ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ทันตแพทยสภา-สปสช. ดูงาน “ทันตกรรม รพ.น่าน”พัฒนาศักยภาพ ดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่

วันที่ลงข่าว: 06/08/18

        ทันตแพทยสภา-สปสช.รุกดูงาน “ทันตกรรม รพ.น่าน” พัฒนาศักยภาพผ่าตัดและดูแล “ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่” ต่อเนื่อง เผย 10 ปี ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา แก้ไขความพิการ ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานตลอดชีวิต พร้อมพัฒนางานทันตกรรมเชิงรุก จัดทีมบริการที่ รพ.สต. ใส่ฟันเทียมผู้สูงอายุ ลดปัญหาหมอฟันเถื่อนในพื้นที่     

        ทันตแพทยสภาโดย ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้นำคณะทันตแพทยสภาและผู้บริหาร สปสช.เยี่ยมชมการให้บริการ “ผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่” โรงพยาบาลน่านเพื่อดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในพื้นที่ โดยมี นพ.ภราดร มงคลจาตุรงค์ ผอ.รพ.น่าน และ ทพญ.ดวงนภา คูอาริยะกุล ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม รพ.น่าน ให้การต้อนรับและให้ข้อมูล พร้อมเยี่ยมชมบริการทันตกรรม รพ.นาน้อย

        ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ภาวะ “ปากแหว่งเพดานโหว่” เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของการเจริญของใบหน้าระหว่างการตั้งครรภ์ โดยอุบัติการณ์ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ปัจจุบันและในอดีตไม่แตกต่างกันมาก 

        ภาพรวมทั้งประเทศของแต่ละปีจะอยู่ที่ 1.8-2 รายต่อทารกพันรายของการเกิดมีชีพ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ควรได้รับการรักษาโดยเร็วตั้งแต่อายุ 3 เดือนและไม่ควรเกินอายุ 3 ปี ทั้งต้องได้รับการผ่าตัดต่อเนื่องที่เป็นไปตามเกณฑ์อายุเพื่อแก้ไขและลดความพิการให้กลับเป็นปกติได้ ในอดีตผู้ป่วยกลุ่มนี้มีปัญหาการเข้าถึงการรักษา นอกจากค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรคแล้ว ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการ เพราะด้วยความห่างไกลจากหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการให้บริการ

       ทั้งนี้พื้นที่ จ.น่าน เมื่อช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่จะต้องเดินทางไปรับการผ่าตัดและรักษาต่อเนื่องที่ รพ.ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ด้วยระยะทางห่างไกล มีภูมิประเทศลักษณะเป็นภูเขา ประกอบกับผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาวเขา มีฐานะยากจน ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาเพื่อแก้ไขจนทำเกิดความพิการไปตลอดชีวิต

        ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ แม้ว่าจะเป็นความพิการตั้งแต่แรกเกิด แต่สามารถแก้ไขเพื่อผู้ป่วยให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติได้ ยิ่งได้รับการผ่าตัดโดยเร็วตั้งแต่แรกเกิดจะยิ่งมีประสิทธิผลในการรักษา ดังนั้น บอร์ด สปสช.จึงได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ “การแก้ไขปัญหาความพิการจากภาวะปากแหว่งเพดานโหว่” ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่การผ่าตัดรักษา การฟื้นฟูและแก้ไขการพูด บริการทันตกรรมจัดฟันสำหรับผู้ป่วย เป็นต้น โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการที่มีศักยภาพบริการ และองค์กรวิชาชีพด้านทันตกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ทั่วประเทศได้รับการผ่าตัดรักษา   

        จากข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2558- 30 เมษายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,311 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับบริการจัดฟัน (ในรายที่จำเป็น) จำนวน 1,667 ราย รับการฝึกพูดจำนวน 2,965 ราย และยืดถ่างขยายกระดูกใบหน้าและกระโหลกศรีษะ (Maxillary Distractor) จำนวน 21 ราย   

        ด้าน ทพญ.ดวง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ รพ.น่าน มาจากการเห็นผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้าไปถึงบริการ เนื่องจากติดข้อจำกัดไม่สามารถไปรับการรักษาที่ รพ.ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ ต้องกลายเป็นผู้พิการไปตลอดชีวิต ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถแก้ไขโดยการผ่าตัด หากได้รับการรักษาทันท่วงที   ทีมผู้บริหารโรงพยาบาลน่าน  ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว ได้พัฒนาศักยภาพทีมงาน ถึงแม้โรงพยาบาลน่านจะไม่มีแพทย์เฉพาะทางสาขา Plastic surgery แต่ด้วยความสามารถของ ทพญ.วิภาวรรณ พึ่งวารี ทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยกรรมช่องปากและแมกซิลโลเฟเชียลได้ร่วมกับ ทีมสหสาขาวิชาชีพ อาทิ แพทย์สาขา ENT พยาบาล  นักกายภาพบำบัด เป็นต้น  ได้ร่วมกันเพื่อดูแลเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ เหล่านี้อย่างต่อเนื่องครบวงจร ทั้งการผ่าตัดปิดรอยโหว่ การจัดฟัน การฟื้นฟู และการฝึกพูด ให้สามารถเติบโตในสังคมได้  และได้จัดตั้งกองทุน เติมยิ้ม อิ่มใจ  โดยความร่วมมือจากภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนเป็นค่าเดินทางในการมาโรงพยาบาลสำหรับครอบครัวที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี  ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดรักษาต่อเนื่อง ถึงปัจจุบันนี้มียอดผู้ป่วยประมาณ 130 กว่าราย

        “ในการรักษากรณีที่เด็กแรกคลอดมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ หากเด็กมีสุขภาพที่แข็งแรงพอ ทางแพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดทันทีเพื่อช่วยให้เด็กกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามารถดูดนมแม่ได้และไม่สำลัก พร้อมให้การดูแลและรักษาต่อเนื่อง ซึ่งการที่ รพ.น่านสามารถผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ได้ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกล ช่วยลดค่าใช้จ่ายเดินทางได้มาก จนปัจจุบันในพื้นที่ไม่มีเด็กที่อยู่ในสภาพปากแหว่งเพดานโหว่แล้ว เนื่องจากได้รับการรักษาแล้วทั้งหมด”     

          ทั้งนี้ คณะทันตแพทยสภาและผู้บริหาร สปสช. ยังได้เยี่ยมชมงานบริการทันตกรรม รพ.นาน้อย และ รพ.สต.ขุนสถาน จ.น่าน ที่จัดบริการเชิงรุกใส่ฟันเทียมให้กับชาวบ้านที่เส่วนใหญ่เป็นชาวเขา และเป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้เข้าถึงบริการ มีฟันบดเคี้ยวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ที่มาของข่าว http://www.banmuang.co.th/news/bangkok/120438
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก