ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

'กสม.'ห่วงสิทธิทำงาน'คนพิการ' ขาดข้อสอบอักษรเบรลล์เลื่อนขั้น

วันที่ลงข่าว: 24/08/18

          เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม2561 นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับเครือข่ายคนพิการทำให้ทราบถึงความก้าวหน้าที่น่าชื่นชมของการอำนวยการเข้าถึงสิทธิของคนพิการทางสายตาของสถาบันการเงินบางแห่ง ที่ได้วางระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางการเงินของคนพิการหลายประการ อาทิ การให้เจ้าหน้าที่ประจำสาขาเป็นพยานรับรองการเปิดบัญชีของคนพิการทางสายตาแทนญาติได้, การให้สิทธิคนพิการกู้ยืมเงินและซื้อขายหุ้นโดยไม่นำเหตุแห่งความพิการมาเป็นข้อพิจารณาในการกู้ยืมเงินและเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น หรือการอนุญาตให้คนพิการทางสาย ตาสามารถใช้ลายนิ้วมือหรือภาพถ่ายแทนการลงลายมือชื่อใน การทำบัตรเอทีเอ็ม

          นางฉัตรสุดากล่าวต่อว่า หวังว่าสถาบันการเงินทุกแห่งจะสามารถให้บริการคนพิการทางสายตาได้โดยไม่เลือกปฏิบัติ และมีเทคโนโลยีที่คนพิการทางสายตาสามารถเข้าถึงได้ เช่น อักษรเบรลล์ หนังสือเสียง และแอปพลิเคชันต่างๆ รวมทั้งปรับ ปรุงการให้บริการธุรกรรมการเงินที่สะดวกมากขึ้น

          "นอกจากนี้ยังมีประเด็นห่วงกังวลต่อการเข้าถึงสิทธิของคนพิการทางสายตา คือการจัดสอบภาษาอังกฤษเพื่อความก้าวหน้าในการรับราชการของหน่วยงานราชการ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนบาง แห่ง ซึ่งยังไม่มีข้อสอบอักษรเบรลล์เพื่อให้คนพิการทางสายตาสามารถเข้ารับการทดสอบ และนำผลการสอบไปใช้พิจารณา เลื่อนตำแหน่ง ทำให้คนพิการทางสายตาเข้าไม่ถึงสิทธิความก้าวหน้าในการรับราชการ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข" นางฉัตรสุดาระบุ

          เธอระบุว่า ทั้งนี้เพื่อให้ การอำนวยการเข้าถึงสิทธิของคนพิการเป็นไปอย่างทัดเทียมเสมอภาคกับคนทั่วไป และสอด คล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities: CRPD) ที่ประเทศ ไทยเป็นภาคี ซึ่งมีหลักการเช่นว่าคนพิการมีสิทธิ์ที่จะมีทรัพย์สิน และสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ นั้น กสม.จะได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเฉพาะต่อประเด็นการเข้าถึงสิทธิของคนพิการทางสายตาเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- พฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม 2561
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก