ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

งบประมาณสุขภาพปี 62 รวม 2.23 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%

วันที่ลงข่าว: 20/08/18

          เคาะแผนพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ปี 62 มุ่งเข้าถึงบริการ เพิ่มดูแลกลุ่มเปราะบาง ลดความเหลื่อมล้ำเผยงบประมาณด้านสุขภาพปี 62 ของ 7 หน่วยงาน อยู่ที่ 2.23 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายงบปี 61 แล้ว 99.3% เดินหน้าบูรณาการ 3 กองทุน

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 คณะที่ 5 องค์ประกอบ 5.2 การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ ครั้งที่ 2 มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

          พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการดำเนินงานการใช้จ่ายงบประมาณและการกำกับติดตามแผนบูรณาการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบที่มีความสอดคล้องกลมกลืนกัน โดยมุ่งเป้าหมายตัวชี้วัดไปยังการลดความแตกต่างของอัตราการใช้บริการผู้ป่วยในของผู้มีสิทธิแต่ละระบบ ไม่เกินร้อยละ 2.58 ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในปี 2561 ด้วยสาเหตุที่หลากหลาย อาทิ ช้า รอนาน ไม่แน่ใจคุณภาพยา และสิทธิสวัสดิการไม่ครอบคลุม เป็นต้น รวมถึงความสำเร็จของการบูรณาการระบบการบริหารจัดการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างระบบประกันสุขภาพภาครัฐ, ร้อยละของประชาชนมีหลักประกันสุขภาพ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 99.95 และร้อยละผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่มาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 24 ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา 

         ทั้งนี้ดำเนินการผ่าน 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาคกัน, โครงการพัฒนาเพื่อสร้างความเป็นธรรม ประสิทธิภาพ และความยั่งยืนด้านการเงินการคลังในระบบประกันสุขภาพ, โครงการพัฒนาเพื่อสร้างความกลมกลืนของการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบ, โครงการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับกลุ่มเป้าหมายตามแผนบูรณาการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ และโครงการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 

        สำหรับในปีงบประมาณ 2562 ภาพรวมงบประมาณด้านสุขภาพของ 7 หน่วยงานในระบบสุขภาพทั้งหมด ประกอบด้วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และสถาบัน รับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) อยู่ที่ 223,933.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 16,836.49 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.13

         พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนบูรณาการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ปีงบประมาณ 2561 โดยผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2561 ของทั้ง 5 กองทุนสุขภาพ ทั้งสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ และบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ภาพรวมการเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมายร้อยละ 99.37 มีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 205,783.21 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดจำนวน 207,096.60 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 61) ผลดำเนินการตามตัวชี้วัดที่เป็นเป้าหมายของการบูรณาการ นอกจากจำนวนครัวเรือนที่ยากจนหลังการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว โดยปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 0.29 ต่ำกว่าค่าตัวชี้วัดที่กำหนดร้อยละ 0.47 ยังมีความครอบคลุมของประชากรที่มีหลักประกันสุขภาพถึงร้อยละ 99.94

         ขณะที่การบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพ (กรมบัญชีกลาง สปส. และ สปสช.) มีความคืบหน้าไปมาก ทั้งระบบการจ่ายค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินโดยใช้การจ่ายตามรายการที่กำหนด (Fee schedule) ร่วมกัน การบริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทย การตรวจสอบคุณภาพบริการและจ่ายชดเชยที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน อาทิ การจัดทำคู่มือแผนดำเนินงานและการอบรมผู้ตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานเดียว การตรวจสอบคุณภาพการรักษาฯ ร่วมในโรคสำคัญ 179,919 ฉบับ การเชื่อมโยงระบบสารสนเทศเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมในทุกสิทธิ โดยจัดทำฐานทะเบียนกลางสวัสดิการหน่วยงานรัฐร่วมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนสิทธิ และการจัดทำระบบข้อมูลธุรกรรมการเบิกจ่ายและข้อมูลด้านสาธารณสุขการบริการข้อมูลร่วม 3 กองทุน ทั้งข้อมูลบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต บำบัดทดแทนไต และการป้องกันและรักษาเอดส์ เป็นต้น

        “ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมเน้นบูรณการลดความแตกต่างอัตราการใช้บริการผู้ป่วยในแต่ละระบบ ทั้งการกระจายความแออัดผู้ป่วย สร้างความเข้มแข็งให้กับโรงพยาบาลระดับท้องถิ่น และสร้างความมั่นใจคุณภาพการรักษา พร้อมขอให้ร่วมวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณอย่างครบถ้วน ให้รักษางบประมาณในระดับนี้ไว้ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร ลดความซ้ำซ้อนและใช้ยาที่จำเป็น เป็นต้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ขอฝากให้ช่วยกันดูแลกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไปม่ถึงสิทธิ ทั้งพระภิกษุสงฆ์ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างขับเคลื่อน กลุ่มผู้ต้งขัง ผู้พิการ และผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ที่มาของข่าว https://mgronline.com/qol/detail/9610000082429
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก