ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“กุมารแพทย์” ชี้การศึกษาไทยแบบแพ้คัดออกทำเด็กเป็นหุ่นยนต์ เตือนอย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ

วันที่ลงข่าว: 29/08/18

          “รศ.นพ.สุริยเดว” ลั่น “เราจะพัฒนาเด็กให้เป็นหุ่นยนต์ที่แพ้หุ่นยนต์กันไปทำไม” ชี้เรื่องความรู้คนแพ้หุ่นยนต์ไปแล้ว แต่ “จินตนาการ-แรงบันดาลใจ-สายใยรัก-คุณธรรม” หุ่นยนต์ไม่มีทางเอาชนะได้ แต่ระบบการศึกษาไทยแบบแพ้คัดออกกำลังทำลายทุกสิ่ง แนะพ่อแม่ปรับทัศนคติใหม่ เด็กทุกคนมีความงดงามในแบบที่แตกต่างกันออกไป อย่าเลี้ยงแบบเปรียบเทียบ ไม่เช่นนั้นมีเจ็บไม่คนใดก็คนหนึ่ง 

 

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ภายใต้หัวข้อ “เด็กไทย 2018” โดยกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับประโยคที่ว่าเด็กไทยยุคนี้ไม่ค่อยได้เรื่อง จากประสบการณ์ในคลินิกวัยรุ่น 100 เคสที่วัยรุ่นมาปรึกษา ครึ่งหนึ่งต้องรักษาคนพามา 25 เปอร์เซ็นต์ต้องปรับทัศนคติคนส่งมา จริงๆ แล้วจิตวิทยาพัฒนาการของเด็กก็เป็นไปตามมาตรฐาน เพียงแต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เอาเด็กยุคนี้ไปอยู่ยุคเรา หรือเราแปลงกายไปเป็นเด็ก มันก็ไม่ค่อยแตกต่าง เพียงแต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่นเด็กที่เกิดในช่วงเบบี้บูมเมอร์ยุคหลังสงครามโลกเขาก็เก็บประสบการณ์ความอึดอดทนมาสภาพแวดล้อมสมัยนั้น ทำให้เป็นคนอดทน ไม่ได้มีใครไปฝึกเขาหรอก ไม่งั้นเขาอยู่ไม่ได้ 

 

รศ.นพ.สุริยเดวกล่าวอีกว่า เด็กทุกยุคทุกสมัยมีความงดงามในตัวเอง ประเด็นสำคัญที่สุดที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกัน คือทำอย่างไรให้สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ และพัฒนา ประโยคที่ตนเคยพูดไว้ครั้งหนึ่งคือ “เราจะพัฒนาเด็กของเราให้เป็นหุ่นยนต์ที่แพ้หุ่นยนต์กันไปทำไม”

 

2-3 ปีก่อนตนไปประชุมจิตวิทยาระดับโลกที่โยโกโฮมา ครั้งนั้นสร้างความฮือฮาให้กับทุกคนที่เข้าร่วมประชุม เนื่องจากองค์ปาฐกมี 2 คน หน้าตา ใส่ชุด เหมือนกันเป๊ะ คนหนึ่งเป็นมนุษย์ ส่วนอีกคนเป็นหุ่นยนต์ แล้วเป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาไปไกลมาก สามารถพูดคุยโต้ตอบมนุษย์ได้เอง โดยที่ไม่ต้องป้อนข้อมูลแล้วประมวล ในครั้งนั้นเหล่านักจิตวิทยาเกิดการพูดคุยกันว่าวิวัฒนาการหุ่นยนต์พัฒนาไปไกล เรื่องความรู้มนุษย์ไม่สามารถสู้ได้ แต่เก่งยังไงก็ไม่มีทางชนะมนุษย์ในด้านเหล่านี้ คือ 1. จินตนาการ เป็นเรื่องที่อย่าทำลายมนุษย์ตรงนี้เด็ดขาด 2. แรงบันดาลใจ 3. สายใยรัก ไม่ใช่แค่รักผิวๆ แต่คือการร่วมทุกข์ร่วมสุข และ 4. คุณธรรม ถึงบอกว่า “เราจะพัฒนาเด็กของเราให้เป็นหุ่นยนต์ที่แพ้หุ่นยนต์กันไปทำไม”

 

รศ.นพ.สุริยเดวกล่าวต่ออีว่า เด็กเก่งทุกวันนี้ในระบบการศึกษาของเรา ไม่ได้เรียนเพราะแรงบันดาลใจ แต่เพราะการมุ่งหวังเอาชนะกัน นี่คือการทำลายแรงบันดาลใจ ระบบแพ้คัดออก มีคนชนะอย่างเดียวไม่ได้มันต้องมีคนแพ้ แล้วมีอยู่วิธีเดียวคือทำข้อสอบให้ยากขึ้น เพื่อคัด 3,000 คนให้เหลือ 100 คน ยกตัวอย่างเคยเจอกรณี แม่กดดันลูกอนุบาล 3 ให้สอบเข้า ป.1 จนกระทั่งลูกเลือดกำเดาไหล อาเจียน กรณีนี้แรงบันดาลใจหาย จินตนาการไม่มี เพราะระบบแพ้คัดออกทุกอย่างใช้ท่องจำหมดเพื่อเอาชนะกันให้ได้ ประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่ใช้แล้วระบบลักษณะนี้ เราจะกลับมาลูปเดิมแบบนี้หรือ แล้วถ้าติดเกมเข้าไปอีก สายใยรักมีปัญหา คุณธรรมไม่มีทางจะเกิดขึ้นถ้าไม่คิดจะร่วมทุกข์ร่วมสุข

 

รศ.นพ.สุริยเดวกล่าวด้วยว่า เปลี่ยนความเข้าใจใหม่ เด็กทุกคนไม่ได้เกิดมาเป็นผ้าสีขาว แต่เกิดมาใสบริสุทธิ์ ลวดลายที่เกิดจากการเลี้ยงดูถูกต้อง แต่มันเกิดบนผ้าผืนที่ต่างกัน ตนกำลังให้โจทย์ต่อพ่อแม่ผู้ปกครองง่ายๆ ว่าถ้ามีลูกอย่าเลี้ยงแบบเปรียบเทียบ ไม่เช่นนั้นมีเจ็บไม่คนใดก็คนหนึ่ง เปลี่ยนทัศนคติเดี๋ยวนี้จะเห็นผลทันที แต่ละคนมีความงดงามในตนเอง บางคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ บางคนเป็นศิลปิน ทุกคนแตกต่างกันบนความสามารถที่หลากหลาย แค่เปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ได้กระแสอันหนึ่งที่จะหดไป คือ การแพ้คัดออก ยกเลิกการสอบเข้า ป.1 ความตึงเครียดของครอบครัวหายไป 

 

รศ.นพ.สุริยเดวกล่าวปิดท้ายว่า ฝากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งหมดที่มีอยู่ 20 ปี รัฐต้องลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ให้มากที่สุด แม้ยังไม่เห็นผลตอนนี้ แต่อีก 10-20 ปี เราจะมีลูกหลานที่เติบโตโดยมีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะรับรากเหง้าของแผ่นดิน

 

คำต่อคำ : เด็กไทย 2018 : คนเคาะข่าว 27/08/2018

 

นงวดี - สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับคุณผู้ชมเข้าสู่ คนเคาะข่าว ในวันนี้ เราอยู่กันในคืนวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2561 กับดิฉัน นงวดี ถนิมมาลย์ ค่ะ คุณผู้ชมคะ วันนี้ เราจะมาพูดถึงเรื่องเด็กไทย 2018 นะคะ ซึ่งก็ต้องบอกที่ใช้คำนี้ได้ก็เพื่อที่จะให้ผู้ชมเข้าใจ ได้ง่ายๆ นะคะ ว่าเรากำลังจะพูดถึงเด็กไทย ในยุคนี้ ซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศในยุคข้างหน้าด้วย ซึ่งถ้าตอนนี้ถ้าพูดถึงเด็กไทย หลายๆ คนก็บอกว่า เราควรจะไปแก้ที่เรื่องของการศึกษา หรือเราควรจะไปแก้ที่รากฐาน ถึงเรื่องของครอบครัวทีเดียว และทุกครั้งที่มีการพูดคุยกัน ทุกคนล้วนก็จะบอกว่ามันเป็นเรื่องยากที่หาทางออกไม่ค่อยจะเจอและค่อนข้างจะแก้ยากเลยทีเดียว วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงเด็กไทย ในยุคนี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วนั้น หุ่นยนต์กำลังจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่ว่าเรากำลังสร้างเด็กไทยให้เป็นหุ่นยนต์ที่กำลังจะไปแพ้หุ่นยนต์ในอนาคตหรือเปล่า หรือว่าพ่อแม่ รวมไปถึงสังคม และชุมชนนั้น จะมีส่วนช่วยอย่างไร และจะมีทางออกสำหรับเรื่องนี้หรือไม่นะคะ วันนี้เราจะมาพูดคุยถึงประเด็นเหล่านี้กัน กับ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หรือว่าที่คุณพ่อ คุณแม่ รู้จักกันดี ในนามว่า หมอเดว สวัสดีค่ะ คุณหมอคะ 

 

รศ.นพ.สุริยเดว - สวัสดีครับ 

 

นงวดี - วันนี้เราคุยกันเรื่องของเด็ก แต่ว่าเป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะคะ แล้วก็ได้ติดตามผลงานคุณหมอมาอย่างต่อเนื่อง ก็คิดว่าจะมีความคิดที่จะเป็นแนวทางออกให้กับคุณพ่อ คุณแม่ และทั้งกับโรงเรียน และคุณครูต่างๆ ด้วยนะคะ คุณหมอคะ ขอเริ่มต้นกันก่อน ทุกคนมักจะมองเด็กในยุคนี้เป็นรุ่นที่ไม่ได้เรื่องเท่าไหร่ อาจจะว่ามีคนเก่ง อาจจะมีเด็กเก่ง แต่พอโตมาแล้ว เด็กเหล่านี้ ไม่รู้หายไปไหนหมด อันนี้เราพูดถึงเด็กไทยในยุคนี้ ถ้าเป็นการสะท้อนมุมมองพ่อแม่ หรือว่าผู้ใหญ่ คุณหมอมองตรงนี้ยังไง เห็นด้วยไหม หรือว่า เด็กยุคนี้มีลักษณะคาแรกเตอร์ยังไงบ้าง

 

รศ.นพ.สุริยเดว - อาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับประโยคที่ว่า เด็กไทยเราไม่ค่อยได้เรื่อง ไม่ใช่

 

นงวดี - ไม่ใช่นะคะ 

 

รศ.นพ.สุริยเดว - คือ ประสบการณ์ในฐานะที่ทำงานทางด้านหมอ ทางด้านวัยรุ่นมา ในคลินิควัยรุ่น เรายอมรับจริงๆ ว่า 100 เคส ของวัยรุ่นปรึกษา ที่มารักษาที่เรา ครึ่งหนึ่งต้องรักษาคนพามา 

 

นงวดี - ไม่ใช่ตัวเด็ก

 

รศ.นพ.สุริยเดว - ไม่ใช่ตัวเด็ก และก็อีก 25 เปอร์เซนต์ ต้องปรับทัศนคติ แม้แต่คนที่ส่งมา ที่คุณครูส่งเข้ามา มันสะท้อนให้เห็น ว่า เอ๊ะ บริวาร ของเด็กจำเป็นต้องปรับ คุณนง จะเห็นว่าสังคมเปลี่ยน จริงๆ เด็กเนี่ย จิตวิทยาพัฒนาการ เขาก็เป็นไปตามยุคสมัย หมายถึงว่าเป็นไปตามมาตราฐานของจิตวิทยาพัฒนาการ เพียงแต่ขึ้นชื่อของความเป็นมนุษย์ปุ๊บ ส่วนของที่มีการเปลี่ยนแปลง สภาพแวดล้อม เอาเด็กยุคนี้นะ ไปอยู่ในยุคเรา หรือเราเองแปลงกาย มาเป็นเด็กยุคนี้ ผมคิดว่าเราเองก็ไม่แตกต่างไม่มีอะไรที่แตกต่างกับเขาเลย เพียงแต่ว่าสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนไป อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมโลก เขาเคยวิเคราะห์และก็วิพากษ์ไว้ว่า คุณลักษณะนี้ ลักษณะของคนที่เราเคยได้ยินว่า เบบี้บูมเมอร์ เราเคยได้ยินก่อนยุคสงครามโลกก็คือ ยุคดิวเลอร์ * หรือแม้กระทั่ง เจนเอกซ์ เจนวาย เจนซี ใช่ไหมครับ ปัจจุบันนี้ ไม่ใช่แค่เด็ก แม้แต่ผู้ใหญ่ ท่านรู้ไหมเราอยู่ในเจเนอเรชันอะไร ไม่ใช่เจนซี หลายครั้งเรามักจะเข้าใจว่า อ๋อ เด็กรุ่นใหม่ ทั้งหมดนี้คือเด็กเจนซี แต่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็เจนซี คุณนง ใช้โทรศัพท์ไหมครับ 

 

นงวดี - ใช้ค่ะ

 

รศ.นพ.สุริยเดว - โทรศัพท์ของคุณนง เป็นสมาร์ทโฟนไหม 

 

นงวดี - เป็นสมาร์ทโฟน

 

รศ.นพ.สุริยเดว - มีไลน์ไหมครับ 

 

นงวดี - มีไลน์

 

รศ.นพ.สุริยเดว - มีแอปพลิเคชันไหมครับ 

 

นงวดี - มีค่ะ

 

รศ.นพ.สุริยเดว - ทั้งหมด นี้คือของคนยุคใหม่นะ แต่ตอนที่เราเกิด เรากำเนิด เราเกิดในยุคตอนนั้น ไม่มี อาจจะไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่เป็นโทรศัพท์ เป็นเครื่องใหญ่ๆ 

 

นงวดี - ค่ะ 

 

รศ.นพ.สุริยเดว- เรามีโทรเลข เรามีไปรษณียบัตร แต่ตอนที่เราเกิดในยุคนั้นน่ะ เราเก่ง เราเก็บสะสมประสบการณ์ อย่างเช่นคนที่เกิดในยุคเบบี้บูมเมอร์ หลังสงครามโลก เขาก็เก็บประสบการณ์ ความอึดอนทน ผ่านวิถีชีวิต ผ่านสภาพแวดล้อม สมัยนั้น จึงทำให้เป็นคนที่อดทน ไม่ใช่มีใครไปฝึกเขาหรอก แต่สภาพแวดล้อมเขาอยู่ไม่ได้ ถ้าเขาไม่อดทน ถ้าเขาไม่รู้จักในการรอคอย จะเขียนจดหมายที มันมาไลน์ สติ๊กเกอร์ จุงเบย อิอิ อะไรต่างๆ ไม่มี แต่เขาจะต้องใช้แอร์โลแกรม จดหมายสีฟ้าๆ ส่งไปต่างประเทศ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า สิ่งที่หมอกำลังจะสะท้อน ก็คือเด็กทุกยุคทุกสมัย มันมีความงดงามในตัวมัน ประเด็นสำคัญที่สุดของที่ผู้ใหญ่จะช่วยกัน คือ จะทำยังไงให้สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ และเอื้อต่อการพัฒนา ประโยคที่หมอพูดไว้ครั้งหนึ่งก็คือว่าเราจะพัฒนาเด็กของเราให้เป็นหุ่นยนต์ที่แพ้ หุ่นยต์กันปทำไม มันเกิดขึ้นเมื่อน 2-3 ปีก่อน ที่โปเกมอน โก จะเข้าประเทศไทย ปีนั้นหมอยู่ที่โยโกฮาม่า เป็นการประชุมจิตวิทยา ในระดับโลก หมอได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรหนึ่งในนั้น ในเวทีนั้นด้วย โยโกฮาม่า ในปีนั้น สิ่งที่หมอเห็นอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือตอนที่เขามีพิธีเปิด ปกติพอพิธีเปิดเสร็จปุ๊บ จะมีคีย์โน้ต สปีกเกอร์ เขาเรียกองค์ปาฐก เพื่อมาปาฐกถาพิเศษ และเราก็รับรู้กันทั่วเลยว่า องค์ปาฐก มักจะเป็นท่านเดี่ยว แต่ญี่ปุ่น วันนั้น ครั้งนั้น ที่หมอเห็นเล่นเอาช็อกหมด ทั้งห้องประชุมเลย ห้องประชุม ผู้ที่มาร่วมประชุม เป็นเอ็กซ์เพิร์ต (Expert) ระดับโลก เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ด้านจิตวิทยาทั้งโลก 100 กว่าประเทศ ผมเข้าใจได้เลยว่า 4-5 พันคนเขาร่วมประชุมในครั้งนั้น แต่ทุกคนช็อกหมดเลย เกิดอะไรขึ้น องค์ปาฐก มาสองคน นะครับ หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ ใส่ชุดเหมือนกันเป๊ะเลยครับ คนหนึ่ง นี่เป็นคนนะครับ แต่อีกคนไม่ใช่คน อีกคนคือหุ่นยนต์ครับ และเขาเอาหุ่นยนต์มานั่ง หน้าเหมือนกันกับคนที่กำลังยืนอยู่บนโพเดียมนะ แล้วก็เอาอาสาสมัคร ที่เป็นจิตวิทยา ที่เป็นสุภาพสตรี ซึ่งขออาสาขึ้นไปโต้กับหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ทันทีที่นั่งลง หุ่นยนต์สแกนบอดี้ของคนนั้นเลย พอสแกนปุ๊บ ก็บอกเลยว่าคุณกำลังท้วมและอ้วน แล้วก็บอกว่าชอบกินอาหารเหรอ ชอบกินซูซิเหรอ ไปซื้อจากซูเปอร์มาร์เกต เป็นการโต้ตอบ ระหว่าง คือตอนนี้ มันไม่การเป็นว่า มนุษย์เราป้อนคำถามเข้าไป และคำถามนั้นจะถูกหุ่นยนต์ประมวลแล้วเขาจะตอบตามคำถามของมนุษย์

 

นงวดี - ไม่ใช่

 

รศ.นพ.สุริยเดว - เปล่าเลยครับ กลายเป็นว่าหุ่นยต์ รุก ไล่ มนุษย์แทนเลย เวทีครั้งนั้นที่ช็อกกันมากที่สุด ก็คือญี่ปุ่นเขาประกาศว่า เขาจะทำสมาร์ทซิตี้ แล้วมนุษย์คือส่วนเกินของชุมชน โรบอต โซไซตี้ เป็นชุมชนหุ่นยนต์ ที่มนุษย์เป็นส่วนเกิน มันคงไม่แปลก เพราะญี่ปุ่นเองเข้าสังคมสูงวัยไปนานแล้ว และเขาก็มีเด็กเกิดน้อยลง สภาวะการณ์ผมว่าประเทศไทยเราก็ไม่ได้แพ้กัน เพียงแต่ว่าเรามีหุ่นยนต์น้อย แต่ว่าวิวัฒนาการตรงโน้นมันไปไกลแล้ว เขาบอกเลยว่าโรบอตของเขา หนุ่มหล่อเลือกได้ และเป็นสาวสาวไม่ขี้งอนและใจน้อย เพราะฉะนั้น ท่านผู้ชมทุกท่าน ชมรายการเราอยู่เนี่ยนะ ลองดูนะ ลองกลับไปทบทวน ถ้าเราไม่สามารถกำหนดจิตใจของเราให้มีสติ สมาธิ ลองนึกสภาพนะ เราเป็นคนที่ขี้งอนใจน้อย สงสัยท่าจะแพ้หุ่นยนต์แล้วมั้งงานนี้ 

 

นงวดี - แพ้ค่ะ 

 

รศ.นพ.สุริยเดว - ถูกไหม 

 

นงวดี - บางคนอาจจะอยากแต่งงานกับหุ่นยนต์อะไรแบบนี้ 

 

รศ.นพ.สุริยเดว - คืออันนี้ คือส่วนที่สะท้อนออกมา แล้วเราก็จะเห็นเขาพัฒนาวิวัฒนาการของหุ่นยนต์ไปไกล จนถึงขนาดที่เวทีในครั้งนั้น เรามีนักจิตวิทยาทั้งโลก เรานั่งถกกันเลยว่า แล้วอะไรที่วงการมนุษย์จะมีเหนือหุ่นยนต์ ต่อให้เป็นโลก Artificial Intelligence นั่นคือเหตุผลหนึ่ง ตอนที่ผมให้สัมภาษณ์ไว้ ในสื่ออีกฉบับหนึ่ง 3-4 สิ่งที่มีการวิเคราะห์กัน ในเวทีที่นั่น นักจิตวิทยาคุยกันเอง เป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ในการประชุมรอบนั้นกันเลย ในพิธีเปิดครั้งนั้นเลย อะไรที่มนุษย์จะมีเหนือกว่า คุณนง ลองทายสักอย่าง หน่อยไหมครับ ใน 3-4 อย่าง ที่หุ่นยนต์สร้างให้เก่งอย่างไร ก็ไม่มี ชนะเรื่องนี้กับมนุษย์ได้

 

นงวดี - อย่างเช่นกันคิดอะไรที่มันเหนือ เป็นไปไม่ได้ คิด ...

 

รศ.นพ.สุริยเดว - ผมสรุปให้ดังนี้ จินตนาการใช่ไหม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พูดไว้นานมาก ว่า จินตนาการ เหนือวิชาความรู้ ถูกต้องครับ อันนี้เป็นหนึ่งเรื่องที่เราสรุปกันที่นั่นเลยว่า จินตนาการ Creative Thinking เป็นเรื่องที่อย่าทำลายมนุษย์ตรงนี้เด็ดขาด อันที่ 2 แรงบันดาลใจท่านรู้ไหมครับคุณนง และผมเชื่อว่าท่านผู้ชมทุกท่านก็ดี แม้กระทั่งตัวหมอเอง แรงบันดาลใจแม้กระทั่งตอนนี้มีเกมกีฬาแข่งขันกันอยู่ เวลาเกมทั้งหลายอะไรจะชนะมันอยู่ที่ใจ และมันต้องมีก๊อก2 ก๊อก 2 มันไม่ได้เกิดขึ้นเอง มันเกิดขึ้นจาก inspiration แรงบันดาลใจ มุ่งสู่เป้าหมายของเราให้ได้ แรงบันดาลใจสำคัญ มันคือก๊อก 2 ของการเป็นมนุษย์เลย และนำไปสู่ผลิตผลอีกมากมาย นักธุรกิจกิจทั้งหมดล้วนมี inspiration อันที่ 3 ก็คือสายใยรัก ที่หมอไม่อยากใช้ คำว่า Official love มันไม่ใช่รักเป็นผิวๆ แต่เป็นรักที่แบบประเภทร่วมทุกข์ร่วมสุข

 

นงวดี - อันนี้อยู่ในเฉพาะครอบครัว

 

รศ.นพ.สุริยเดว - รักที่สุด สดใสมากที่สุดที่ จิตวิทยา เราใช้คำว่า Tender loving care รักที่แม่ให้กับลูกตอนที่แม่อุ้มท้อง วินาทีที่แม่คลอดลูกความเจ็บปวดที่ได้รับโดยวิธีธรรมชาติมากกว่าสิ่ง ยิ่งกว่าผู้ชายทนได้ถึงกว่า 5 เท่า และได้ยินเสียงลูกตัวเองร้อง ซบ และดูดนม มันกลายเป็นสายใยรักที่เรา ใช้คำว่า love Unconditional รักในหัวใจไม่มีเงื่อนไข นั่นคือรักที่เกิดขึ้นได้ เพราะหุ่นยนต์ไม่จำเป็นจะร่วมทุกข์ร่วมสุข อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ คือข้อมูล quality คุณนงจะเห็นเลยนะครับว่า 4 เรื่องนี้เป็นประเด็นที่หมอได้ให้สัมภาษณ์ไว้เลยว่า เราจะพัฒนาให้เด็กของเราเป็นหุ่นยนต์ แพ้หุ่นยนต์ ทุกวันนี้ถ้าเรามาวัดกันที่ความรู้ หุ่นยนต์ชนะหมากล้อม ชนะหมากล้อมแชมป์เปี้ยนโลกไปแล้ว หุ่นยนต์ตอนนี้อาจจะมาแทนที่หมอบางประเภท หุ่นยนต์อาจจะมาแทนที่บาทหลวงเทศนามนุษย์ให้ฟังก็ได้ สิ่งเหล่านี้หุ่นยนต์ทำได้หมดเลย แต่สิ่งที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้แน่ๆก็คือจินตนาการ วิชาความรู้ แรงบันดาลใจ คุณนงทราบไหมครับว่าโรงเรียนเก่งบ้านเราเอง คุณครูหลายท่าน และเชื่อแน่ว่าถ้าท่านดูอยู่ ท่านจะตอบหมอเช่นเดียวกันว่า ทุกวันนี้หลายท่านในระบบการศึกษาของเราเอง คุณครูพร้อมใจกันบอกเลยว่า หมอเด็กๆเก่งตอนนี้ที่มาเรียนกันอยู่ที่คว้าเหรียญกันทั้งหลาย เขาไม่ได้เรียนด้วยแรงบันดาลใจ

 

นงวดี - เขาเรียนด้วยอย่างอื่น

 

รศ.นพ.สุริยเดว - มุ่งหวังเอาชนะกันนะครับ เพียงแค่เอาชนะเพื่อนก็สะใจแล้ว อันนี้คือ เรากำลังทำลาย inspiration ใช่ไหมครับ นี่คือหนึ่งเรื่อง inspiration แล้วนะ ระบบแพ้คัดออกที่หมอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ตั้งกี่ครั้งว่า ระบบแพ้คัดออกมีแต่คนชนะไม่ได้ มันต้องมีคนแพ้ มีวิธีเดียวคือทำข้อสอบให้ยากขึ้น เพื่อมีอยู่ 3,000 คนเอาแค่ 100 คนในลักษณะแบบนี้ อีก 2,900 แพ้ ข้อสอบต้องยากขึ้น ผมจะไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมภาพที่หมอเคยเห็นอยู่ครั้งหนึ่งที่มีเด็กไปสอบเข้าชั้น ป.1 อนุบาล 3 เข้า ป.1 ลูกตาปรือ แต่แม่ทายาหม่อง เพราะต้องการกระตุ้นให้ลูกตื่น เพื่อเข้าสู่สนามสอบให้ได้ อนุบาล 3 เข้า ป.1 ในที่สุดลูกก็งัวเงีย แม่เลยทิ้งไพ่ว่าวันนี้เป็นวันชี้เป็นชี้ตายของลูกเลยนะ แต่ลูกออกมาพร้อมเลือดกำเดาไหลและอาเจียน มันคือความตึงเครียดที่เด็กได้รับอยู่ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า inspiration แรงบันดาลใจหาย จินตนาการไม่ต้องคิดกันแล้ว ระบบแพ้คัดออก ทุกอย่างต้องใช้ระบบท่องจำหมด เพราะมันต้องชนะกันให้ได้ เด็ก ม.4 ต้องจบคอร์ส ม.6 เด็ก ม.6 ต้องจบคอร์ส ปี 2 ในประเทศที่เจริญแล้ว เขาไม่ใช้แล้ว ระบบในลักษณะอย่างนี้ เราจะกลับมาลูปเดิมอย่างนี้ไหม 2 เรื่องหายไปแล้ว ถ้าเกิดมาเจอ ติดเกมเข้าไปอีก

 

นงวดี - หนักมาก

 

รศ.นพ.สุริยเดว - ซึ่งตอนนี้เราก็เจอ บริโภคสื่อเทคโนโลยีกันเต็มไปหมด จะทำให้สายใยรักก็มีปัญหา สั่นคลอขึ้นมาแล้ว คุณธรรมไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าเกิดไม่คิดจะร่วมทุกข์ร่วมสุข ในนี้มีสักกี่บ้านในบ้านเราที่เด็กทุกคน ผมถามโจทย์ง่ายๆเลย ถามคุณนงด้วย ถามผู้ชมทุกท่านเลยว่าจริงไหม ลูกหลานที่เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เช็ด ปัด กวาด ถูบ้าน ซักผ้า ล้างจานเองครับ มีสักกี่คน

 

นงวดี - ประสบการณ์ใกล้ตัวคือน้อยมาก 

 

รศ.นพ.สุริยเดว - น้อยมาก เพราะมีโรงเรียนที่กำลังใช้ระบบแพ้คัดออก อันนี้ถามในแง่กิจวัตรประจำวัน เข้าใจไหมครับ ที่แสบหนักนั้นที่หมอเคยเจอ คุณพ่อท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าโรงเรียนสาธิต...กลุ่มผู้ปกครองแบ่งก๊วนกันเลย เวลาครูให้การบ้านไม่ใช่เด็กทำ พ่อแม่รีบเอาไปทำ พ่อแม่คงว่างงานมากเลย สามารถที่จะช่วยในการประเคนการเรียนทุกอย่างเลย และหมอไม่คิดที่จะได้ยิน ก็ได้ยินว่ามีการแม้กระทั่งตามไปป้อนข้าวเด็ก ม.1 ตอนนั้นหมอคิดว่าฟังผิดว่าเด็ก ป.1 หมอก็ถาม ปอปลา หรือ มอม้า เขามอง มอ นะครับ มัธยม ถ้าเราไปไกลถึงขนาด เช็ด ปัด กวาด ถูบ้าน ล้างจานไม่ได้ เจอแบบสิ่งที่ยากลำบาก พื้นฐานก็ไม่เป็น เพราะทุกอย่างต้องเข้าไปสู่ระดับแบบสะดวกสบาย อันนี้เรียกว่าเลี้ยงแบบสำลักความรัก อันนี้ไม่ใช่รักร่วมทุกข์ร่วมสุข เรื่องที่ 3 แล้วนะ คุณธรรม เราพูดถึงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้อภัย การรู้จักเป็นจิตอาสาน้ำใจแบ่งปัน งานทุนชีวิตของหมอเองที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ งานทุนชีวิตเป็นงานวิจัย ที่เกิดขึ้นจาก Asset of Thailand อันนี้เป็นอันหนึ่งที่หมอภูมิใจมากที่ทิ้งผลงานโบว์แดงไว้และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศตอนที่หมอนำเสนอที่ศาลสหรัฐอเมริกา และกลุ่มใน 100 กว่าประเทศสูงสุดในปี ค.ศ.2011 ออสเตรเลีย ผู้แทนของออสเตรเลีย คนนอมิเนตชื่อหมอ เขารับรางวัลในระดับโลกในครั้งนั้น ด้วยผลงานเรื่องของทุนชีวิต เพราะฉะนั้นทุนชีวิตไม่ใช่แค่คำคำหนึ่ง มันอยู่ในราชบัณฑิตยสถานเรียบร้อย แต่ทุนชีวิตเกิดขึ้นจากกระบวนการที่เราถอดบทเรียนประเทศ ว่าที่การมีเด็กคนหนึ่งจะมีจิตสำนึกต่อตนเองขึ้นมานั้น มันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง บ้าน ชุมชน โรงเรียน และเพื่อน มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้วมันเป็นเครื่องมือวัดจิตสำนึกของเด็ก ต้องใช้คำนี้นะ เป็นเครื่องมือในการวัดจิต พอเวลาเราวัดจิตสำนึกของเด็ก ไม่ใช่หน้าที่ผู้ใหญ่ตัดสินใจ เด็กจะเป็นคนประเมินตัวเอง เขารู้สึกอย่างไรกับตัวเอง เขารู้สึกอย่างไรกับบ้านเขา รู้สึกอย่างไรกับชุมชน เขารู้สึกอย่างไรกับโรงเรียน กระบวนการสร้างปัญญา รู้สึกอย่างไรกับเพื่อนของเขา ยกตัวอย่างประโยชน์นะครับ เช่น ฉันพูดความจริงถึงแม่ แม้บางครั้งจะทำได้ยาก ประโยคในลักษณะอย่างนี้ เด็กจะเป็นคนประเมินตนเอง เพื่อที่จะตอบ คำถามแบบนี้สำหรับวัยรุ่น ไม่ใช่คำถามสำหรับเด็กเล็ก ทุนชีวิตมีทั้งวัยรุ่น วัยเรียน ไล่จนไปถึงประถมวัย ถ้าประถมวัยเป็นภาพการ์ตูน เล่านิทาน เป็นลักษณะอย่างนั้นมากกว่า แต่กรณีในเด็กวัยรุ่นประโยค ฉันพูดความจริงเสมอ ถึงแม้บางครั้งจะทำได้ยาก ตามหลักแล้วเด็กสามารถประเมินตัวเองได้ และเขาเขียนมาเลยว่าเป็นประจำ ตัวอย่างคล้ายๆประโยคแบบนี้มันมีอยู่ 40 กว่าประโยค ฉันกล้าคิดกล้าพูด กล้าเสนอความคิดเห็น แม้ว่าความคิดเห็นฉันจะต่างจากผู้อื่น ฉันอยากเรียนได้ดีโดยไม่เอาเปรียบผู้อื่น ฉันมีผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดี ฉันรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเมื่อเข้าบ้าน อันนี้เป็นคำถามในวิถีชีวิตของเด็กทั้งนั้นเลยนะ คุณนงรู้ไหมครับว่าใน 40 กว่าตัวชี้วัดที่เราไปวัดจิตสำนึกของเด็กบนระบบนิเวศของเด็ก และตัวเด็กเอง ว่าเด็กรู้สึกอย่างไรกับตัวเอง และบ้าน ชุมชน โรงเรียน ภาพรวมของประเทศไทยในปี พ.ศ.2552 ของปีการศึกษานั้น เราร่วมกับ สพฐ.กระทรวงศึกษาธิการ และเซอร์เวย์ทั้งประเทศไทย ทั้งประเทศภาพรวมอยู่ที่ พอใช้ ในมุมมองของเด็ก จิตสำนึกของเด็กเอง และจุดที่ตกต่ำมากที่สุด แย่ที่สุดกลายเป็นพลังชุมชน ประเด็นที่อ่อนแอที่สุด ย้อนอดีตกลับไปตรงนั้น เกือบ 10 ปี คือจิตสำนึกสาธารณะ ก็คือแง่ของการแบ่งปันน้ำใจกันซึ่งกันและกัน ในทั้งหมดก่อนหน้านี้ หมอทำงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งไว้ด้วย และเราพบว่ามีนของประเทศ และเรื่องของจิตอาสาในปีโน้น ไม่ใช่ตอนนี้นะ ตอนนี้ต้องบอกว่าเป็นนโยบาย ทั้งพระราโชบาย ทุกอย่างดีมากเลย กลายเป็นเรื่องของจิตอาสา ทุกคนกำลังช่วยกันทำให้เกิดเป็นวิถีชีวิตของการแบ่งปันน้ำใจ แต่ในปีนู้น ยุคเก่าๆตอนนั้น จะเห็นเลยว่ามีนของเด็กสะท้อนออกมาเอง ทั้งประเทศอยู่ที่ 34% หมายความว่า เด็ก 100 คน มีอยู่เพียง 34 คนที่ตอบว่าเขามีโอกาสแบ่งปันน้ำใจ

 

นงวดี - ซึ่งก็ต่ำ

 

รศ.นพ.สุริยเดว - ต่ำครับ ตกครับ เพราะต่ำกว่าตัวชี้วัดไหน อะไรก็ตามที่ต่ำกว่า 60 ถือว่าตก และก่อนที่หมอจะมีตัวชี้วัดกำหนดพวกนี้ หมอตัวอย่างกรณีศึกษาเป็นแสนของบ้านเราเอง ทั้งประเทศได้ 34 ในปีนู้นนะย้อนอดีตกลับไปเกือบ 20 ปี กว่าปีที่แล้วตอนนั้น ในนั้นเด็กที่เป็นกลุ่มพิการหนูหนวกตาบอด ตามสถาวะอยู่ในสถาวะยากลำบากถ้าเราคิดถึงมักจะคิดว่ากลุ่มนี้อยู่ในสถาวะยากลำบาก คุณนงเชื่อไหม เด็กหูหนวกตาบอดมีน้ำใจมากกว่าเด็กหูดี ตาดี 2 เท่า ในปีนั้น เด็กหูหนวกตาบอดที่สังคมบอกว่าเขาอยู่ในสถาวะยากลำบาก แต่เขามีน้ำใจในการแบ่งปันมากกว่าเด็กหูดี ตาดี 2 เท่า แล้วที่สำคัญคือเด็กที่เรียนเก่งที่เกรดเกิน 3.5 ขึ้นไปปีนั้น เหลือ 19 เปอร์เซ็นต์ นี่มันกำลังส่งสัญญาณอะไร และนอกเหนือจากนั้นและในปี 2556 หมอร่วมกันกับกระทรวงวัฒนธรรมและร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการสำรวจใหม่ทั้งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง และไปเปรียบเทียบกับขออนุญาตทางการร่วมกันทางศิริราช มหิดลและรวมไปจนถึงขออนุญาต สสวท. ไปเก็บข้อมูลพลังทุนชีวิตจิตสำนึก ของเด็กที่เรียนเก่งที่สุดของประเทศไทย คือที่เตรียมตัวเข้าค่ายโอลิมปิกพวกคว้าเหรียญทองทั้งหลายไปเก็บในค่ายนั้นเลย และกลุ่มที่ 3. คือกลุ่มที่ระบบการศึกษาไม่เอาเขาแล้ว คือไม่ใช่ระบบการศึกษาไม่เอาแต่ด้วยสภาวะยากลำบากของเขาเด้กบางคนไม่มีพ่อแม่ มูลนิธิ NGO ภาคประชารัฐอะไรต่างๆ เหล่านี้ไปเก็บเกี่ยวเด็กเหล่านี้มาเพื่อพัฒนา เราทำ 3 ตัวอย่าง 1 คือเก็บทั้งประเทศ หลายหมื่นตัวอย่างนะครับ กลุ่มที่ 2 ที่เก็บทั้งค่ายเลย คนที่เข้าค่ายโอลิมปิก ถือว่าอันนี้เทงบทุ่มเต็มที่ แล้วกลุ่มที่ 3 ไม่อยู่ในระบบ 0 บาท ถ้าเป็นเรียนฟรีคือ 0 บาท รัฐไม่ลงทุน 3 กลุ่มนี้พลังจิตสำนึกพอๆ กันกับพลังรวม พอๆ กัน ดูแล้วไม่น่าสนใจเท่าไหร่ แต่ถ้าวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์จะได้เรื่องนิดหนึงเพราะฝากรัฐจะลงทุนกับภาพสเกลใหญ่ของประเทศเกือบ 3,000 บาทต่อรายหัว แต่ขณะที่แท่งกลางบางโรงเรียนเป็นแสนเลยไม่นับที่พ่อแม่ซื้อทุ่มไม่อั้น และกลุ่มสุดท้าย 0 บาท ดูแล้วพลังทุนชีวิต พอๆ กัน เข้าค่าทางสถิติไม่ต่าง แต่พอแยก รายพลังออกมา ในพลังทุนชีวิตมี 5 พลัง บ้าน ชุมชน โรงเรียน และเพื่อน และ 4 พลังนี้ถ้าทำให้ตัวตนเข้มแข็งเป็นพลังที่ 5 ที่สำคัญที่สุดคือพลังตัวตน เพราะฉะนั้นทุนชีวิตจึงมี 5 พลัง พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา พลังเพื่อน และพลังชุมชนใน 5 พอคลี่รายละเอียดออกมาเจอข้อมูลที่สำคัญมาก คือกลุ่มที่เด็กที่เรียนเก่งที่สุดตกทั้งพลังชุมชน ซึ่งในนั้นมันมีอยู่ 8 ตัวชี้วัดสีแดงทั้งพลังเลย

 

นงวดี - เด็กที่เรียนเก่งที่สุดตกหมด

 

รศ.นพ.สุริยเดว - ตกทุกตัวชี้วัดในพลังชุมชน ไม่ได้กำลังบอกว่าพลังตัวตนเขาแข็งแรงมาก พลังครอบครัวเขาขึ้นเกรดเอ ครอบครัวทุ่มไม่อั้นขึ้นเกรดเอมันเลยทำให้พลังทุนชีวิตออกมาถัวๆกัน แต่พอไปรายพลังเสร็จปุ๊บจิตสำนึกสาธารณะในปีนู้น ปี 2556 ภาพรวมของเด็กที่เรียนเก่งที่สุดของประเทศ กลายเป็นสีแดง ไม่ใช่สีส้ม ด้วยไม่เหลือง หรือเขียวด้วย สีแดงเลย 

 

นงวดี - ก็เรียกว่าเป็นคนที่สนใจแต่ตัวเอง

 

รศ.นพ.สุริยเดว - บางตัวชี้วัดมีเด็ก 100 คนตอบแค่ 30 ตัวที่สำคัญที่สุดคือได้มีโอกาสได้แบ่งปันน้ำใจให้คนรอบข้างหรือใครก็ตามมีโอกาสแบ่งปันน้ำใจอันนี้เป็นตัวที่ต่ำที่สุด ฉันได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมของชุมชนพวกอย่างนี้ จะเห็นว่าพลังชุมชนตกทั้งพลัง และพลังเพื่อนและกิจกรรมก็อ่อนที่สุดแม้กระทั่งอ่อนกว่าในประเทศ ทั้งหมดมีอยู่ 40 ตัวชี้วัด แดงไป 9 ตัวชี้วัด แล้วอยู่ในเกรดตัวสีส้มอยู่ 11 ตัวชี้วัด 11+9 คือ 20 แบบสำรวจของผมมีอยู่ 40 ชี้วัด ครึ่งหนึงไปหมดแล้วแต่ตัวเขาเด่นขึ้นมาขึ้นเขียว คือพลังการเป็นตัวเอง ตัวตนของตนเอง กับพลังครอบครัว นี่คือเหตุผลหนึงที่หมออกมาให้สัมภาษณ์ว่าตอนที่มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่าถ้ามีเด็กที่เกรดต่ำกว่า 2.5 เรียนฟรีนะ จะต้องมีข้อจำกัดหมอเลยขออนุญาตเสริมเพิ่มไปว่า ท่านมีความเห็นในเรื่องนั้นของท่าน แต่ด้วยงานวิจัยของหมอถ้าคนที่ได้เกรด 4.00 เด็กที่เรียนเก่งที่สุดไม่คิดจะทำอะไรให้กับสังคม ส่วนรวมเลยเราต้องคิดถึงตรงนี้เหมือนกันตกลงจะเอาอย่างไร เพราะเราเชื่อว่าด้วยกระแสใหม่ผู้ใหญ่ทุกท่าน เราอยากได้คนดีมากกว่าความเก่ง ความเก่งไว้ที่หลังแล้วนี้จะเป็นจุดต่างกับหุ่นยนต์ชัดเจน 4 เรื่องผมสะท้อนให้ชัด แรงบันดาลใจ ระบบการศึกษากับลังทำลายแรงบันดาลใจ 2 จิตนาการเหนือความรู้ ทั้งที่เป็นคำพูดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ 3 ความรักความผูกพัน มันไม่ได้เกิดขึ้นบนความสุขมันเกิดขึ้นบนความลำบากขั้นพื้นฐานเอาตั้งแต่ง่ายๆ เช็ดกวาด ถูบ้าน ล้างจานก็ไม่มีแล้ว อันที่ 4 คือคุณธรรมบนจิตสำนึกในเครื่องมือที่หมอวัด

 

นงวดี - คุณหมอคะ ถ้าฟังแล้วตอนนี้ประเทศไทยรวมไปทั้งคุณพ่อคุณแม่เองก็ตาม คือมุ่งไปสร้างแต่เด็กเก่ง เยอะไปแล้ว แต่จะว่าไปแล้วการเป็นคุณพ่อคุณแม่ยุคนี้ก็เป็นยากเหมือนกัน คุณหมอมีคำแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองยุคนี้ไหม 

 

รศ.นพ.สุริยเดว - จริงๆ อยากจะเปิดวิสัยทัศน์อยู่สัก 2-3 เรื่อง คุณพ่อคุณแม่ผมเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่นะ ถ้าเราช่วยกันเปิดวิสัยทัศน์และสเกลกว้างนิดหนึ่ง เปิดใจยอมรับกันสักนิดหนึ่ง และเราก็พยายามส่งสัญญาณกันเยอะนะคุณนงว่าเด็กทุกคนเกิดมาเป็นผ้าสีอะไร

 

นงวดี - ถ้าเป็นจากการที่ได้รับบอกเล่าตอนเด็กๆ คือสีขาว แล้วเราก้แต้มลงไป 

 

รศ.นพ.สุริยเดว - แล้วตอนนี้ละ ตอนนี้หมอเปลี่ยนกระแสความเข้าใจตรงนี้ใหม่ เด็กทุกคนที่เกิดมาไม่ใช่ผ้าขาว อย่าเข้าใจผิด หมอกำลังส่งสัญญาณว่าเด็กทุคนเกิดมาใสบริสุทธิ์ ลวดลายที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูถูกต้องแต่มันเกิดจากผ้าสีพื้นต่างกันสัญญาณนี้หมอกำลังให้โจทย์และให้คำตอบคุณพ่อคุณแม่แบบง่ายๆ ว่าถ้าท่านมีลูกอย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ ถ้าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบงานนี้มีเจ็บแน่นอนไม่ใครก็คนหนึ่ง ภาวะอิจฉาริษยาต่างๆ มันสั่งสมละครน้ำเน่าต่างๆ มันคงไม่เกิดถ้ามันไม่เกิดในลักษณะอย่างนี้ถูกไหม เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นกระบวนการแรกที่หมอเอามาฝากคุณพ่อคุณแม่ และไม่ได้ยากอะไรไม่ต้องมีนโยบายเรื่องนี้อยู่ที่ใจ อยู่ที่สมองเรา เปลี่ยนวันนี้ท่านจะเห็นผลวันนี้ครับ วินาทีนี้ เปลี่ยนทัศนคติแต่ละคนมีความงดงามในตัวมันเอง บางคนเป็นศิลปิน บางคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเรียนสายวิทยคณิต ทุกคนจะแตกต่างกันบนความสามารถที่หลากหลาย ถ้าเปลี่ยนแค่นี้ปุ๊บกระแสอันหนึงที่จะหดลง แพ้คัดออก ยกเลิกการสอบคัดเลือก ป.1 ความตึงเครียดของครอบครัวหายทันที 1 เรื่องแล้ว จะเกิดปรากฎเป็นมรรคผลทันที หมอกำลังช่วยในการที่จะเชิญชวนภาคธุรกิจ ภาคเอกชนทั้งประเทศ วันนี้หมอเข้าใจว่าถึงเวลาที่เราจะต้องส่งสัญญาณไม่ต้องไปรอระบบของกระทรวงศึกษาที่บอกว่าจะมีระบบทีแคสไหมไม่ต้องรอ อันนั้นระบบอันซับซ้อนหมอเข้าใจว่าต้องใช้กระบวนการอีกเยอะเลยที่จะไปปรับปรุง เอาภาคธุรกิจก่อนง่ายมาก วันนี้ท่านรับคนเข้าทำงานโดยไม่ต้องดูปริญญาบัตรและท่านก็กำหนดเลยว่าท่านต้องการทักษะอะไรบ้าง วัดกันที่ 6 เดือนเลย ว่าเขาทำได้ไหม ถ้าเขาทำได้ก็ค่อบกลับมาดูคุณวุฒิแล้วปรับเงินเดือนแล้วว่ากันไปแต่อย่าส่งสัญญาณด้วยปริญาบัตรเพื่อไปเปลี่ยนทัศนคติของระบบแพ้คัดออกที่มันกำลังไหลหลั่งไปลูปเดียว พ่อแม่ทุกคน ทั้งสังคมท่องแบบเดียวกันเลยว่าลุกต้องเข้าโรงเรียนที่ดีดี พอเข้าโรงเรียนดังขึ้นมาเสร็จก็ต้องเข้าสายวิทย์-คณิตเสร็จ ไปเรียนหมอ ไปเรียนหมเสร็จ คือมันเป็นลูปเดียวกันหมด ทั้งๆ ที่เด็กไม่อยากเป็นหมด แต่ว่าทั้งประเทศก็กลายเป็นทุกอย่าง พอไม่ได้หมอ ก็วงการสาธารณสุข ไม่ได้วงการสาธารณสุขก็วิศวะ คือคิดอยู่ไม่กี่ลูป ในอนาคตอาจ Artificial Intelligence อาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งหมอเข้าใจว่าเราเปิดแค่โลกทัศน์อันนี้มาปุ๊ป หมอเชื่อแน่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะปลดแอกความตึงเครียด และสามารถเลี้ยงลูกด้วยบนฐาน 4 เรื่อง 1.ความรักและความห่วงใย คุรพ่อคุณแม่ครับ วันนี้อย่าบอกเลยนะครับว่า ฉันร่ำรวย ฉันจ้างแม่บ้านไว้ ฉันให้เงินเดือนเขา ลูกไม่ต้องทำงานบ้าน ไม่ต้อง ง่ายเลยครับ วันนี้ท่านฟังหมออยู่ เริ่อมต้นด้วยเอาลูกมานั่งคุยกัน แต่อย่าหักดิบนะ เพระาถ้าท่านไม่เคยสร้างวินัยให้กับลูก อยู่ดีๆ มาหักดิบ เดี๋ยวลูกมีปัญหาเรื่องจิตวิทยากันอีก แต่เอาว่าค่อยๆ เริ่มกันได้ไหม เดิมไม่ทำ ขอแค่ง่ายๆ สัปดาห์ละครั้ง เดือนละครั้ง จากที่ไม่เคยทำเลย ทำให้เขาเจอ ปัญหาพ่อแม่อันหนึ่งที่หมออยากฝากไว้ก็คือว่า วันนี้เราต้องเลี้ยงลูกให้ผิดหวังเป็นบ้าง

 

นงวดี - กลัวลูกเสียใจ

 

รศ.นพ.สุริยเดว - พ่อแม่หลายคนที่ลูกได้เกรด 4.00 ถ้าได้ 3.9 ไม่ใช่แค่เด็กร้องไห้นะ พ่อแม่จะร้องไห้ตามไปด้วย อันเนี่ยผิดหลัก ตามหลักแล้วท่านต้องส่งสัญญาณให้ลูกเลย พ่อไม่ได้รักลูกที่เกรด ไม่ว่าลูกจะได้ 4.00 หรือ 3.9 พอแล้ว ต่อให้ลูกได้ 3.8 พ่อก็รัก ได้ 2 กว่า พ่อก็รัก พ่อไม่ได้รักลูกที่เกรดเลย วันนี้พ่อกลับภูมิใจด้วยซ้ำไปที่ลูกได้ 3.9 ภูมิใจมากกว่า 4.00 เพราะในชีวิตของพ่เองก็เจอปัญหาอุปสรรค เจอกับความล้มเหลวบ้าง แต่วันนี้ลูกกำลังเจอ พ่อเชื่อแน่ว่าลูกจะวางแผนในการที่จะรับมือกับความล้มเหลวนั่นได้ คำพูดในลักษณะนี้มันกลับปลดวาล์ว ปลดแรงกดดันให้กับตัวลุกทันที่ ว่าลูกไม่ได้รักเราที่เกรดนะ เพราะฉะนั้นเราจะบ้าบอไปลักษณะไหนอ่ะ เราต้องกลับมาที่ปฏิสัมพันธ์ คุณนงจะเห็นเลย ทุกอย่างมันไม่ได้อยากเลย จุดเริ่มต้นมันอยู่ที่พ่อและแม่ พ่อและแม่วันนี้ส่งสัญญาณปฏิสัมพันธ์ คุณติดเกม ไม่ติดเกม วันนี้หมอต้องถามว่าไอ้ที่ติดเกมกันอยู่เนี่ย เรามีปฏิสัมพันธ์ในบ้านไหมเล่า วันนี้ถ้าเราจะบอกว่า ครอบครัวยากจนก็ออกไปกัดปากตีนถีบทั้งหมดเลย ใช่ครับ แต่เราลดเงินรายได้อีกสักนิดหนึ่ง แต่เหลือเวลาให้พูดคุยกับลูก สำหรับพ่อแม่ที่มีเวลาน้อยมาก ต้องใช้คำว่าน้อยมาก ขอแค่สักวันละ 15 นาที คุณนงคิดว่าให้ได้ไหมครับ

 

นงวดี - คงได้นะคะ เพราะอยู่บ้านก็มากกว่านั้น

 

รศ.นพ.สุริยเดว - 15 นาทีเนี่ย แต่ 15 นาทีนี้บอกมีเงื่อนไข 15 นาทีนี้เป็น 15 นาทีทอง ที่ท่านจะใช้สร้างสัมธภาพ เวลาคุยกับลูก ท่านก็ต้องถามลูกวันนี้มีเรื่องอะไรดีๆ มาเล่าสู่กันฟังบ้าง วันนี้มีอะไรลูกไม่สบายใจมาเล่าสู่กันฟังบ้าง คำถามปลายเปิดลักษณะนี้ ลุกมีความรู้สึกอบอุ่นนะ บ้านจะอบอุ่นทันที แล้วบ้านสัมธภาพที่ดีขึ้น เราก็ใส่วินัยต่อ พอใส่วินัยต่อ มันก็จะเกิดกฏเกณฑ์กติกา วินัย ก็ต้องเป็นวินัยเชิงบวก คำว่า วินัยเชิงบวกอย่าเข้าใจผิด วินัยเชิงลบต้องลงโทษ ต้องอะไรทั้งหลาย แต่วินัยเชิงบวกคือการใช้เทคนิคอย่างสร้างสรรค์ แต่นั่นไม่ได้หมายถึงการตามใจนะ หลักการของมัน มันใช้เพียงขอให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่แม่ดุดัน พ่อใจดีหาย อันนี้เสียหายแน่นอน พ่อแม่มาตรฐานเดียวกัน และอยู่บนหลักเมตตาธรรม เมื่อไหร่ก็คชตามพ่อแม่คิดว่าน็อตจะหลุด อารมณ์จะระเบิด ถอยออกไปสะ เพื่อให้พ่อแม่รู้ว่าแม่โกรธเป็น แต่เวลาพ่อแม่โกรธ พ่อแม่ไม่เคยระเบิดอารมณ์ พ่อแม่ถอยออกไป จะกลับมาเจรจากันเมื่อมีสติครับ 

 

นงวดี - โอ้โห ฟังแล้วมันดูใกล้ตัวเรามากเลยค่ะคุณหมอ

 

รศ.นพ.สุริยเดว - เพระาฉะนั้นหมอ ทั้งหมดที่หมอกำลังพูดไม่ได้เรื่องนโยบายเลยนะ ทั้งหมดหมอกำลังแตะเข้าไปในครัวเรือนทั้งนั้นเลยนะ แล้วมันเปลี่ยนได้ตั้งแต่ครัวเรือน

 

นงวดี - แต่ที่นี้ก็อาจจะเจอแรงสังคมอื่นๆ บ้าง คือคนส่วนใหญ่ คือถ้าเราเป็นลักษณะที่คุณหมอบอกเนี่ย

 

รศ.นพ.สุริยเดว - คือคนส่วนใหญ่หรือไม่ส่วนใหญ่ วันนี้เราต้องกลับมา ถ้าโลกทัศน์เราเปิด เราก็สัมมาอาชีพมีเยอะครับ สัมมาอาชีพไม่ได้มีแต่อาชีพ ถ้าทุกคนในประเทศนี้เอาให้เป็นหมอให้หมด ผมก็เชื่อว่าไม่รอดหรอกครับ ประเทศไม่รอดหรอกครับ ถ้าเอาแต่หมออย่างเดียว ไม่ต้องมีพยาบาล ไม่ต้องมีช่างตากล้อง ไม่ต้องมีพิธีกร ไม่ต้องมีรายการ มีแต่หมอทั้งประเทศไปเลย หมอก็เชื่อว่าไม่รอดหรอกครับ ทุกอาชีพมีความในตัวมันเองหมด มีคุณค่าในตัวมันเอง ขอเพียงประโยคสั้นง่ายๆ เลย คือลูกตั้งเป็นสัมมาอาชีพ เป็นอาชีพที่สุจริต มีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ ประเด็นที่ 2 เรามี ดร. บางคนเหมือนกันที่จบไปแล้ว พูดภาษาคนไม่รู้เรื่อง แล้วก็มีคนที่จบปริญญาสารพัด แต่เห็นแก่ตัวสิ้นดี ฉะนั้นกระบวนทัศน์ของพ่อแม่ต้องเปิด คือลูกเราต้อง on the table ต้องคุยกันในสังคม เขาต้องมีทักษะการอยู่ร่วมในสังคม กิจกรรมจะเป็นที่ให้เขาเป็นผู้นำ เขารู้จักในการอยู่ร่วมในสังคมได้ แบบฝึกหัดชีวิต ทักษะชีวิต จิตสำนึกต่างๆ เหล่านี้ถึงจะเกิดขึ้น มันไม่เกิดขึ้นในตำราเรียนนะ มันเกิดขึ้นบนกิจกรรมที่ทำ และสำหรับโรงเรียน และสำหรับกระทรวงศึกษาธิการ วันนี้ท่านก็ต้องกลับมาให้น้ำหนักกับคนที่ทำกิจกรรมด้วย หลายครั้งที่หมดเข้าไปดู เข้าไปเจอในโรงเรียน เขาจะเขียนธรรมเลิศเลอไว้เลยว่าโรงเรียนเราได้เกรด 4.00 กี่คน มีเหรียญทองกี่คน หมอไม่ได้ว่าครับ อันนี้เรากำลังชมในมิตินี้ แต่หมอไม่เคยเลยว่ามีโรงเรียนสักตรงไหนบ้าง ที่เอาความดีของเด็ก คุณธรรมของเด็ก ขึ้นนำ เอาความเก่งไปไว้ทีหลัง เรามีคนเก่งอีกเยอะนะครับที่เห็นแก่ตัวสิ้นดี เรามีคนเก่งอีกเยอะนะครับ ที่พูดภาษาคนไม่รู้เรื่อง เพระาฉะนั้นถ้าอย่างนี้เราเอาความดีขึ้นนำไหม ถ้าแม้แต่ในรั้วโรงเรียน แม้แต่กระทรวงศึกษา ผู้นำสูงสุด ส่งสัญญาณพร้อมกันหมดเลย ว่าวันนี้เราจะเอาความดีขึ้นนำ ผมว่ากระแสจะเปลี่ยนครับ

 

นงวดี - ก็เรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นๆ แต่ว่าเข้มข้น คือนงจด จนมือระวิงเลยนะคะ เพราะว่าต้องกลับไปใช้กับลูกตัวเองเหมือนกัน ต้องบอกเด็กสมัยนี้ ตามที่คุณหมอบอกว่า อย่าไปว่าเด็กเขาไม่ได้เรื่อง เพราะเด็กเขาก็โตมา ไม่ได้โตด้วยคนเดียว เขาก็ต้องโตมากับสังคม สิ่งที่หมอใช้คือคำว่า ระบบนิเวศ เขาก็โตมากับสิ่งที่เราสร้างเขานั่นแหละ แต่ว่า ถามว่า ปัญหาของเด็กหรือว่าปัญหาของสังคม ณ ตอนนี้ แนวก็มองไปในอนาคตมันมีทางออกรึเปล่า ฟังคุณหมอแล้วมีทางออก แล้วไม่ยากด้วย แล้วสามารถเริ่มได้ที่ตัวเอง ในครัวเรือน

 

รศ.นพ.สุริยเดว - ใช่ครับ

 

นงวดี - ในฐานะที่เราเป็นคุณพ่อคุณแม่ ปรับระบบคดคิดซะใหม่ก่อนเริ่มต้น แล้วก็อย่าไปคิดว่าคนส่วนมากเขาทำอะไร เราอาจเป็นคนส่วนน้อย ส่วนแรกที่จนำสังคมในทิศทางที่สร้างแต่คนดีนะคุณหมอ

 

รศ.นพ.สุริยเดว - ผมฝากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอีกอันหนึ่ง ก็คือว่า ยุทธศาสตร์ทั้งหมด ที่มียุทธศาสตร์ 20 ปี รัฐต้องลงทุนกับมนุษย์ให้มากที่สุด ทรัพยากรมนุษย์ เพราะตรงนี้ แม้กระทั่งเรากำลังพูดถึงรากฐานทางสังคมทั้งหลายครับ ดีครับ ทำครับ อันนั้นต้องทำ แต่ทุนมนุษย์ Human Resource นี่คือแผนบลูพิสต์ ที่ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องทำให้ดีที่สุด แม้มันไม่ออกดอก ออกผลวันนี้ แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า ในอีก 20 เราจะมีลูกหลานของเรา ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะรักรากเหง้าของแผ่นดินครับ

 

นงวดี - เอาล่ะค่ะ เรากำลังต้องเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องนะคะ เรากำลังสร้างคนดี เป็นคนไทยที่ดีนะคะ แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่า หุ่นยนต์จะมาแทนที่ด้วยนะคะ ด้วยสิ่งที่หุ่นยนต์ไม่มีทางมีได้ 4 ข้อด้วยกันที่คุณหมอแนะนำไว้ ก็คือ เรื่องจิตนาการ แรงบันดาลใจ สายใยรัก และก็อย่าลืมคุณธรรมด้วยนะคะ สำหรับวันนี้ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ 

 

รศ.นพ.สุริยเดว - ครับ ยินดีครับ สวัสดีครับ 

 

นงวดี - หมดเวลาแล้วนะคะคนเคาะข่าวคืนวันนี้ เราพบกันทุกวันจันทร์ถึงวันพุธ 4 ทุ่มนะคะ วันนี้สวัสดีค่ะ

ที่มาของข่าว https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000085980
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก