ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

"บิ๊กตู่" ตอกย้ำ "ประชารัฐ-ไทยนิยม" สร้างชาติมั่นคง-ยั่งยืน

วันที่ลงข่าว: 06/08/18

          "บิ๊กตู่" ชู "ประชารัฐ-ไทยนิยม" เป็นธงนำขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นรูปธรรม ตอกย้ำ "ยุทธศาสตร์ 20 ปี" วางรากฐานอนาคตประเทศ 6 ด้าน สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โวผลงานปฏิรูประบบราชการ ช่วยสางปัญหาเรื้อรังได้เพียบ ส่งผลให้ไทยถูกยกเป็นประเทศพัฒนาดีขึ้นอันดับ 2 ของโลกจาก 190 ประเทศ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนา อย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2561 เวลา 20.15 น.

 

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาตลอดรัชกาล โดยการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรแต่ละครั้งนั้น ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริ หลากหลายโครงการนะครับ ทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษา การศาสนา ศิลปวัฒนธรรมรวมทั้ง ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่ล้วนเป็นการยกระดับ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร  สภาพสังคม และ ความเจริญทางวัฒนธรรมของไทย ซึ่งสะท้อนให้เป็นที่ประจักษ์ ถึงพระปฐมบรมราชโองการ ที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ ที่จะทรงอนุรักษ์ป่า ดังพระราชปณิธานที่ว่า "พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า" ดังนี้แล้ว...โครงการอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่า สัตว์ทะเล จึงเกิดขึ้น และแผ่ขยายทั่วประเทศ

          อาทิ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ให้ชาวบ้านช่วยพิทักษ์รักษาผืนป่า และต้นน้ำ โครงการป่ารักน้ำ นำความชุ่มชื้นคืนให้ผืนแผ่นดินไทย อีกทั้งทรงสร้างจิตวิญญาณให้ป่า ด้วยการปล่อยสัตว์ป่าสู่ธรรมชาติทรงอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล และฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลให้เติบโตขึ้นเป็นอาหารชาวโลกเป็นต้น

         ในฐานะทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย พระองค์พระราชทานความช่วยเหลือ แก่ผู้เจ็บป่วยทั้งยามปกติ และยามฉุกเฉิน ทรงส่งเสริมให้ประชาชนบริจาคโลหิต อย่างแพร่หลาย พระราชทานโครงการหมอหมู่บ้าน หน่วยแพทย์พระราชทาน ทรงรับคนไข้ยากจนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทรงก่อตั้งมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่วยเหลือทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ที่บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ

          ทรงตระหนักในความสำคัญของการศึกษาและ โปรดให้คนไทยทุกคนรู้หนังสือ ทรงสอนเด็กชาวบ้านให้หัดเขียน หัดอ่าน ทรงอบรมให้เป็นคนดี มีความรักชาติรักแผ่นดินเกิด โปรดให้ชาวบ้านในท้องที่ห่างไกล ได้รับความรู้เพิ่มเติม อันเป็นจุดเริ่มต้นการจัดตั้ง "ศาลารวมใจ" โดยพระราชทานหนังสือความรู้สาขาต่างๆไว้ ณ ศาลาเหล่านี้ ทรงสนับสนุนการสร้างโรงเรียน ในถิ่นทุรกันดาร และ พระราชทานทุนการศึกษาแก่เด็กที่ครอบครัวยากจน

          นอกจากนี้ ทรงส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพเสริม ด้วยการฝึกหัดงานหัตถกรรมทั้งงานทอ ถัก จัก สาน  ปัก ปั้น ตกแต่ง และ อีกหลากหลายชนิด ต่อมาพัฒนาเป็นโครงการศิลปาชีพ ซึ่งสร้างอาชีพ และรายได้ แก่ราษฎรหลายล้านคน และเป็นที่มาแห่ง "งานศิลป์แผ่นดิน" เผยแพร่งานศิลปะของชาติ ให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

          ซึ่งในปีนี้รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม กำหนดจัดงาน "มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 อัคราภิรักษศิลปิน"ระหว่างวันที่ 3 - 5 สิงหาคม ศกนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์

          ในฐานะที่ทรงเป็น "อัคราภิรักษศิลปิน" อันหมายถึง "ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ" ที่ทรงนำมิติทางวัฒนธรรม มาส่งเสริมอาชีพ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย ให้อยู่ดีกินดี อีกทั้งยังส่งผลต่อการอนุรักษ์ ส่งเสริม และฟื้นฟู มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย

          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้ พระเกียรติคุณ อันแผ่ไพศาลสถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ สมาคม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญากิตติมศักดิ์ เกียรติบัตร เหรียญ รางวัล เป็นจำนวนมาก รวมทั้ง น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญานาม

          ซึ่งล้วนแสดงถึงพระอัจฉริยภาพ พระราชจริยวัตร และ น้ำพระราชหฤทัย ที่เปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม ศกนี้ รัฐบาลขอเชิญชวน พสกนิกรชาวไทย ทุกหมู่เหล่า น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระพรชัยมงคล ให้ทรงพระเกษมสำราญ บริบูรณ์ด้วยพระจตุรพิธพรชัย เป็นพระมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมอาณาประชาราษฎร์ ตราบนาน เท่านานนะครับ

          พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ, ในการขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย ทุกภาคส่วน ต่างก็มีหน้าที่ มีความรับผิดชอบของตนนะครับ แต่การจะแก้ปัญหาให้ได้อย่างเป็น รูปธรรมนั้น ต้องอาศัยการทำงาน "บูรณาการกัน" นะครับ ให้กลมเกลียวอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเน้นย้ำอยู่เสมอ และพยายามปรับวัฒนธรรมการทำงานของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง

          เพื่อให้ทุกฝ่ายพร้อมที่จะร่วมกันทำงาน เพื่อจะวางรากฐานและขับเคลื่อน "อนาคตของประเทศ" ไปด้วยกัน ทั้งนี้ ในการสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายนั้น จำเป็นต้องมี "หลักคิด" ที่ตรงกัน ในการตอบคำถาม 3 ประเด็นหลักๆ ดังนี้นะครับ

          ประเด็นแรก ก็คือว่า ทำไมเราต้องมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาอยู่แล้ว เป็นของ สภาพัฒน์ฯ นะครับ แต่ละกระทรวง ก็มีแผนการทำงานที่กำหนดไว้แล้ว ก่อนอื่นผมขอให้ลองมองปัญหาที่ประเทศเผชิญอยู่ในปัจจุบันนะครับ ทั้งการเปลี่ยน แปลงภายนอกประเทศ ที่เราจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้อง

          เช่น การปรับเปลี่ยนนโยบายต่าง ประเทศของประเทศมหาอำนาจ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามไปสู่การค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงนะครับ กับเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา ประเทศขนาดเล็ก ที่จำเป็นต้องพึ่งพาการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไทยนั้น เราได้เจอกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก

          นอกจากนี้ เรายังมีปัญหา เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศเองนะครับ ที่หยั่งรากลึกมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะในเรื่องความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ที่เรายังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้อย่างยั่งยืน ภาคธุรกิจยังมีข้อจำกัด ในการที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก เราขาดการลงทุนขนาดใหญ่เพื่ออนาคตในโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญของประเทศ รวมไปถึง เตรียมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านะครับซึ่งเรายังคงขาดการเตรียมการเพื่อรองรับสภาพสังคมดังกล่าวนะครับ

          เราอาจจะเตรียมการยังไม่ได้ดีนักนะครับ แต่เราต้องเร่งดำเนินการในเรื่องเหล่านี้นะครับ ทั้งในด้านแรงงาน การออม และระบบสาธารณสุข เป็นต้น ปัญหาต่าง ๆ ที่ผมกล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งนะครับ ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ ซึ่งการจะนำพาประเทศให้ผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้ ทุกฝ่ายจะต้องมีเป้าหมายเดียวกันนะครับ ต้องมองภาพเดียวกัน ให้เกิดขึ้น  โดยภาพนั้น ก็หมายถึง "ภาพอนาคตประเทศไทย" นะครับ ที่พวกเราอยากเห็น อยากจะสร้างไว้ให้กับลูกหลานของเรานั่นเอง

          เมื่อพูดถึงอนาคตของประเทศไทย หลายท่านอาจจินตนาการนะครับ นึกถึงภาพของประเทศไทยที่แตกต่างกันออกไป เช่น เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนอยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน มีโอกาส มีความเสมอภาคในการพัฒนาตนเอง มีระบบสวัสดิการของรัฐที่จำเป็นในการดำรงชีพ อย่างพอเพียงและเหมาะสม เช่น การศึกษา สาธารณสุข การบริการพื้นฐานต่างๆ

          บ้านเมืองมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม ปลอดภัยนะครับ มีสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต รวมถึงการคมนาคม มีระบบขนส่งมวลชน  มีรถไฟฟ้า รถไฟ ที่มากขึ้นและเพียงพอ ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ที่สามารถใช้บริการเหล่านี้ได้นะครับ แล้วประชาชนต้องเคารพกฎหมาย อยู่ในศีลธรรม และ จริยธรรมอันดีงาม ตามแบบแผนวัฒนธรรมไทยที่มีมาอย่างยาวนาน

          ซึ่งการจะเดินไปสู่อนาคตที่ดีของประเทศไทยนั้น ที่จะให้เป็นประเทศที่ดีของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สามารถทำได้นะครับ โดยประชาชน 70 ล้านคน จะต้องมีความรับรู้ ความเข้าใจที่ตรงกัน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเป็นสิ่งที่จะมาช่วยตอบโจทย์ดังกล่าว ด้วยการกำหนดเป้าหมาย และภาพอนาคตที่เราต้องการเห็น ในอีก 20 ปีข้างหน้า

         เด็กที่เกิดในวันนี้นะครับ จะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ในภาวะแวดล้อมของประเทศ ที่จะเอื้อให้พวกเขาสามารถมีความเป็นอยู่และรายได้ที่มั่นคง มีเครื่องมือที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเลือกประกอบอาชีพใด เพื่อจะสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิตได้อย่างยั่งยืน และต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งก็คือ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเสมอภาคและเป็นธรรม บนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน"

         โดยได้ออกแบบเป้าหมายที่ต้องบรรลุเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ ที่ประกอบกันออกมานะครับ ให้เป็น "อนาคตของประเทศ"  6 ด้านที่สอดรับกัน เริ่มจาก
(1) คนไทยอยู่ดีมีสุขและสังคมไทยสงบ มั่นคง ปลอดภัยนะครับ

(2) ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้ที่เหมาะสมนะครับ

(3) ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมและทั่วถึง

(4) สังคมไทยมีความเท่าเทียมและความเสมอภาค

(5) ประเทศมีความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ

และ (6) การบริหารจัดการของภาครัฐมีประสิทธิภาพ และประชาชนเข้าถึงสะดวก

          ซึ่งเหล่านี้ เป็นเป้าหมายที่จะถูกนำไปใช้ เป็น "กรอบความคิด" ในการจัดทำแผนงานของภาครัฐ แผนปฏิรูปประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสภาพัฒน์ฯ ในการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ไปสู่ภาพอนาคตของประเทศ "ระยะยาว" แล้วก็ถือเป็นการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันด้วยนะครับ

          พี่น้องประชาชนที่รักครับ, ผมขอเรียนว่าการมียุทธศาสตร์ประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศมีและได้ใช้ยุทธศาสตร์เป็นเป้าหมายในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศมานานแล้ว อาทิเช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยนะครับ ที่เราจะมีแผนในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ในระยะยาว

          ซึ่งผมและรัฐบาลนี้ มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเร่งดำเนินการตามแผนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ประเทศมีรากฐาน และเป้าหมายในการทำงาน ให้สามารถเดินหน้าและต่อยอดในระยะต่อไปได้  การที่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีกฎหมายรองรับ ก็เป็นอีกความตั้งใจที่จะสะท้อนความสำคัญและความมุ่งมั่นของภาครัฐ ที่จะทำให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

          ไม่ได้เป็นการล็อค หรือบังคับให้ใครต้องทำอะไร อย่างที่หลายฝ่ายนำมาบิดเบือน โจมตี ในขณะนี้นะครับ เพราะกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้วว่า เมื่อสถานการณ์หรือปัจจัยแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งต้องเปลี่ยนไป ยุทธศาสตร์ชาติก็สามารถจะได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ได้

          แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายและน่ากังวลมากกว่า ก็คือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้สำเร็จผลตามที่กำหนดไว้ เพราะไม่ว่ายุทธศาสตร์ชาติจะเขียนดีแค่ไหน มีการปรับให้ทันสมัยเพียงใด แต่หากทุกคนไม่ยอมรับ ไม่ช่วยกันนำไปขับเคลื่อน ตามภาระหน้าที่ของตน เป้าหมายหรือ "ภาพอนาคต" ที่วาดหวังไว้นั้น ก็คงเป็นได้แค่เพียง "ความฝัน" นะครับ

          พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ, ประเด็นที่สอง ที่ผมอยากจะหยิบยกเพื่อชวนทุกท่านให้ช่วยกันคิดนะครับ คือ เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน อันจะช่วยให้เราก้าวไปสู่อนาคตของประเทศที่เราต้องการ ได้อย่างไร...?

อาทิ (1) การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนสำคัญของชาตินะครับ (National Agenda)

(2) การบริหารราชการตาม กฎหมาย อำนาจ หน้าที่ (function) การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพ การบริหารราชการแผ่นดิน การช่วยเหลือประชาชน

(3) การเดินหน้ากระบวนการปฏิรูปในเรื่องสำคัญต่าง ๆ

และ (4) การขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดไว้ ซึ่งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาที่เรื้อรังมานานในหลายๆ ด้านนะครับ ทั้งปัญหาความขัดแย้งในทางการเมือง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมไปถึงการไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศได้ 

          ปัญหาเหล่านี้ถูกเพิกเฉยและละเลย จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ยากต่อการแก้ไข ส่งผลต่อภาพลักษณ์และการยอมรับจากประชาคมโลก และบั่นทอนบรรยากาศความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุน จนกลายเป็นปัจจัยที่คอยฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าบ้านเมือง เห็นได้จากอัตราการเจริญเติบโต (GDP) ไตรมาสแรกของปี 2557 ช่วงก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ ที่หดตัวหรือ "ติดลบ" ร้อยละ 0.5 นะครับ

          เมื่อรัฐบาลนี้ เข้ามาบริหารประเทศ ช่วงเดือน ก.ย. 57 จึงได้ให้ความสำคัญกับการเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประชาชน และประเทศชาติ "โดยรวม" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเร่งสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นก่อน เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข ธุรกิจและห้างร้านต่างๆ สามารถกลับมาค้าขายได้อย่างคล่องตัว

          นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ริเริ่มการปฏิรูประบบราชการ และกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เป็นอุปสรรคและสาเหตุสำคัญของปัญหา ที่เรื้อรังหลายเรื่อง เช่น ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกำหนดให้มีกลไกในการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนนะครับ โดยลดขั้นตอนและขจัดข้อขัดข้องที่เกิดจากกฎหมายและระเบียบต่างๆ

         รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยได้นำผู้กระทำผิดกฎหมายมาลงโทษ การจัดให้มีสัญญาคุณธรรมมีระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อจะลดการทุจริตคอร์รัปชั่น ไปจนถึงการปรับระเบียบ กฎหมาย กฎเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถประกอบการได้สะดวกขึ้นนะครับ

          ทั้งนี้ผลจากการปฏิรูปและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานตามแนวทางดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบัน ปัญหาต่างๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น สถานะของประเทศไทยในเวทีโลก ได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ. 2018 นะครับ TIP Report  ที่ไทยได้รับการปรับระดับขึ้น มาเป็น Tier 2 เช่นเดียวกับ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมาย CITES

          การทำประมงผิดกฎหมาย IUU Fishing และ การแก้ไขข้อบกพร่องด้านการบินพลเรือน ICAO  ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งนะครับ แล้วก็เร่งแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่น่าพอใจและ ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้ปรับอันดับในเรื่อง Ease of doing business ของประเทศไทย จากที่เคยอยู่อันดับที่ 46 มาเป็นอันดับที่ 26 ในปีล่าสุด ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีการพัฒนาดีขึ้นอันดับ 2 ของโลกนะครับ หรือจาก 190 ประเทศ อีกด้วย

          นอกจากการเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนะครับ รัฐบาลยังได้ริเริ่มการปฏิรูปงานด้านอื่น ๆ เพื่อปรับโครงสร้าง และวางรากฐานที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อวางเป้าหมาย และภาพในอนาคต ของประเทศ ผมขอยกตัวอย่างการปฏิรูปที่สำคัญนะครับ เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นปัญหาที่สั่งสมมาในอดีต และสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะปฏิรูปและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ได้แก่

          1. การปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทุกท่านคงทราบดีว่า ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขาดความสมดุลเนื่องจากเราเน้นในเรื่องการพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก การกระจายรายได้ไปสู่ฐานรากยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคการเกษตร ขาดการวางแผนการลงทุน ขาดการทำโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นเวลาหลายสิบปีนะครับ

         เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศจึงมีนโยบายในการปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าการส่งออกจะยังเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ก็เป็นปัจจัยสำคัญนะครับ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยให้ประเทศสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลจึงได้ริเริ่มโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

         โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับผลผลิตภาคเกษตรกรรม เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมชั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร นอกจากนี้การพัฒนาพื้นที่ EEC ยังก่อให้เกิด การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการอีกด้วย

         นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน "ด้านคมนาคม" ที่จะเป็นรากฐานสำคัญให้กับการเจริญเติบโตในอนาคต  อาทิ...

(1) ทางราง ภายในปี 2565 อีก 4 ปีข้างหน้า เราจะได้ใช้บริการ...

• โครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ที่ไม่ได้มีการลงทุนเป็นเวลากว่า 117  ปี นะครับ ซึ่งเมื่อดำเนินการทั้งหมดแล้ว ประเทศไทยจะมีรถไฟ "ทางคู่" เพิ่มขึ้นเป็น 3,528 กม. จากเดิมที่มีอยู่เพียง 358 กม.

• รถไฟความเร็วสูง ที่นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งทั้งเส้นทาง กทม.-นครราชสีมา โครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-เชียงใหม่ ระยะต่อไปนะครับ และโครงการ รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินหลักของประเทศ คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ใรเรื่องของรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือนะครับ ก็คงต้องศึกษากันต่อไปนะครับ เพราะมีปัญหาในเรื่องของความคุ้มค่า คุ้มทุนด้วย ตอนนี้อย่างน้อยเราก็มี 1 เส้น ไปก่อนนะครับ

• รถไฟฟ้า กทม. และปริมณฑล ที่จะเพิ่มรถไฟฟ้าให้เป็น 11 เส้นทาง

(2) ทางถนน ได้มีการเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญไปยังพื้นที่ต่างๆ และประเทศเพื่อนบ้านนะครับ มีทั้งการขยายเพิ่มทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางพิเศษ 2 เส้นทาง พัฒนาทางหลวงชนบท เพื่อแก้ปัญหาจราจร เพิ่มสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ เพิ่มสะพานข้ามหรือลอดอุโมงค์ทางรถไฟ เพื่อลดอุบัติเหตุและการสูญเสีย ที่เห็นเป็นประจำ

(3) ทางน้ำ เพิ่มท่าเรือน้ำลึก อีก 6 แห่ง จากเดิม 18 แห่ง พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งเพิ่มการเดินเรือเชื่อมพัทยา-หัวหิน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล

และ (4) ทางอากาศ เพิ่มท่าอากาศยานเบตง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินทั่วประเทศ ให้สามารถรองรับเที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 320,000 เที่ยวบินต่อปี และรองรับผู้โดยสารรวมทุกสนามบินมากขึ้น ราว 70 ล้านคนต่อปี

         นอกจากนี้ ยังมีมาตรการรองรับทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการวางรากฐานและช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยนะครับ ให้สามารถปรับตัวยกระดับการดำรงชีวิต ในช่วงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศในหลายมิติ

เช่น การเข้าถึงสินเชื่อและเงินทุนเพื่อการประกอบการและใช้จ่ายฉุกเฉิน มาตรการสนับสนุนผ่านการร่วมลงทุนการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ในการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

รวมถึงมาตรการช่วยเหลือในเรื่องหนี้ อนุมัติให้พักชำระหนี้หรือขยายเวลาชำระหนี้ กว่า 10,000 ราย รวมถึงการจัดตั้ง "โครงการคลินิกแก้หนี้" เพื่อให้บริการประชาชนที่ไม่สามารถชำระหนี้กับสถาบันการเงินได้

ขณะเดียวกัน ก็มีการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจังนะครับ ซึ่งก็จะเป็นรากฐานที่จำเป็น ต่อการเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป ทั้งนี้ ผลงานจากการวางรากฐานการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

         การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปี 2560 และมีมูลค่าเงินลงทุน 284,600 ล้านบาท การส่งออกใน 6 เดือนแรกของปีขยายตัวร้อยละ 11

และ จำนวนนักท่องเที่ยวครึ่งแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 จากครึ่งแรกของปีก่อนหน้า และทำให้คาดว่า GDP ของประเทศปี 2561 จะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 4.2 - 4.7 นะครับ

ในการปฏิรูปภาคการเกษตร ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญและเกิดขึ้นซ้ำซาก ต้นตอนหรือต้นเหตุของปัญหา คือการส่งเสริมการผลิตโดยการวางรากฐาน ไม่มีการบริหารจัดการผลผลิตที่ออกสู่ตลาด

ที่ผ่านมา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ มักจะใช้มาตรการในการที่จะแทรกแซง บิดเบือนกลไกตลาด โดยการอุดหนุนราคา ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดผลในเรื่องของการขาดทุนและสร้างภาระงบประมาณให้กับประเทศแล้ว  ยังส่งผลให้เกษตรกรไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีการพัฒนาผลผลิตและคุณภาพ

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น รัฐบาลได้ใช้หลักการ"ตลาดนำการผลิต" โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการบริหารจัดการราคาสินค้าเกษตรภายใต้กฎกติกาสากลให้กับเกษตรกร

เช่น โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโครงการประกันภัยข้าวนาปี การบริหารจัดการอุปทานในตลาดข้าวทำให้ปัจจุบัน ราคาข้าวที่ขายได้กระเตื้องขึ้นจากเดิม อย่างต่อเนื่อง โครงการพักชำระหนี้เงินต้น และลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และการจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร ได้จัดที่ดินทำกิน ผ่านคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.)

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยใช้แผนที่เกษตร (Agri-Map) นะครับ เข้ามาช่วย ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิต และ การรวมกลุ่มเกษตรกรผ่านการส่งเสริมการทำ "เกษตรแปลงใหญ่"

รวมทั้ง การยกระดับมาตรฐานสินค้า เช่น มาตรฐาน GAP หรือ การพัฒนาสู่การทำเกษตรอินทรีย์ต่อไปนะครับ การเพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์ ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้โดย  ไม่ต้องรอแต่ความช่วยเหลือของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ และไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือของพ่อค้าคนกลาง โรงสี หรือนายทุน อย่างเช่นในอดีต เราต้องเปิดช่องทางนี้ขึ้นมาให้ได้นะครับของเกษตรกรเอง

การปฏิรูปด้านสังคมและความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงมาก มีปัญหาในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการ รัฐบาลให้ความสำคัญนะครับ กับการสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคให้คนทุกกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การดูแลประชาชนตั้งแต่วัยแรกเกิด โดยมอบเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูให้กับครอบครัวยากจน

        โครงการจ้างงานเร่งด่วน  การพัฒนาทักษะฝีมือ การส่งเสริมการจ้างงานและเพิ่มเบี้ยยังชีพให้คนพิการและผู้สูงอายุ การจัดระเบียบและการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนขอทาน คนเร่ร่อนและไร้ที่พึ่ง การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัดและการพัฒนาโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองนะครับ เราก็ต้องมีการพัฒนาให้กับข้าราชการเขาด้วย ที่อยู่อาศัยต่างๆ ก็ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นะครับ ต้องหาวิธีดำเนินการให้ได้ ข้าราชการก็เป็นส่วนสำคัญนะครับ ต้องดูแลไปด้วย

         ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ที่ได้ริเริ่มโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ในการจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและค่าเดินทาง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งเน้นการสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และภาคธุรกิจ ได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สามารถประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ ภายใต้โลกใหม่ ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นนะครับ

          เช่น โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ที่จะเป็นฐานในการปรับตัวของชุมชน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการค้าขายออนไลน์ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทางการค้า หรือการบริโภคในรูปแบบใหม่ ๆ หรือ supply chain นะครับ ห่วงโซ่ที่ว่านะครับ ที่จะเชื่อมโยงกับโลกให้มากขึ้นกว่าเดิม

         ทั้งหมดนี้ เพราะรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดูแลประชาชนทุกคนให้มีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนะครับ จากตัวอย่างการปฏิรูป 2 -3 เรื่อง ที่ผมได้กล่าวมานั้นจะเห็นว่าหลายเรื่องที่รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงได้ ก็เป็นผลพวงมาจากความร่วมมือ ร่วมใจกันของทุกฝ่ายๆ ที่เกี่ยวข้อง

        โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือจากภาคประชาสังคมและประชาชน ซึ่งกลไกความร่วมมือนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญของคำว่า "ประชารัฐ" ที่รัฐบาลนี้ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายและงานที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยหัวใจสำคัญของแนวทางประชารัฐ ก็คือ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับรู้และมีความเข้าใจถึงปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ร่วมกันคิดและหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งนะครับ

         นอกจากนี้ยังเป็นกลไกที่สำคัญในการช่วยตรวจสอบ ประเมินผล รวมถึงสะท้อนแนวคิดในการแก้ปัญหาจากทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม เพราะว่าการริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ นั้น ย่อมมีปัญหา มีอุปสรรคในช่วงเริ่มต้นเป็นธรรมดานะครับ แต่เราทุกคนต้องกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้น แล้วก็นำปัญหาไปสู่การแก้ไข ใช้สติปัญญานะครับในการแก้ไข  และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีและยั่งยืนให้มากขึ้นด้วย

         พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ, ประเด็นที่สาม ที่ผมอยากเล่าให้ฟังในวันนี้ ก็คือทำไมเราต้องพัฒนาประเทศด้วยแนวคิดไทยนิยม ? แนวคิดเรื่องไทยนิยม นั้นไม่ใช่การสร้างกระแสชาตินิยม และก็ไม่ใช่ประชานิยม

ที่มาของข่าว http://www.banmuang.co.th/news/politic/120459
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก