ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จังหวัดชุมพร จัดอบรมพัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันที่ลงข่าว: 03/10/18

          วันที่ 2 ต.ค. 61 นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดโครงการพัฒนาระบบการผลิตกาแฟของผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคเอเซียนตะวันออกเฉียงใต้ Improving Smallholder Coffee Farming Systems in Southeast Asia (Coffee+) และการฝึกอบรมหลักสูตร วิทยากรโรงเรียนธุรกิจสำหรับเกษตรกร (Farmer Business School-FBS) โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และบริษัทเนสเลย์-คลอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักส์ จำกัด รวมทั้งภาครัฐ ภาคเกษตรกร และภาคเอกชน จัดโครงการดังกล่าวขึ้น ณ โรงแรมนานาบุรี จังหวัดชุมพร เพื่อต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟของไทย โดยเน้นการบริหารจัดการแบบครบวงจร บนพื้นฐานของศักยภาพ และอัตลักษณ์ของกาแฟไทย

          นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทยที่ทำรายได้ให้เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาดกาแฟมีการขยายตัวอย่างมาก ทำให้ความต้องการใช้เมล็ดกาแฟในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันผลผลิตกาแฟในประเทศกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เป็นผลมาจากราคากาแฟที่ตกต่ำเป็นเวลานาน ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทน เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ทางกระทรวงมหาดไทย นำโดยคณะรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในการดำเนินยุทธศาสตร์กาแฟ จึงได้มอบหมายให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำและดำเนินการยุทธศาสตร์กาแฟมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงฉบับปัจจุบัน ซึ่งได้มีการกำหนดแผนยุทธศาตร์ตั้งแต่ปี 2560-2564 เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟของไทยให้มีความต่อเนื่อง โดยเน้นการบริหารจัดการแบบครบวงจร (Value Chain) บนพื้นฐานของศักยภาพ (Potential) และอัตลักษณ์ของกาแฟไทย พัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตในระดับฟาร์มถึงผู้บริโภค โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟ สู่มาตรฐานสากล การผลิต กาแฟเฉพาะถิ่น และการเป็นศูนย์กลางการค้ากาแฟในอาเซียน

           สำหรับพื้นที่ภาคใต้ของไทยโดยเฉพาะจังหวัดชุมพร และระนองเป็นพื้นที่ ที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกาแฟโรบัสต้า ทั้งในแง่ของสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว ได้สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยของไทยมีความรู้ ทักษะในการเป็นผู้ประกอบการกาแฟ ให้สามารถปรับมุมมองทัศนะคติจากการทำการเกษตรแบบเดิม หันมามองการทำการเกษตรในรูปแบบของการดำเนินธุรกิจเกษตร มีความสามารถในการผลิตกาแฟคุณภาพ ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นผลให้ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ มีความเข้มแข้ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก