ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: ผลกระทบจากการนำเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

วันที่ลงข่าว: 09/07/18

          ประเด็นการสนับสนุนโครงการ : ตามระเบียบของกองทุน ส่งเสริมฯ หน่วยงานผู้ขอรับเงินสนับสนุนต้องเสนอเป็นโครงการต่อกองทุนโดยคณะกรรมการกองทุนฯ หรือคณะอนุกรรมการประจำจังหวัดเพื่อพิจารณาอนุมัติ แต่กรณีศูนย์บริการคนพิการทั่วไปต้องเสนอโครงการเข้ามาก่อนเดือนกันยายน ช่วงเดือนกรกฎาคมสิงหาคม เพื่อนำเข้าคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ และจะดำเนินการเบิกจ่ายเงินเมื่อจัดสรรงบประมาณในปีถัดไป ที่ผ่านมาศูนย์บริการคนพิการทั่วไปจะเสนอโครงการประมาณเดือนธันวาคมพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเวลางบประมาณที่เกิดขึ้นแล้ว และตามระเบียบกองทุนส่งเสริมฯ โครงการก็จะไม่สามารถอนุมัติย้อนหลังได้ ดังนั้น ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปที่จะได้รับอนุมัติงบประมาณโครงการครบ ๑๒ เดือน ก็จะต้องเสนอโครงการมาก่อนสิ้นปีงบประมาณ โดยจะระบุไว้ว่างบประมาณจะเบิกจ่ายได้ เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณมาแล้ว ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ตุลาคมของปีดังกล่าว หากองค์กรคนพิการเสนอโครงการมาในเดือนพฤศจิกายนก็จะได้รับงบประมาณได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จนถึงเดือนกันยายนของปีถัดไปจะไม่สามารถเบิกย้อนหลังได้

          ประเด็นผลการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมฯ : การดำเนินงานของ พก. มีการใช้จ่ายเงินอยู่ประมาณ ๑-๒ พันล้านบาท ปัจจุบันตัวเลขเพิ่มขึ้นมา ปีละกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท อันจะเกิดผลกระทบ ด้านดีต่อคนพิการ ซึ่งถือได้ว่ากองทุนส่งเสริมฯ ปรับตัวเป็นอย่างดี สำหรับประเด็นข้อห่วงใยของ พก. ในส่วนของเงินขาเข้าที่เป็นรายได้หลักของกองทุนส่งเสริมฯ จากเงินที่นายจ้างไม่จ้างคนพิการที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากนายจ้างมีการจ้างงานคนพิการมากขึ้นนั้น กระทรวงการคลังถือว่าเป็นเรื่องดีที่นายจ้างหันมาให้ความสำคัญการจ้างงานคนพิการ อันจะส่งผลดีอย่างมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งสืบเนื่องจากการจ้างงานคนพิการที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดบริการและระบบต่างๆ ที่จะออกมารองรับคนพิการที่เข้ามาในระบบการจ้างงาน และจะทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศไทยปรับเพิ่มสูงขึ้น

          สำหรับการดำเนินงานของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นกลไกสำคัญ ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาการเบิกเงินอุดหนุนไม่ครบ ๑๒ เดือน ถือเป็นปัญหาขั้นตอนปฏิบัติที่เป็นความคุ้นชินของผู้ปฏิบัติ จึงควรกำหนดขั้นตอนระยะเวลาแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน รวมทั้งปรับระยะเวลาให้เร็วขึ้นเพื่อให้เบิกจ่ายเงินอุดหนุน ให้ครบ ๑๒ เดือน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของกองทุนส่งเสริมฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

          ประเด็นภาพรวมของกองทุนส่งเสริมฯ : กองทุนส่งเสริมฯ มีความพยายาม ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานแล้วในขณะที่เงินขาเข้าลดลงและเงินขาออกเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังมี คนพิการอีกจำนวนมากรอเข้าถึงประโยชน์จากกองทุนส่งเสริมฯ กรมบัญชีกลางควรพิจารณาทบทวนยกเลิกคำสั่งขอให้กองทุนส่งเสริมฯ นำส่งเงินเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนพิการ ทั้งนี้ เมื่อมีการจ้างงานคนพิการมากขึ้น เศรษฐกิจมหภาคจะได้รับประโยชน์ เกิดการวิจัยและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และเกิดการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจต้องมีการเพิ่มสัดส่วนการจ้างงานคนพิการจากร้อยละ ๑ เป็นร้อยละ ๒-๓ เพื่อให้เกิดความสมดุลของเงินเข้าออกของกองทุนส่งเสริมฯ ดังนั้น เมื่อมีการจ้างงานคนพิการมากขึ้น ย่อมส่งผลให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ดี คนออกมาทำงานมากขึ้น คนใช้สวัสดิการน้อยลง เกิดความปลอดภัยมากขึ้นทั้งในระบบการทำงานและด้านท่องเที่ยว ส่งผลผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อคนพิการแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติด้วย

          ประเด็นมาตรการทวงหนี้และการดำเนินคดีกับบุคคลที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการปรับปรุงประสิทธิภาพของกองทุนส่งเสริมฯ ทั้งนี้ การดำเนินคดีกับลูกหนี้กองทุนส่งเสริมฯ ควรดำเนินการตามหลักนิติธรรม และกรณีลูกหนี้ที่เป็นคนพิการควรมีความระมัดระวังให้รอบคอบ สำหรับคนพิการที่นำเงินไปใช้สุจริต แต่นำเงินไปลงทุนแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็ควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม แต่คนพิการที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ ว่านำเงินจากกองทุนส่งเสริมไปใช้โดยไม่สุจริต ไม่ถูกต้องจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

           -ลูกหนี้ของกองทุนส่งเสริมฯ ประกอบด้วย ๒ กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ คนพิการที่กู้ยืมเงินกองทุนแล้วไม่ชำระคืน และกลุ่มที่สอง คือ สถานประกอบการที่ไม่นำส่งเงิน เข้ากองทุน กรณีไม่จ้างคนพิการหรือไม่ส่งเสริมอาชีพสำหรับคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด และองค์กรคนพิการหรือหน่วยงานที่รับเงินสนับสนุนจากกองทุนแล้วไม่ดำเนินการตามโครงการหรือระเบียบของกองทุนฯ และไม่ส่งเงินคืนกองทุน ซึ่ง พก. ดำเนินการคดีทั้งหมด อาทิ กรณีสถานประกอบการ ในกรุงเทพมหานคร มีการฟ้องร้องดำเนินการคดีไปแล้วกว่า ๘๐ คดี ชนะคดี ๖๐ คดี ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล อย่างไรก็ตาม พก.ดำเนินงานเรื่องนี้อย่างเต็มที่ตามกฎหมายกำหนด ภายใต้หลักการประนีประนอมพอสมควร ซึ่งก่อนส่งฟ้องคดีต่อศาล จะมีการไกล่เกลี่ยทั้งโดยหนังสือและวาจา การฟ้องร้องคดีต่อศาลที่ผ่านมา เกินกว่าครึ่งชนะคดีโดยการประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามการยอมความนั้น เช่น การขอผ่อนชำระภายใต้ข้อตกลงเงินต้นไม่ลด ดอกเบี้ยไม่ลด เป็นต้น กรณีลูกหนี้คนพิการที่ไม่จ่ายเงินคืนกองทุนในปีนี้ฟ้องไปแล้ว ๘ ราย ชนะคดี ๔ ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา ๔ ราย และกรณีองค์กรที่รับเงินไปแล้วไม่ดำเนินโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินคดี จำนวน ๕ ราย ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สถานประกอบการต่างๆ ทราบว่ากองทุนดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้การหลีกเลี่ยงนำส่งเงินเข้ากองทุนลดลง และหันมาจ้างงานคนพิการหรือส่งเสริมอาชีพให้กับคนพิการเพิ่มมากขึ้น

          ประเด็นการกำหนดให้กองทุนส่งเสริมฯ : ไม่ต้องอยู่ ภายใต้บังคับพระราชกฤษฎีกา การกำหนดจำนวนเงินสะสมสูงสุดและการนำทุน หรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินเช่นเดียวกับ ๔ กองทุน ได้แก่ กองทุนการออม แห่งชาติ กองทุนเงินทดแทน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และ กองทุนประกันสังคมซึ่งกรณีกองทุนประกันสังคม ถือเป็นเงินที่ผู้ใช้แรงงานจ่ายสมทบเข้ากองทุน ที่มีเหตุผลเช่นเดียวกับเงินกองทุนส่งเสริมฯ เป็นเงินค่าจ้างคนพิการจากที่นายจ้างไม่ยอมจ้างงานคนพิการ จึงต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้กองทุนนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนพิการ แม้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นเงินของคนพิการ แต่ในทางปฏิบัติและสาระสำคัญของเงินดังกล่าว ถือเป็นเงินค่าจ้างคนพิการ

          นอกจากนี้ ตามที่สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย มีหนังสือ ถึงอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อขอให้กรมส่งเสริมช่วยสนับสนุนไม่ให้กองทุนส่งเสริมฯ อยู่ภายใต้บังคับพระราชกฤษฎีกาการกำหนดจำนวนเงินสะสมสูงสุด และการนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็น รายได้แผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยมีเหตุผล ๓ ประการ คือ (๑) กองทุนส่งเสริมฯ มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เพื่อนำเงินไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในหลายมิติ (๒) ที่มาของเงินกองทุนส่งเสริมฯ ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากงบประมาณแผ่นดิน ส่วนใหญ่มาจากนายจ้าง รวมทั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ได้มีการออกสลากและคนพิการก็นำสลาก ไปขาย เงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายสลากก็นำเข้าสู่กองทุน เป็นจำนวน ๘๘๐ ล้านบาท ซึ่งถือว่าคนพิการมีส่วนในการหารายได้ เข้ากองทุน และ (๓) เงินกองทุนส่งเสริมฯ มีแนวโน้มรายได้ ลดน้อยลง ในขณะที่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ถือเป็นเหตุผลเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังใช้ประกอบการพิจารณากำหนดให้กองทุนส่งเสริมฯ ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว อันจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนพิการ เนื่องจากมีคนพิการจำนวนมากยังเข้าคิวรอที่จะรับประโยชน์จากกองทุนอีกมากมาย

          ทั้งนี้ องค์กรที่เกี่ยวข้องควรมีหนังสือให้คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนได้พิจารณาว่าเงินค่าจ้างคนพิการที่นายจ้างจำต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมฯ นั้นให้ถือเสมือนว่า เป็นเงินที่คนพิการจ่ายให้กองทุนได้หรือไม่ ควรพิจารณาตีความให้ชัดเจน เนื่องจากเงินดังกล่าวไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดิน เป็นเงินที่นายจ้างไม่จ้างงานคนพิการและต้องจ่ายเข้ากองทุนตามกฎหมาย เพื่อกำหนดให้กองทุนส่งเสริมฯ ที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 7 กรกฎาคม 2561
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก