ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

หัวใจน่ากราบ! เด็กสอบตกสู่สุดยอดครู 'ดำเกิง' ครูตาบอด เกียรตินิยมอันดับ 1

วันที่ลงข่าว: 11/10/18

          เส้นทางการศึกษาของ "ผู้พิการทางสายตา" กว่าจะได้ใบปริญญามานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ พบเรียนต่อปริญญาตรี เฉลี่ยยังไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับชั้นประถมศึกษา หายไปเกินครึ่ง ส่วนหนึ่งมีปัญหาการเรียนรู้ ไม่เข้าใจอักษรเบรลล์ แต่ใน 0.95 เปอร์เซ็นต์ มีอยู่ 1 คนที่ไม่ทิ้งฝัน และพิสูจน์ให้เห็นว่า "ความพยายาม" ไม่เคยบอดไปพร้อมกับดวงตาของเขา

          "ผมพิการแค่ดวงตา" คือคำพูดอันทรงพลังของ "ไอซ์-ดำเกิง มุ่งธัญญา" วัย 25 ปี แม้ความผิดพลาดของโรงพยาบาลจะทำให้เสียการมองเห็นทั้งสองข้างไป แต่สามารถคว้าปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะครุศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษขั้นสูง (Advanced English) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.95 (เกียรตินิยมอันดับ1) 

ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย โดยสามารถสอบบรรจุครูผู้ช่วยได้อันดับ 4 จากครูเอกภาษาอังกฤษทั่วกรุงเทพฯ กว่า 800 คน นอกจากนั้น เคยได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ และใบประกาศนียบัตร “คนพิการต้นแบบ” จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มาแล้วด้วย

          "ผมเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนดครับ น้ำหนักตัว 1.2 กิโลกรัม" ครูไอซ์ในชุดข้าราชการครูนั่งเล่าย้อนวัยเด็ก ก่อนเผยถึงจุดเปลี่ยนที่ไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้ "พยาบาลนำผมเข้าตู้อบ แต่หมอปิดตาไม่สนิท ทำให้แสงจากตู้อบทำลายประสาทตา ทุกวันนี้ยังเห็นเป็นแสง และรับรู้ได้ว่ามีคนเดินผ่านไปผ่านมา หรือนั่งอยู่ตรงหน้า"

          ครูไอซ์เล่าต่อว่า "ตอนนั้น คุณพ่อคุณแม่เสียใจมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะกลัวการฟ้องแล้วแพ้ ที่บ้านผมก็ไม่ค่อยมีเงิน อีกอย่างสมัยนั้นโซเชียลฯ ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าสมัยนี้ มันก็เลยไม่มีทางเลือกเท่าไร แต่พ่อแม่ผมก็เดินหน้าต่อครับ ดูแลลูกอย่างดี และพาไปโรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพฯ"

ส่วนการเรียนการสอน แน่นอนว่าอักษรเบรลล์คือตัวช่วยสู่การอ่าน แม้จะดูเหมือนยาก แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถ

          "ถ้านึกภาพไม่ออก ผมอยากให้นึกถึงเด็กที่เรียนเขียน ก.ไก่-ฮ.นกฮูก อักษรเบรลล์ก็มีเหมือนกัน การผสมคำเหมือนกันทุกอย่าง กอ อา กา, ขอ อา ขา หรือคำภาษาอังกฤษ C A T แมว ตัวอักษรปกติเราจะจำว่าจะต้องลากเส้นแบบไหน ตัวไหนมีหัว แต่อักษรเบรลล์จะต้องจำเป็นจุด เป็นโค้ด เช่น ก.ไก่มี 4 จุดนะ 1 2 4 5 ข.ไข่ จุด 1 กับ 3 หรือ A มีจุดหนึ่งจุดเดียว ดังนั้นสิ่งที่เหมือนกันคือความจำ ต่างกันตรงที่ว่า แบบหนึ่งจำเป็นภาพ อีกแบบจำเป็นรหัส"

          "ถามว่ายากกว่ากันมั้ย" ครูไอซ์นิ่งคิด "ผมว่าไม่นะ ถ้าเราจำโค้ดได้ การผสมคำมันก็จะง่าย ตอนนั้นบอกตรงๆ ว่ายังไม่รู้สึกแปลกอะไร เรียน เล่นตามประสาเด็ก กระทั่งถึงวัยที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในชั้นเรียนตอนขึ้นมัธยมฯ ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ผมต้องเรียนร่วมกับเพื่อนสายตาปกติ ตอนนั้นจำได้ว่าต้องส่งการบ้านให้ครู ผมก็ต้องกลับไปให้แม่ช่วยเขียนให้ ส่วนผมก็จะเป็นคนบอกคำตอบ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าเพื่อนคนอื่น 

          อย่างเพื่อนเวลาได้การบ้านมาก็สามารถทำได้เลยเวลาพักเที่ยง แต่ผมทำไม่ได้ ต้องเอากลับไปทำที่บ้าน กว่าแม่จะอ่านโจทย์ กว่าผมจะตอบ บางทีกลับบ้านผมก็อยากพัก อยากนอนเร็ว บางวัน 3 ทุ่ม ยังทำโจทย์เลขไม่เสร็จเลย" ครูไอซ์ทำเสียงโอดครวญ พร้อมพูดติดตลก "มันก็มีแค่ความขี้เกียจตรงนี้ล่ะครับ (หัวเราะ)"

          ความสุขเกิดขึ้นจากการ "สอน"

"ตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่า ผมชอบสอนน้องชาย เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ พอสอนไปเรื่อยๆ ด้วยความเป็นเด็กก็ยังไม่รู้สึกอะไรหรอกครับ จนได้ไปเรียนร่วมที่เซนต์คาเบรียลก็จะมีรุ่นน้องที่มองไม่เห็นเหมือนกัน เข้ามาให้ผมสอน หรือช่วยอธิบายในบทเรียนที่ไม่เข้าใจ พอเขาเข้าใจ ผมก็รู้สึกมีความสุข"

 

เมื่อค้นหาตัวเองจนเจอว่าการสอนคือทางที่ชอบ เขาจึงตัดสินใจสอบเข้าคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และเลือกสาขามัธยมศึกษา เพราะชอบสอนเด็กโตมากกว่า 

          "ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะไปสอนเด็กปกติ จบออกมาคงได้ไปสอนเด็กๆ ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด แต่การฝึกสอนเราต้องสอนเด็กปกติ ก็เลยต้องหาประสบการณ์ เริ่มจากสอนลูกของป้า จากนั้นก็มีโอกาสได้เป็นพี่เลี้ยงค่ายแนะแนวเด็กที่อยากจะเรียนครู ผมก็เหมือนได้เพิ่มประสบการณ์ให้ตัวเองจนได้ไปฝึกสอนเทอมแรกที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ อาจารย์ที่นั่นค่อนข้างเข้มงวดครับ จากนั้นได้มาฝึกสอนที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กระทั่งสอบบรรจุได้มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่นี่" เล่าจบก็ถ่อมตนว่าไม่ใช่คนเก่ง แค่ขยัน และใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น โดยหลักง่ายๆ คือ อ่านซ้ำๆ และไม่ดองงาน

          "ผมไม่ใช่คนเก่งนะ กว่าจะเก่งผมเคยสอบตกเหมือนกัน ภาษาอังกฤษผมยังเคยตกเลย ผมก็หาวิธีว่าจะทำอย่างไรดีล่ะ ผมไม่อยากให้ใครมองว่าผมไม่เก่ง อย่างแรกก็คือ หาตัวเองให้เจอ ผมรู้ว่าผมชอบภาษา ผมเลยตัดสินใจเรียนศิลป์-ภาษา ส่วนความเก่ง ผมรู้ตัวว่าผมจำไม่ค่อยแม่น ผมก็ต้องอ่านซ้ำๆ เอาของเดิมมาทวน เวลาครูสั่งงานอะไรก็จะไม่ดองงาน เพราะถ้าดองงาน คุณภาพงานมันจะออกมาไม่ดี และผมต้องใช้เวลานานกว่าคนอื่นด้วย 

          พอเข้ามหาวิทยาลัย งานก็จะหนักขึ้น ทีนี่เรียนในห้องไม่ทันทำอย่างไร ผมก็จะขอไฟล์พาวเวอร์พ้อยจากอาจารย์เอากลับมาใช้โปรแกรมในคอมพิวเตอร์ให้ช่วยอ่าน นอกจากนั้นจะพยายามสรุปสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะไม่มีใครจำทุกอย่างได้หมดครับ การที่วันนี้เราไม่เก่ง ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เก่งไปตลอดชีวิต" 

 

สอนวัยรุ่นสไตล์ "ครูไอซ์"

 

การจะได้ใบปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1 ว่ายากแล้ว การสอนหนังสือเด็กวัยรุ่นคือความท้าทายที่แม้จะไม่ราบรื่นเหมือนครูทั่วไป แต่กลับได้ใจเด็กไปเต็มๆ

 

          "ตอนมาเป็นครู ผมอยากสอนให้สนุกกว่านี้นะ แต่ก็ทำได้เท่าที่เราพอไหว บางวันไม่มีใครอยู่บ้าน ผมก็ต้องหาภาพประกอบการเรียนการสอนเอง ซึ่งมันอาจไม่ดึงดูดใจนักเรียนเท่าไร สุดท้ายมานั่งคิดว่า การที่เราสอนไม่สนุก ไม่ใช่ว่าเราสอนไม่ได้ เพียงแต่เราต้องมีสไตล์การสอนในแบบของเรา 

          แรกๆ เวลามาสอนทำไมเด็กไม่ฟัง ตอนนั้นบอกตรงๆ ว่ารู้สึกแย่ หรือว่าเราสอนไม่ดี หรือเตรียมการสอนมาไม่ดีหรือเปล่า แต่มันมีคำพูดคำพูดหนึ่งที่ผมเคยอ่านเจอ แล้วผมเอามาใช้ คือ ในทุกๆ เรื่อง อะไรที่มันเกิดขึ้นแล้ว มันมีทั้งมุมที่ดี และไม่ดี อยู่ที่ว่าเราจะเลือกมุมไหนมามอง เช่น เด็กไม่ตั้งใจเรียน ทำไมแย่จังเลย เหนื่อยแล้วนะ แต่ถ้าเรามองใหม่ ถ้าเด็กไม่ตั้งใจเรียน เราลองหาวิธีการสอนใหม่ๆ มั้ย ซึ่งเราก็ได้พัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กันด้วย

          สำหรับสไตล์ของผม เราต้องเข้าใจวัยรุ่น ไม่มีทางที่จะมานั่งฟังได้ตลอด ดังนั้นในคาบเรียนต้องมีกิจกรรมให้ทำหลายๆ อย่าง การเตรียมตัวของผม แน่นอนว่าต้องใช้เวลาเตรียมตัวมากกว่าครูคนอื่น กว่าจะหาภาพประกอบการเรียนการสอน ซึ่งมันต้องเวลา หรือคลิป วิดีโอ ผมต้องขอความช่วยเหลือจากที่บ้าน เด็กตั้งใจก็มี ไม่ตั้งใจก็มี เห็นเราเป็นแบบนี้ ผมแก้ปัญหาด้วยการให้เด็กที่ไว้ใจคอยช่วยดู แต่ส่วนใหญ่เด็กที่นี่น่ารัก และมีน้ำใจมากครับ"

 

ด้วยความเป็นครูรุ่นใหม่ที่น่ารัก เรียบร้อย แถมใจดี ไม่แปลกที่ครูไอซ์จะโดนเด็กนักเรียนแซวอยู่บ่อยๆ 

          "ผมค่อนข้างใจดีครับ เด็กๆ ก็มักจะเข้าหา มาเล่นมาถาม เช่น ครูไอซ์หนูคือใคร (หัวเราะ) ทุกวันนี้มาโรงเรียนก็จะเจอแต่คำถาม ครู! หนูคือใคร จำหนูได้มั้ย หรือบางวัน วันนี้ครูไอซ์แต่งตัวดีมาก ครูไอซ์หล่อมาก ตอนนั้นก็คิดว่าเด็กพูดเล่นๆ จากนั้นก็ชมกันอีก ชมเรื่อยมาจนกลายเป็นคำทักทายไปแล้ว (หัวเราะ) 

          ส่วนหน้าตา แม้ผมจะมองไม่เห็นตัวเองในกระจก แต่ก็มีคนชมว่าหล่อนะ (ยิ้ม)อย่างตอนเรียนมัธยมฯ ผมขึ้นรถประจำทางกลับบ้าน ซึ่งแม่จะมายืนรอผมอยู่ที่ป้ายสุดท้าย กระเป๋ารถเมล์ที่ซี้กัน เขาก็บอกว่า หน้าตาดีนะเรา พอได้ฟังแบบนั้นผมก็รู้สึกว่า เราก็หน้าตาดีพอสมควร" พูดจบก็หัวเราะกลบความเขินของตัวเอง ก่อนจะเข้าสู่ช่วงฮาร์ดเซล "ถึงแม้จะยังโสดก็ตาม (ยิ้ม)" 

 

ทุกคนทำได้ แค่อย่าดูถูกตัวเอง!

 

กว่าจะมีวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า 2 สิ่งที่ช่วยผลักดันให้หาญมุ่งสู่ความเป็นครูตามความฝันก็คือ "กำลังใจ" และ "โอกาส"

          "นอกจากกำลังที่ต้องมีให้ตัวเองเยอะๆ แล้ว โอกาสที่ได้รับจากสังคม หรือหน่วยงานต่างๆ คือแรงสนับสนุนสำคัญครับ ตอนที่ผมมาฝึกสอน และได้บรรจุที่นี่ ทางโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยให้การต้อนรับอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นท่าน ผอ.จินตนา ศรีสารคาม ท่านรองผู้อำนวยการปัณณธร วิจารณ์ ครู และเด็กๆ ในโรงเรียน ผมรู้สึกอบอุ่นมาก ถ้าโรงเรียนไม่ให้โอกาส ความรู้ที่ผมมีมันไม่ได้ใช้แน่นอน ดังนั้นทุกคนทำได้ครับ ขอแค่อย่าดูถูกตัวเองก็พอ"

ส่วนอีกหนึ่งตัวช่วยที่สร้างพื้นฐานการอ่านให้แข็งแกร่งก็คือ "อักษรเบรลล์" 

          "อักษรเบรลล์เป็นสายตาให้กับคนตาบอดที่จะพาพวกเขาไปสู่โลกแห่งการเรียนรู้ได้" คำพูดจากครูผู้พิการทางสายตา "อภิราม เงาศรี" ซึ่งสอดรับกับมุมมองของ "ครูไอซ์" ที่บอกว่า "อักษรเบรลล์" คือจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ เปรียบเสมือนเป็นหน้าต่างของโอกาสในการใช้สิ่งที่มี (สมอง สองมือ) เติมเต็มสิ่งที่ขาด (การมองเห็น)

          "ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยมากขึ้น ทำให้คนตาบอดมีทางเลือกมากขึ้น เช่น สื่อเสียง แต่สื่ออักษรเบรลล์ก็ยังมีบทบาทสำคัญอยู่มาก เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการอ่านหนังสือ ถ้าอ่านอักษรเบรลล์ไม่ได้ก็จะอ่านหนังสืออักษรเบรลล์ไม่ได้ ยกตัวอย่างวิชาภาษาอังกฤษ บางทีเราอยากจะอ่านเอง เพราะการอ่านเองมันจะซึมซับเรื่องตัวสะกดด้วย ถ้าสื่ออักษรเบรลล์มีมากขึ้น โอกาสที่คนตาบอดจะอ่านหนังสือได้มันก็มากขึ้นตามไปด้วย" ครูไอซ์เผย

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ "เครื่องช่วยสอนพิมพ์อักษรเบรลล์" เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสเรียนรู้ได้เท่าเทียมกันกับคนปกติ และใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ในการใช้ชีวิต และประกอบอาชีพ ด้วยการบริจาค หรือสนับสนุนเรื่องอื่นๆ ติดต่อโดยตรงได้ที่คุณสุภาธิณี กรสิงห์ ผู้ทำโครงการเครื่องช่วยสอนพิมพ์อักษรเบรลล์ โทร. 091-408-6529

ที่มาของข่าว https://mgronline.com/live/detail/9610000101108
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก