นระบบและมีทิศทางเดียวกัน จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง จังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้น ที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยขอให้ทุกอำเภอไปเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่สามารถปฏิบัติงานได้จริงเมื่อเกิดภัย โดยแยกโซนตามสภาพพื้นที่ เช่น โซนภูเขา ต้องทำ Action Plan เกี่ยวกับดินเลื่อนไหล ดินสไลด์ น้ำป่าไหลหลาก โซนราบลุ่ม ทำเกี่ยวกับน้ำท่วมขัง โซนชายฝั่งทะเล ทำเกี่ยวกับคลื่นลมแรง เป็นต้น ซึ่งบางอำเภออาจจำเป็นต้องทำทั้ง 3 แผน เนื่องจากสภาพพื้นที่มีทั้งภูเขา ชายฝั่งทะเล และที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ต้องชัดเจน เช่น จำนวนครัวเรือน สัตว์เลี้ยง คนชรา ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ จุดปลอดภัย จุดอพยพคน จุดอพยพสัตว์เลี้ยง ข้อมูลเส้นทางคมนาคม บุคลากร เครื่องจักรกล รถ เรือ เครื่องปั่นไฟ เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งแต่ละเรื่องต้องมีผู้รับผิดชอบโดยตรง สามารถปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อเกิดภัย ให้ประสานกับท้องถิ่นในพื้นที่ และที่สำคัญ คือ ช่องการติดต่อสื่อสารต้องเตรียมพร้อมไว้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะหากเกิดเหตุช่วงกลางคืนต้องวางแผนว่าจะเข้าพื้นที่ไปช่วยเหลืออย่างไร

          นายประโมทย์ ช่วยบุญชู ผู้อำนวยการอุตุนิยมวิทยานครศรีธรรมราช ระบุว่า ปีนี้ฤดูฝนของภาคใต้มาเร็วกว่าปกติ ซึ่งสังเกตได้ง่าย ๆ จากอากาศหนาวเย็นที่เริ่มแผ่ปกคลุมทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งจะทำให้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแผ่ปกคลุมภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกมากขึ้น ยิ่งภาคเหนือหนาวมากและหนาวนาน จะส่งผลภาคใต้ฝั่งตะวันออกฝนจะตกหนักและตกนานตามไปด้วย นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังหย่อมความกดอากาศต่ำที่อาจจะก่อตัวเป็นพายุหมุนเขตร้อนด้วย จึงขอให้ติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และการประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิดด้วย สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ถึงกลางเดือนตุลาคม 2561 ปริมาณฝนตกเกินเกณฑ์มาตรฐานปกติ 15-20 เปอร์เซ็นต์ โดยพื้นที่โซนภูเขาฝนตกแล้วเฉลี่ย 1,600 มิลลิเมตร และโซนพื้นราบฝนตกแล้วเฉลี่ย 1,200 มิลลิเมตร ฉะนั้น นับจากนี้ไปจนถึงต้นเดือนมกราคม 2562 ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2561 อาจะมีฝนตกมากถึง 600 มิลลิเมตร

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181