ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และประเมินร่างกายเด็กพิการที่ควรได้รับการรักษาด้วยอุปกรณ์รองเท้าฝึกเดิน ภายใต้กิจกรรม “เก้าอี้สุขใจ สู่รองเท้าคู่แรก”

วันที่ลงข่าว: 02/08/18

          ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และประเมินร่างกายเด็กพิการที่ควรได้รับการรักษาด้วยอุปกรณ์รองเท้าฝึกเดิน ภายใต้กิจกรรม “เก้าอี้สุขใจ สู่รองเท้าคู่แรก” สนองแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูสภาพครอบครัวเด็กพิการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          ที่โรงพยาบาลยะลา นายบุญธรรม มุณีกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมพบปะพูดคุยสร้างกำลังใจแก่ครอบครัวเด็กพิการเพื่อตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และประเมินร่างกายเด็กพิการที่สมควรได้รับการรักษาด้วยอุปกรณ์รองเท้าฝึกเดิน ภายใต้กิจกรรม “เก้าอี้สุขใจ สู่รองเท้าคู่แรก” สนองแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพครอบครัวเด็กพิการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ดร.เชิดพงศ์ หังสสูต แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู คลินิกสุขภาพเท้า และคณะ เจ้าหน้าที่สำนักประสานนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ศอ.บต. เข้าร่วม

นายบุญธรรม มุณีกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ดำริให้ช่วยเหลือเด็กพิการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุน การช่วยเหลือครั้งนี้ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมงานที่เข้ามาทำงานในการปรับรองเท้า และแนะนำฟื้นฟูสภาพร่างกายของเด็ก

          ซึ่ง ศอ.บต. ได้ดำเนินการต่อเนื่อง เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เด็ก ๆ ที่เคยติดเตียงบางคนสามารถเดินได้แล้ว สิ่งสำคัญ คือ ต้องได้รับความร่วมมือจากครอบครัวคือพ่อและแม่ ต้องช่วยเหลือดูแลเอาใจใส่ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ พี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับว่ามีความโชคดีที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยพี่น้องประชาชน

          ด้าน ดร.เชิดพงศ์ หังสสูต แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู คลินิกสุขภาพเท้า กล่าวว่า อาการผิดปกติของเด็กเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความผิดปกติขณะคลอด ขณะที่ยังมีอายุน้อย ทำให้สมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่ซึ่งเรียกว่าสมองพิการ ในเรื่องพัฒนาการของเด็กจะมีขั้นตอนในการพัฒนาการอยู่ แต่ถ้าเด็กเมื่อถึงอายุแต่ไม่มีการพัฒนาตามเกณฑ์เราจะเรียกว่ามีพัฒนาการช้า และต้องได้รับการวิเคราะห์ถึงสาเหตุต้องดูศักยภาพของเด็กว่า จะสามารถพัฒนาเพื่อให้ก้าวไปสู่พัฒนาการในขั้นตอนถัดไปได้หรือไม่ ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือจากนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟู หมอเด็ก เรื่องของภาวะทุพโภชนาการ

          ซึ่งครอบครัวต้องเข้ามาร่วมในกระบวนการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการฝึกสอน การกายภาพเท้า และกระตุ้นพัฒนาการต่าง ๆ บางคนอาจจะไม่สามารถจับช้อนได้ เนื่องจากมือมีอาการเกร็ง อ่อนแรง จึงจำเป็นต้องฝึกพัฒนาเพื่อให้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ มีความแข็งแรง กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ๆ สามารถทรงตัว ยืน เดิน การกายภาพบำบัดจะช่วยได้มาก รวมถึงนวดแผนไทย โดยในแต่ละรายจะตั้งเป้าหมายในการรักษา และมีการติดตามผลต่อไป

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก